ติดอันดับ

อินโดนีเซียเน้นย้ำความเข้มแข็งทางทะเล ท่ามกลางการบุกของจีนเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เรือรบอินโดนีเซียหลายสิบลำและเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรืออินโดนีเซียหลายพันคนในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้จำลองการสู้รบที่กองทัพเรือป้องกันการโจมตีจากทางอากาศและทางน้ำเพื่อปลดปล่อยเกาะที่ข้าศึกยึดไว้

การฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก พ.ศ. 2564 ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อลาท็อปส์ฟิบ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับการบุกรุกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

การฝึกซ้อมดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 25 ตุลาคมใกล้กับหมู่เกาะรีเยา แสดงให้เห็นถึงระบบอาวุธของกองเรือแบบบูรณาการของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเรือรบอากาศยาน นาวิกโยธิน และฐานทัพ พล.ร.อ. ยูโด มาร์โกโน ผู้บัญชาการกองทัพเรืออินโดนีเซีย ตามรายงานของเว็บไซต์ของรัฐบาล

“การฝึกครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความเป็นมืออาชีพของทหารของกองทัพเรือและความพร้อมในการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับผลการฝึกอบรมและการบูรณาการองค์ประกอบของระบบอาวุธของกองเรือแบบบูรณาการ” พล.ร.อ. ยูโดกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะราชวาลีไทมส์

การฝึกครั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงปณิธานของอินโดนีเซียในการปกป้องน่านน้ำที่เป็นอาณาเขตของอินโดนีเซียเอง “ด้วยการสร้างความรู้สึกมั่นคงนี้ ชุมชนผู้ใช้ทางทะเลมีความสงบและสะดวกสบาย และสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อขีดความสามารถของกองทัพอินโดนีเซียได้” พล.ร.อ. ยูโดกล่าว (ภาพ: นาวิกโยธินอินโดนีเซียเข้าร่วมการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกในหมู่เกาะรีเยา)

ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกเกิดขึ้นหลังจากที่เรือสำรวจของจีนใช้เวลาเจ็ดสัปดาห์ในทะเลนาทูนาเหนือเพื่อเร่งรัดทำแผนที่ทางทะเลภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวเอเชียไทมส์ รายงานยังระบุว่า เรือไห่หยางตี้จื้อ 10 น้ำหนัก 6,900 เมตริกตัน และกองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนออกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งคือสี่วันก่อนเริ่มการประชุมสุดยอดสามวันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จีนโต้แย้งว่าตนมีอำนาจอธิปไตยในพื้นที่โดยใช้เส้นประเก้าเส้นที่กำหนดไว้อย่างคลุมเครือและถูกปฏิเสธอย่างกว้างขวาง รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้ประท้วงการบุกรุกอย่างเป็นทางการ แต่ถึงอย่างนั้นเรือของจีนก็ได้รับการตรวจสอบโดยเรือลาดตระเวนของกองทัพเรืออินโดนีเซียและสำนักงานความมั่นคงทางทะเลมากถึงเก้าลำ ตามรายงานของเอเชียไทมส์

“ผมคิดว่าอินโดนีเซียกำลังสงวนท่าทีและไม่พยายามทำอะไรที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น” นายมัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์แห่งสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย กล่าวในเว็บไซต์ “หากข้อสันนิษฐานคือจีนจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ อินโดนีเซียก็คงต้องเผชิญกับความน่าตกใจอย่างมาก”

นักวิเคราะห์ของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลียอีกคนหนึ่งกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ผู้นำอินโดนีเซียหลายคนเชื่อว่าตนสามารถรับมือกับพฤติกรรมก้าวร้าวและการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของจีนได้ผ่านการเจรจา ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานมาก

ในขณะเดียวกัน “จีนได้ปรับปรุงขีดความสามารถทางทหารให้ทันสมัยขึ้น อ้างสิทธิ์เกาะในทะเลจีนใต้ และเพิ่มความทะเยอทะยานมากขึ้นเรื่อย ๆ” นายฮวง เลอ ตู นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย กล่าว “ผมไม่คิดว่าเราจะมีเวลามากพอเหมือนอย่างที่คนของรัฐบาลอินโดนีเซียหลายคนคิด”

ภาพจาก: กองทัพเรืออินโดนีเซีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button