ติดอันดับ

ตำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันปราบปรามยาเสพติด

ทอม แอบกี

การประสานงานด้านการรวบรวมข่าวกรองและการบังคับใช้กฎหมายช่วยวางรากฐานสำหรับการจับกุมยาเสพติดขนาดใหญ่ในพื้นที่ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันในชื่อสามเหลี่ยมทองคำ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การจับกุมและการยึดทรัพย์ครั้งนี้ยังรวมไปถึงการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกอีกด้วย

ตำรวจในแขวงบ่อแก้วของลาวได้ทำการหยุดรถบรรทุกที่บรรทุกสิ่งของซึ่งดูเหมือนภาชนะบรรจุเบียร์ไว้ได้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตาม ภายในลังได้มีการบรรจุสินค้าที่เป็นสารกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ เมทแอมเฟตามีนกว่า 55 ล้านเม็ด และยาไอซ์อีกกว่า 1.7 ตัน หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า การลักลอบลำเลียงยาเสพติดครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.5 พันล้านบาท)

สามเหลี่ยมทองคำที่ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างประเทศลาว เมียนมา และไทยนั้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดจำหน่ายยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย

รายงานของปี พ.ศ. 2563 จากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติได้เตือนตำรวจในภูมิภาคนี้เกี่ยวกับการคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตเมทแอมเฟตามีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ยาเสพติดจากทั้งสามประเทศ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ยาเสพติดจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พบปะกันผ่านทางออนไลน์เพื่อหารือเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด โดยเจ้าหน้าที่ทั้งหมดตกลงที่จะ “เพิ่มความคล่องตัวในการประสานงานเชิงกลยุทธ์” ระหว่างสำนักงานแต่ละแห่ง

อาเซียนนาโพลเป็นสมาคมของกองกำลังตำรวจแห่งชาติที่เป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ภายหลังจากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ อาเซียนนาโพลได้รายงานสถิติการจับกุมยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนหลายชนิดทั้งภายในและโดยรอบสามเหลี่ยมทองคำ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งได้นำไปสู่การจับกุมรถบรรทุกเบียร์

ซึ่งการจับกุมเหล่านี้รวมไปถึง การยึดเมทแอมเฟตามีนมูลค่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 56 ล้านบาท) ในเมียนมาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 การเข้ายึดทรัพย์ในมาเลเซียช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 34 ล้านบาท) และ 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 29 ล้านบาท) ตามลำดับ การจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นหัวหน้าองค์กรค้ายา 5 แห่งในมาเลเซียช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และการการยึดเมทแอมเฟตามีนและยาอื่น ๆ อีกกว่า 1 ตันในเมียนมามูลค่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 295 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (ภาพ: ตำรวจไทยแสดงผลงานการยึดยาเสพติดมูลค่า 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 พันล้านบาท) จากการจับกุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560)

สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกในกรุงเทพฯ ประเทศไทยรายงานว่า สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติได้ร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่น “เพื่อระบุและแก้ไขปัญหาการค้ายาเสพติดและสารตั้งต้นข้ามชาติ” โดยสำนักงานได้ช่วยเหลือในการรวบรวมข่าวกรอง การสืบสวน การจัดเตรียมคดี และการดำเนินคดีพร้อมกับการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือข้ามพรมแดน

นอกเหนือจากการยึดยาเสพติดที่บรรจุเสร็จพร้อมจำหน่ายแล้ว ตำรวจในลาวยังยึดสารประกอบที่ใช้ในการผลิตเมทแอมเฟตามีนและสารที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ อีกประมาณ 200 ตัน ซึ่งจะส่งไปยังโรงงานผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำ ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยภายในที่ซ่อนประกอบไปด้วยโพรพิโอนิลคลอไรด์กว่า 72 ตันที่ผลิตในสาธารณรัฐประชาชนจีน

การผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ เช่น เมทแอมเฟตามีน ทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงอย่างถ้วนทั่ว” ต่อตลาดยาเสพติดผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติได้ระบุเพิ่มเติมว่า “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ จำนวนครั้งในการยึดยาเสพติดของเรานั้นมากจนไม่อาจนับได้เลย”

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button