ติดอันดับ

การรบกวนและการสวมรอยของจีนเป็นอันตรายต่อการขนส่งและคุกคามการเดินอากาศของพลเรือน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

มีบันทึกว่ามีการใช้สงครามอิเล็กทรอนิกส์ในสมรภูมิรบมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่การใช้การรบกวนและการสวมรอยสัญญาณอย่างแพร่หลายของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นได้แผ่ขยายออกนอกอาณาเขตและเข้าสู่พื้นที่พิพาท ซึ่งคุกคามความปลอดภัยของการเดินอากาศทางทหาร พาณิชย์ และพลเรือน รวมถึงเป็นอันตรายต่อการขนส่งทางทหารและพาณิชย์

“ความน่าเชื่อถือของระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากการแทรกแซงสัญญาณตามธรรมชาติ การรบกวนโดยเจตนา ‘การสวมรอย’ หรือการดักรับ” ตามรายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ในนิตยสารเดอะมาริไทม์ เอ็กเซ็กคิวทีฟ “งานวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2562 ได้เน้นย้ำถึงระดับของภัยคุกคามดังกล่าว โดยแสดงให้เห็นว่ามีเรือหลายพันลำได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือเซี่ยงไฮ้ที่คับคั่ง”

ข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนพิกัดระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลกของเรือกว่า 300 ลำไปเป็นพิกัดปลอมภายในวันเดียว ตามรายงานของเดอะมาริไทม์ เอ็กเซ็กคิวทีฟ เดอะมาริไทม์ เอ็กเซ็กคิวทีฟรายงานว่า อุปกรณ์จีพีเอส เครื่องรับ-ส่งสัญญาณของระบบแสดงตนอัตโนมัติ และสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินของเรือขนสินค้าลำหนึ่งได้รับผลกระทบทั้งหมด “และตำแหน่งและความเร็วที่ถูกต้องของเรือลำดังกล่าวได้ถูกปลอมแปลงขึ้นโดยไม่มีการเตือนให้ผู้ใช้รู้ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาข้อมูลตำแหน่ง การนำทาง และเวลาโดยไม่มีการป้องกันความเที่ยงตรงของข้อมูลอย่างเพียงพออาจก่อให้เกิดความผิดพลาดเพียงจุดเดียวที่จะลามไปสู่อุปกรณ์ช่วยเหลือการเดินเรือทางทะเลทั้งหมด”

การสวมรอยจีพีเอสได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นอันตรายมากกว่าการรบกวนจีพีเอส หากมีการรบกวนเกิดขึ้น ในบางครั้งสัญญาณจะเตือนให้นักเดินเรือทราบถึงปัญหา แต่การสวมรอยนั้นมาในลักษณะที่แอบแฝงมากกว่าและไม่มีการแสดงเบาะแสให้รู้ว่ามีการเลียนแบบสัญญาณจีพีเอสและกำลังแสดงข้อมูลตำแหน่งที่ผิด ตามรายงานของนิตยสารไอเอฟอาร์ ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์สำหรับนักบินที่ประสบความสำเร็จ

ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะหาต้นตอที่แน่ชัดของเหตุการณ์การสวมรอยในเซี่ยงไฮ้ แต่นักวิเคราะห์ได้ตั้งทฤษฎีขึ้นโดยอ้างอิงจากสถานที่และรูปแบบของเหตุการณ์ “เรือเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อของการทดสอบระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน หรือได้รับลูกหลงจากความขัดแย้งระหว่างอาชญากรสิ่งแวดล้อมและรัฐจีนซึ่งสร้างความเสียหายแก่เรือและผู้คนมาแล้วหลายสิบกรณี” ตามรายงานของนิตยสารเอ็มไอที เทคโนโลยี รีวิว เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 “แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ มีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่มองไม่เห็นเกี่ยวกับอนาคตของการเดินเรือในเซี่ยงไฮ้ และจีพีเอสก็เป็นฝ่ายแพ้”

ยิ่งทวีความเสี่ยงขึ้นไปอีก เมื่ออุปกรณ์ส่งสัญญาณรบกวนจีพีเอสและตำแหน่ง การนำทาง และเวลา มีราคาถูก ขนาดเล็ก และหาได้ง่าย ซึ่งทำให้อาชญากรหรือแม้แต่รัฐบาลทั่วโลกนำไปใช้งานได้ง่าย “แม้ว่าจีพีเอสจะมีความสำคัญ แต่จุดอ่อนของสัญญาณจีพีเอสก็คือการเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง” ตามรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์โดยวารสารด้านความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีชื่อว่า “ระบบกำหนดตำแหน่งทั่วโลกและการรบกวนทางการทหาร: ภูมิศาสตร์ของสงครามอิเล็กทรอนิกส์”

“ซึ่งจุดอ่อนนี้เปิดโอกาสให้อาชญากร ผู้ก่อการร้าย และตัวแสดงเป็นรัฐในการใช้อุปกรณ์รบกวนจีพีเอส อุปกรณ์ส่งสัญญาณรบกวนประเภทต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดการแทรกแซงในระดับที่แตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีการใช้อุปกรณ์ส่งสัญญาณรบกวนทางทหารที่มีประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายมากขึ้น”

