ติดอันดับ

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศสนธิสัญญาทางยุทธศาสตร์กับออสเตรเลีย

รอยเตอร์

ออสเตรเลียและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เห็นพ้องกันเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ว่าจะจัดตั้ง “ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของรัฐบาลออสเตรเลียในการมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและความมั่นคงของออสเตรเลียในพื้นที่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลายเป็นสนามรบทางยุทธศาสตร์

วัตถุประสงค์ทางกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศในทันที แต่นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ให้คำมั่นว่าประเทศของเขาจะ “เพิ่มเนื้อหาสำคัญในวัตถุประสงค์” (ภาพ: นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (กลาง) กล่าวปราศรัยระหว่างการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564)

“เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่มีต่อบทบาทสำคัญของอาเซียนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและวางตำแหน่งความร่วมมือของเราในอนาคต” นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์ร่วม “ออสเตรเลียสนับสนุนภูมิภาคที่สงบสุข มั่นคง ยืดหยุ่น และเจริญรุ่งเรือง โดยมีอาเซียนเป็นหัวใจหลัก”

บรูไน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าว “เป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์” และจะ “มีความหมาย มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์ร่วมกัน”

หลังจากการประกาศดังกล่าว ออสเตรเลียกล่าวว่าจะลงทุนประมาณ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 พันล้านบาท) ในโครงการต่าง ๆ ทางด้านความมั่นคงด้านสุขภาพและพลังงาน การต่อต้านการก่อการร้ายและการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนทุนการศึกษาหลายร้อยทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ออสเตรเลียมีพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระดับทวิภาคีในหลายระดับกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นายมอร์ริสันพยายามสร้างความมั่นใจให้แก่อาเซียนว่าออสเตรเลียจะไม่คุกคามภูมิภาคนี้ แม้ว่าสนธิสัญญาไตรภาคีด้านความมั่นคงที่ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเห็นพ้องกันเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 จะทำให้ออสเตรเลียสามารถเข้าถึงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้ก็ตาม

สนธิสัญญาฉบับใหม่ที่รู้จักกันในนาม อูกัส ได้สร้างความกังวลบางประการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจมองว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อท้าทายอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้

พันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกรวมถึงสหรัฐฯ ได้เพิ่มการลาดตระเวน เนื่องจากรัฐบาลจีนได้ส่งกองเรือเดินทะเลเพื่อสนับสนุนการอ้างสิทธิ์อธิปไตยของตนเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ โดยศาลระหว่างประเทศปฏิเสธว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลเหล่านั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“อูกัสเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่สนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค” นายมอร์ริสันกล่าว

ในการประชุมกับผู้นำอาเซียนก่อนหน้านี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เน้นย้ำถึงการคัดค้านอย่างรุนแรงของประเทศของตนต่อความท้าทายด้านความสงบเรียบร้อยทางทะเลที่เสรีและเปิดกว้าง โดยเน้นย้ำถึงความกังวลในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับอิทธิพลทางการทหารที่เพิ่มขึ้นของจีน

นอกจากนี้ นายคิชิดะยังกล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและซินเจียงที่ปกครองโดยจีน ตลอดจนความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในน่านน้ำระหว่างจีนและไต้หวัน

 

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button