ติดอันดับ

คำกล่าวอ้างของจีนเกี่ยวกับความคืบหน้าในทิเบตปิดบังการปราบปราม 70 ปี: ตามรายงาน

เรดิโอฟรีเอเชีย

รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตในดินเดียระบุในรายงานฉบับใหม่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างว่า 70 ปีแห่งการปกครองของรัฐบาลจีนช่วยให้ชีวิตของชาวทิเบตดีขึ้น อีกทั้งอ้างว่าทิเบตเป็นของจีนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการบิดเบือนความจริงและเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 หนึ่งวันก่อนวันชาติของจีน ฝ่ายบริหารกลางทิเบตได้หักล้างคำกล่าวอ้างของจีนในสมุดปกขาวว่า “ทิเบตตั้งแต่ พ.ศ. 2491: การปลดปล่อย การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรือง” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564

“นี่ไม่ใช่ 70 ปีแห่งการปลดปล่อย แต่แท้จริงแล้วคือ 70 ปีแห่งการปราบปรามและกดขี่” นายเพนพา เซอริง ประธานาธิบดีทิเบตผู้พลัดถิ่นกล่าวในการเปิดรายงานของฝ่ายบริหารกลางทิเบต “ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ดำเนินการปราบปรามชาวทิเบตภายในทิเบตอย่างต่อเนื่องในนามของการพัฒนาและวิวัฒนาการโครงสร้างพื้นฐาน”

รัฐบาลจีนยังคงไว้ซึ่งการปกครองในทิเบต โดยจัดตั้ง “ระบอบเผด็จการที่ใช้กำลังและปลูกฝังความกลัวในหมู่ประชาชน” ฝ่ายบริหารกลางทิเบตระบุในรายงานหัวข้อ “ทิเบต: 70 ปีแห่งการยึดครองและการกดขี่” (ภาพ: พระภิกษุสงฆ์ชาวทิเบตผู้พลัดถิ่นถือพระบรมรูปขององค์ดาไลลามะ ซึ่งถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบตในระหว่างการประท้วงเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เพื่อแสดงความต่อต้านในวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน)

“ปัจจุบัน การปราบปรามชาวทิเบตยังดำเนินไปด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เพิ่มการรักษาความปลอดภัย การตรวจตราที่เข้มงวดขึ้น และการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการควบรวมทิเบตกับจีน” ตามรายงานของรัฐบาลพลัดถิ่น

การปกครองของจีนในทิเบต “มีลักษณะพื้นฐานทั้งหมดของลัทธิล่าอาณานิคม” ฝ่ายบริหารกลางทิเบตระบุ “จีนอาศัยการบรรยายเกี่ยวกับความเหนือกว่าและคุณธรรมของวัฒนธรรมและอุดมการณ์จีน ตลอดจน ‘ความล้าหลัง’ ของชาวทิเบต ‘อื่น ๆ’ เช่นเดียวกับระบอบอาณานิคมต่าง ๆ”

คำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีนว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอดมาจากความสัมพันธ์ระหว่างองค์ดาไลลามะ ผู้นำทางประเทศและทางจิตวิญญาณของทิเบต และผู้ปกครองแห่งจักรวรรดิมองโกลและแมนจูที่เคยพิชิตจีนมาก่อนหน้านี้หลายศตวรรษ ตามรายงานดังกล่าว

“ในทางตรงกันข้ามกับการกล่าวอ้างของจีน ทิเบตไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีนในอดีต แต่ถูกยึดโดยกองกำลังในขณะที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนบุกยึดครองทิเบตตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ถึง พ.ศ. 2494 ฝ่ายบริหารกลางทิเบตระบุว่า คำอ้างว่าที่ว่าทิเบตได้รับการ ‘ปลดปล่อย’ เป็นส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าที่มุ่งเน้นการสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่เคยเป็นและยังคงเป็นการยึดครองทิเบตอย่างผิดกฎหมาย”

รัฐบาลจีนกล่าวอ้างในสมุดปกขาวว่า “ประชาชนในทิเบตมีสิทธิในการเป็นเจ้าของประเทศและภูมิภาคตามกฎหมาย” และภายใต้การปกครองของจีนนั้น ทิเบตต่างมีความสุขกับ “การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืนด้วยความสามัคคีและเสถียรภาพทางสังคม”

อย่างไรก็ตาม จีนได้ปฏิเสธสิทธิและเสรีภาพของชาวทิเบตในการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์และความจำเป็นมาอย่างยาวนาน ตามรายงานของฝ่ายบริหารกลางทิเบต “นับตั้งแต่การยึดครอง จีนได้ทำการปล้นสะดมในทิเบต ได้แก่ การตัดไม้ในทิเบต การทำเหมืองทรัพยากรแร่ธาตุของทิเบต ตลอดจนการสร้างเขื่อนและการผันกระแสน้ำในแม่น้ำของทิเบต”

รัฐบาลพลัดถิ่นระบุว่า ชาวทิเบตจำเป็นต้องแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นประชากรส่วนน้อยที่มีความสุขกับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ความล้มเหลว “ในการแสดงความเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เพียงถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความอกตัญญูเท่านั้น แต่ยังเป็นอาชญากรรมทางการเมืองที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการบีบบังคับและการปรับทัศนคติ”

ในขณะเดียวกัน คำกล่าวอ้างของรัฐบาลจีนว่ารัฐบาลจีนปกป้องและส่งเสริมการใช้ภาษาทิเบตนั้นขัดแย้งกับนโยบายการศึกษาที่กำหนดให้ใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอน โดยผู้สำเร็จการศึกษาที่ขาดทักษะภาษาจีนนั้นจะถูกด้อยค่าในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

“นโยบายด้านการศึกษาที่รัฐบาลจีนดำเนินการไม่เพียงแต่ลดระดับการใช้ภาษาทิเบตลงเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะลบล้างอัตลักษณ์ของทิเบตอีกด้วย” นายเซอริงกล่าว

รายงานของฝ่ายบริหารกลางทิเบตระบุว่า การยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าของจีนว่า จีนได้ “ปลดปล่อยทิเบตอย่างสันติ” จากการปกครองระบบศักดินาและการปกครองแบบล้าหลังนั้นขัดแย้งกับความรุนแรงในการพิชิตทิเบตและการยึดครองทิเบต

“ในความเป็นจริง การผงาดขึ้นของจีนไม่ได้เป็นไปอย่างสงบเลย แต่กลับกลายเป็นความรุนแรง ด้วยการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นในทิเบต เตอร์กิ​สถานตะวันออก มองโกเลียตอนใต้ และฮ่องกงในปัจจุบัน” ฝ่ายบริหารกลางทิเบตระบุ

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button