จีนและรัสเซียใช้วิธีการสวมรอยอย่างแพร่หลายในการปกป้องเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ตามรายงานของศูนย์ศึกษากลาโหมขั้นสูง เช่น นักวิเคราะห์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าความชุกของ “วงการสวมรอย” ในประเทศจีนจะเกิดอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับคลังน้ำมัน ท่าเรือ และสำนักงานรัฐบาล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการมาเยือนของเจ้าหน้าที่รัฐที่สำคัญ ตามรายงานของเดอะมาริไทม์ เอ็กเซ็กคิวทีฟ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562

แม้ว่าหลายสื่อไม่เต็มใจที่จะรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 นิตยสารจีพีเอส เวิลด์ รายงานว่า “มีแนวโน้มว่าการหยุดชะงักในลักษณะดังกล่าวที่พบเห็นได้ในภูมิภาคทางทะเลของรัสเซียและจีนกำลังเกิดขึ้น ณ ที่อื่น ๆ ด้วย” “แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเรือหลายพันลำได้รับผลกระทบในลักษณะที่กัปตันและลูกเรือสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้การรบกวนจีพีเอสและสัญญาณในพื้นที่พิพาทอย่างทะเลจีนใต้ เช่น ข้อมูลที่ปรากฏเมื่อ พ.ศ. 2561 ได้แสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำเครื่องบินลงจอดและเคลื่อนย้ายอุปกรณ์การรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ ขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ และระบบขีปนาวุธต่อต้านเรือไปยังสิ่งปลูกสร้างแห่งใหม่บนเกาะเทียมของหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

เดอะดิโพลแมต นิตยสารข่าวออนไลน์ระบุว่า การกระทำเช่นนี้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับแถลงการณ์ของรัฐบาลจีน เช่น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 กระทรวงคมนาคมของจีนอ้างว่าประภาคารที่จีนกำลังก่อสร้างบนเกาะเทียมในแนวปะการังซูบีจะ “ช่วยให้จีนปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบและข้อผูกพันระหว่างประเทศได้ดีขึ้นในด้านการค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล การป้องกันและการกำจัดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล และความปลอดภัยในการเดินเรือ” อันที่จริง มีการเก็บภาพยานพาหนะทางสงครามอิเล็กทรอนิกส์ได้ในภาพถ่ายดาวเทียมของแนวปะการังซูบี (ภาพ)

ก่อนหน้านี้ ข่าวกรองอื่น ๆ ได้เปิดเผยถึงระบบส่งสัญญาณรบกวนที่ต้องสงสัยของจีนซึ่งมีเสาอากาศยื่นออกมาบนแนวปะการังมิสชีฟที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สร้างเกาะเทียมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล การใช้การรบกวนและการสวมรอยของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นเป็นอุปสรรคต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ในเมื่อมีความเป็นไปได้ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะใช้การรบกวน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เหล่ากองทัพจะต้องฝึกและทำความเข้าใจวิธีการทำงานของการรบกวนและการสวมรอยนั้น เช่น กองทัพสหรัฐฯ จะหยุดกิจกรรมการรบกวนจีพีเอสในบางครั้งที่นักบินส่วนบุคคลขอให้ “หยุดเสียงกริ่ง” เพื่อให้เดินอากาศได้อย่างปลอดภัย

จีพีเอสช่วยชีวิตด้วยการป้องกันอุบัติเหตุจากการคมนาคม ช่วยเหลือปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย และย่นระยะเวลาของการส่งมอบบริการฉุกเฉิน และยังช่วยเพิ่มผลผลิตผ่านการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำฟาร์ม การก่อสร้าง และการจัดส่งพัสดุ ด้วยแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องมาจากโควิด-19 ทำให้การขนส่งเชิงพาณิชย์และการขนส่งสินค้าพึ่งพาจีพีเอสมากขึ้นเพื่อหาเส้นทางที่ปลอดภัย

“การนำทางที่แม่นยำและเชื่อถือได้นั้นมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเส้นทางการขนส่งที่คับคั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้วยขนาดและปริมาณของเรือในทะเลที่เพิ่มขึ้น การขยายฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่จำเป็น พื้นที่ทางทะเลที่กำหนดไว้เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม และพื้นที่อุทิศไว้สำหรับการใช้งานของ ‘เศรษฐกิจสีน้ำเงิน’ เช่น การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ” ตามรายงานของเดอะมาริไทม์ เอ็กเซ็กคิวทีฟ “จากการที่การค้าทางทะเลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน พ.ศ. 2573 ข้อมูลตำแหน่ง การนำทาง และเวลาที่แม่นยำและเชื่อถือได้จะกลายเป็นข้อมูลที่สำคัญมากยิ่งขึ้นต่อความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และลดผลกระทบของกระแสการค้าต่อสิ่งแวดล้อม”

การใช้การรบกวนและการสวมรอยอย่างต่อเนื่องในจีนและรัสเซียได้กระตุ้นให้มีจดหมายประท้วงจาก 14 องค์กรทางทะเลถึงผู้บัญชาการกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ เพื่อขอให้เพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อการเดินเรือให้มากขึ้น นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวยังได้ออกคำเตือนมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

“หากไม่มีอะไรอื่น การสวมรอยจีพีเอสที่เกิดขึ้นในเซี่ยงไฮ้เป็นการเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการชักใยการเชื่อมต่อจีพีเอสคือภัยคุกคามอย่างแท้จริง” ตามรายงานของ TheDrive.com “และเป็นการเตือนว่ายุทธวิธีในการปฏิเสธและการสวมรอยจีพีเอสมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเพียงใด”

 

ภาพจาก: ดิจิทัลโกลบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button