การปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพเรือฟิลิปปินส์เพิ่มความแข็งแกร่งด้วยการสนับสนุนจากเกาหลีใต้
ฟีลิกซ์ คิม
แผนการที่มีมาช้านานของฟิลิปปินส์ในการปรับปรุงความทันสมัยกองทัพเรือกำลังใกล้บรรลุผล โดยอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ได้จัดหาเรือรบ 6 ลำให้แก่กองทัพเรือฟิลิปปินส์ ซึ่งได้แก่ เรือฟริเกตใหม่ 2 ลำและเรือลาดตระเวน 4 ลำ ซึ่ง 2 ในนั้นอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถปกป้องดินแดนทางทะเลจากการรุกรานของกองทัพสาธารณรัฐประชาชนจีนได้
“เราพัฒนามาไกลมากแล้ว และด้วยการจัดหาเพิ่มเติมนี้ เราใกล้บรรลุกองเรือที่มีความสามารถมากขึ้นแล้ว” นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งชาติของฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากที่รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งซื้อเรือลาดตระเวน 2 ลำจากบริษัท ฮุนไดเฮฟวีอินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือของเกาหลีใต้ในช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564
นายลอเรนซานากล่าวว่า การจัดหามูลค่า 554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท) จะทำให้กองทัพเรือฟิลิปปินส์มีขีดความสามารถในการต่อต้านเรือ ต่อต้านเรือดำน้ำ และต่อต้านอากาศยาน ด้วยความเร็วสูงสุด 25 นอตและพิสัยทำการ 4,500 ไมล์ทะเล (8,300 กิโลเมตร) เรือลาดตระเวนที่มีความยาว 116 เมตรแต่ละลำจะติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือ 8 เครื่อง ระบบอาวุธระยะประชิด 35 มม. ปืนใหญ่หลัก 76 มม. และเครื่องยิงตอร์ปิโดสามท่อ 2 เครื่อง ตามข้อมูลของฮุนไดเฮฟวีอินดัสทรีส์ เรือดังกล่าวซึ่งจะติดตั้งระบบอาเรย์เรดาร์ที่สแกนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่อง โดยจะส่งมอบภายใน พ.ศ. 2566
เกาหลีใต้บริจาค บีอาร์พี คอนราโด แยป เรือลาดตระเวนชั้นโพฮัง ซึ่งกองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีใช้งานก่อนหน้านี้ ให้แก่กองทัพเรือฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2558 ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในสหรัฐอเมริกา เรือลาดตระเวนชั้นโพฮังที่ใช้งานแล้วอีก 1 ลำมีกำหนดจะมาถึงฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2565
เรือฟริเกตติดขีปนาวุธนำวิถี 2 ลำที่สร้างโดยฮุนไดเฮฟวีอินดัสทรีส์ สำหรับกองทัพเรือฟิลิปปินส์ เข้าประจำการใน พ.ศ. 2563 และ 2564 ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศ เรือฟริเกตชั้นโฮเซ รีซัล ติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธพิเศษ และสามารถรองรับระบบยิงขีปนาวุธแนวตั้งแบบ 8 เซลล์ที่ได้รับการยกระดับสำหรับขีปนาวุธต่อต้านเรือ
เรือฟริเกตอเนกประสงค์หลายลำดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ นายโจชัว เอสเปนา นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม ระบุในรายงานประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 สำหรับสมาคมนโยบายเอเชียและแปซิฟิกของออสเตรเลีย การจัดหาที่สำคัญอื่น ๆ สำหรับฟิลิปปินส์ ได้แก่ เรือลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก เรือโจมตีอเนกประสงค์ และเรือลาดตระเวนนอกชายฝั่ง นอกจากนี้ กองทัพเรือฟิลิปปินส์ยังได้เพิ่มกำลังยิงใน พ.ศ. 2563 เมื่อมีการติดตั้งระบบขีปนาวุธพิสัยขยายจากพื้นดินถึงพื้นดิน ราฟาเอล สไปค์-อีอาร์ ที่ผลิตโดยอิสราเอลในเรือโจมตีอเนกประสงค์ของกองทัพจำนวน 12 ลำ
นายเอสเปนาระบุในรายงานว่า ความพยายามของรัฐบาลฟิลิปปินส์บางส่วนได้รับการขับเคลื่อนโดยกิจกรรมที่ไม่ได้รับอนุญาตของจีนในน่านน้ำฟิลิปปินส์ รวมถึงความขัดแย้งบริเวณชายฝั่งทะเลสการ์โบโรห์ใน พ.ศ. 2555 ซึ่งเรือเฝ้าระวังของจีนขัดขวางไม่ให้กองทัพเรือฟิลิปปินส์กักกันเรือจีนที่ดำเนินการประมงอย่างผิดกฎหมายภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์
นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เรือลากอวนสัญชาติจีนกว่า 200 ลำที่ดำเนินการโดยกองกำลังพลเรือนติดอาวุธทางทะเลของจีน จอดทอดสมออย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำฟิลิปปินส์ ตามรายงานของบีบีซี การดำเนินการดังกล่าวละเมิดคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศเมื่อพ.ศ. 2559 ซึ่งปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนต่อน่านน้ำเหล่านั้น
“กองทัพเรือฟิลิปปินส์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นกองทัพเรือที่มีการบูรณาการและเตรียมพร้อมสำหรับสงครามหลายมิติ” จะช่วยสร้างอำนาจแห่งชาติเหนือเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศและ “มีส่วนช่วยในการรักษาความสงบเรียบร้อยในภูมิภาคตามกฎระเบียบ” นายเอสปานา ระบุ
ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ภาพจาก: กองทัพเรือฟิลิปปินส์