ติดอันดับ

พันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับการประยุกต์ใช้ทางทหาร

โจเซฟ แฮมมอนด์

พันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังเดินหน้าสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรวมถึงปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงและต่อต้านความพยายามของจีนในการครอบครองอาณาจักรดิจิทัล

การเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มดังกล่าว เช่นเดียวกับการเจรจาข้อตกลงการค้าดิจิทัลไตรภาคี ซึ่งมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เข้าร่วม

สหรัฐฯ จะใช้งบประมาณเกือบ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) ในการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในช่วงห้าปีข้างหน้า “ในการแข่งขันเพื่อเอาชนะ” นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

ความคิดเห็นของนายออสตินเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่จะ “ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านโครงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์” จากนั้นในเดือนกันยายน กลุ่มที่รู้จักกันในชื่อควอด ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ตกลงที่จะจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานเกี่ยวกับการสื่อสารขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ “โดยมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมการพัฒนามาตรฐาน ตลอดจนการวิจัยก่อนการกำหนดมาตรฐานพื้นฐาน”

“ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย เป็นประเทศแรก ๆ ที่ออกมาในแง่ของการมีส่วนร่วมและบูรณาการในเรื่องนี้” นายอับราฮัม เดนมาร์ก รักษาการผู้อำนวยการของศูนย์ประวัติศาสตร์และนโยบายสาธารณะของมูลนิธิฮุนได มอเตอร์-เกาหลี กล่าวในงานที่จัดโดยศูนย์วิลสันในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งมีชื่อว่า “ปัญญาประดิษฐ์และพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก: ยกระดับความมั่นคงและกลาโหมร่วมกัน”

นายเดนมาร์กเน้นย้ำถึงภัยคุกคามที่เกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและ “ความสามารถในการทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมการทหารและกลาโหม และการผลักดันในลักษณะที่ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด แต่เกิดจากผลประโยชน์ของประเทศ” นายเดนมาร์กตั้งข้อสังเกตว่าความพยายามในการต่อต้านรัฐบาลจีนผ่านความร่วมมือระดับพหุภาคีอาจไม่ประสบความสำเร็จเนื่องด้วยอุปสรรคทางการเมืองและระบบราชการ

เพื่อสนับสนุนเรื่องดังกล่าว สหรัฐฯ จึงได้สนับสนุนโครงการริเริ่มสำหรับข้อตกลงการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาคเพื่อให้ได้มาซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างสหรัฐฯ และหุ้นส่วนในอินโดแปซิฟิกอย่างเสรี ตามรายงานของนิตยสารข่าวนิกเคอิเอเชีย ของญี่ปุ่น วัตถุประสงค์คือเพื่อสร้างกฎระเบียบของอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น การถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ตลอดจนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นการวางรากฐานสำหรับพื้นที่ดิจิทัลที่จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เนื่องจากนวัตกรรมสร้างข้อมูลและเนื้อหาที่จะแบ่งปันมากขึ้น

“ความสามารถในการพัฒนาและการใช้ข้อมูล อัลกอริทึม แอปพลิเคชัน ฮาร์ดแวร์ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนความสามารถในการกระจายข้อมูล เป็นปัญหาที่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพโดยความพยายามของแนวร่วมในภูมิภาคนี้” นายซาอีด ข่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเวย์นสเตท ในสหรัฐฯ กล่าวกับผู้ชมในวิลสันเซ็นเตอร์ “นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในส่วนที่สำคัญที่สุดของความซับซ้อนของปัญญาประดิษฐ์ กล่าวคือ ผู้มีความสามารถและผู้ที่อยู่เบื้องหลังปัญญาประดิษฐ์”

พันธมิตรสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิกยินดีที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ด้านกลาโหมมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคดังกล่าวกำลังดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน นายเดนมาร์กกล่าว วงจรรวมที่มีความจุสูงและล้ำสมัยที่สุดในโลกประมาณร้อยละ 90 ผลิตในเอเชียตะวันออก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่าพันธมิตรในอินโดแปซิฟิกไม่เพียงแต่จะเป็นผู้บริโภคที่สำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าวเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ผลักดันการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย

 

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button