ติดอันดับ

ผู้ที่แปรพักตร์จากรัฐบาลทหารให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรณรงค์บิดเบือนข้อมูลออนไลน์ในเมียนมาร์

รอยเตอร์

ขณะที่กองทัพเมียนมาร์พยายามที่จะยุติการประท้วงบนท้องถนน การต่อสู้คู่ขนานกำลังเกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยรัฐบาลทหารใช้บัญชีปลอมเพื่อประณามฝ่ายตรงข้ามและเผยแพร่ข้อความว่ารัฐบาลทหารดำเนินการยึดอำนาจเพื่อกอบกู้ประเทศจากการฉ้อโกงการเลือกตั้ง ประชาชนที่มีความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์นี้จำนวน 8 รายกล่าว

กองทัพเมียนมาร์ซึ่งถูกปิดกั้นโดย เฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้งานแพร่หลายในประเทศ หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้มอบหมายให้ทหารหลายพันนายดำเนินการตามสิ่งที่เรียกกันอย่างกว้างขวางในกองทัพว่าเป็น “การต่อสู้ด้านข้อมูล” ตามรายงานของประชาชนซึ่งได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวทางทหารสี่แหล่ง

ภารกิจของการขับเคลื่อนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อในวงกว้างขึ้นของกองทัพ คือการเผยแพร่มุมมองของรัฐบาลทหารไปสู่ประชากร ตลอดจนการเฝ้าระวังและโจมตีผู้คัดค้านทางออนไลน์ว่าเป็นผู้ทรยศ ประชาชนกล่าวกับรอยเตอร์

ร.อ. ยี ธุตะ ทหารผู้แปรพักตร์จากกองทัพเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังกบฏเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าวว่า “ทหารเมียนมาร์ถูกขอให้สร้างบัญชีปลอมขึ้นมาหลายบัญชีและจะได้รับเนื้อหาและประเด็นการพูดคุยที่พวกเขาต้องโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์” “นอกจากนี้ ทหารยังติดตามกิจกรรมออนไลน์และเข้าร่วมกลุ่มต่อต้านรัฐประหารทางออนไลน์เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ อีกด้วย”

ร.อ. ธุตะ วัย 31 ปี กล่าวว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพ โดยมีหน้าที่เขียนคำปราศรัยให้แก่นายมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จนกระทั่งแปรพักตร์จากรัฐบาลทหาร

โฆษกของรัฐบาลทหารไม่ตอบสนองต่อการขอซ้ำ ๆ ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธวิธีบนสื่อสังคมออนไลน์ของรัฐบาล ในเดือนกันยายน โฆษกรัฐบาลทหารจากสถานีโทรทัศน์เมียวดีทีวีของกองทัพกล่าวหากลุ่มสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านว่าเผยแพร่ “ข่าวปลอม” เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์

ประชาชนทั้ง 8 รายที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ต่างร้องขอให้ไม่มีการเปิดเผยตัวตนโดยอ้างถึงความกลัวจากการตอบโต้ ยกเว้น ร.อ. ยี ธุตะ และ ร.อ. หลิน เทด ออง ทหารผู้แปรพักตร์ออกจากกองทัพในเดือนเมษายน

กองทัพเมียนมาร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ตะมะดอ กำลังผลักดันการรณรงค์ทางออนไลน์ แม้ว่าการประท้วงบนท้องถนนจะเกิดขึ้นเป็นเวลาเก้าเดือนหลังจากที่รัฐบาลทหารปลดนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือน ออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีได้รับชัยชนะในการลงคะแนนเสียงเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 จากการฉ้อโกง ผู้เฝ้าระวังการเลือกตั้งระหว่างประเทศกล่าวในรายงานเดือนพฤษภาคมว่าการลงคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นไปอย่างยุติธรรม

จากการตรวจสอบของรอยเตอร์เกี่ยวกับโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์นับพันใน พ.ศ. 2564 พบว่า เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 200 นายใช้บัญชีส่วนบุคคลบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต็อก ทวิตเตอร์ และเทเลแกรม ในการโพสต์ข้อความหรือวิดีโอที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งและประณามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารว่าเป็นผู้ทรยศ

ในกว่า 100 กรณี ข้อความหรือวิดีโอถูกทำซ้ำในบัญชีเลียนแบบหลายสิบบัญชีภายในเวลาไม่กี่นาที เช่นเดียวกับในกลุ่มออนไลน์ ช่องทางที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ชื่นชอบดาราคนดังและนักกีฬาของเมียนมาร์ และแหล่งข่าวต่าง ๆ ตามข้อมูลที่ระบุในคราวด์แทงเกิล เครื่องมือติดตามออนไลน์ที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ

โพสต์ต่าง ๆ มักจะอ้างถึงบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลทหารว่าเป็น “ศัตรูของรัฐ” และ “ผู้ก่อการร้าย” และกล่าวหาว่าบุคคลดังกล่าวต้องการทำลายกองทัพ ประเทศ และศาสนาพุทธ

นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านจำนวนมากใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกัน สร้างบัญชีซ้ำกันเพื่อเติมเต็ม “ทีมทวิตเตอร์” ที่มีสมาชิกหลายแสนคน ตลอดจนสร้างกระแสแฮชแท็กต่อต้านรัฐบาลทหาร ตามที่ระบุในการตรวจสอบและแหล่งข่าวของนักเคลื่อนไหวสี่แหล่ง

แม้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะเป็นเรื่องปกติทั่วโลกแต่ก็อาจส่งอิทธิพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมียนมาร์ ตามที่นักวิจัย 4 สี่คนระบุว่าประชากรได้รับข้อมูลส่วนใหญ่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าแหล่งข่าวที่จัดตั้งขึ้นโดยตรง และประชากรกว่าครึ่งหนึ่งใช้เฟซบุ๊กเป็นประจำ

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button