ติดอันดับ

การรุกรานของจีนก่อให้เกิดการอภิปรายและการดำเนินการระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ท่าทีของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รุกรานอย่างต่อเนื่องกลายเป็นหัวข้อการประชุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเมื่อไม่นานมานี้

แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึงจีนโดยตรงในระหว่างการประชุมเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ของผู้นำกลุ่มควอดที่ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แต่เจ้าหน้าที่ได้กล่าวคัดค้านการกระทำที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลจีน

“เรามีจุดยืนร่วมกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่เราต้องการให้ปราศจากการบีบบังคับและมีการเคารพสิทธิอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศ ตลอดจนมีการยุติข้อพิพาทโดยสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศ” นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวระหว่างการประชุม ซึ่งเป็นการส่งสารที่ชัดเจนไปถึงจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์

แถลงการณ์ร่วมของกลุ่มควอดหลังการประชุมยังแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกและความขัดแย้งในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับจีนในขณะที่กล่าวว่าสมาชิกมีความตั้งใจที่จะเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อรับรองสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคแห่งนี้

ในแถลงการณ์ระบุว่า “ต่อจากนี้ไปเราจะยังคงยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรากฏในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลเพื่อรับมือกับความท้าทายต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางทะเล รวมถึงในทะเลตะวันออกและทะเลจีนใต้” “เรายืนยันการสนับสนุนของเราต่อรัฐที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยเฉพาะรัฐในแปซิฟิก เพื่อยกระดับความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม”

จีนยังคงรุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค และยังคงปิดกั้นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้กับประเทศต่าง ๆ ที่รวมถึงบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นอกจากนี้ จีนยังคงเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของศาลระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ตัดสินให้การอ้างสิทธิ์ในน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้เป็นโมฆะ

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยแสดงความไม่พอใจต่อข้อพิพาทเขตแดนกับจีนที่เกี่ยวข้องกับหมู่เกาะเซ็งกากุ ซึ่งรู้จักกันในชื่อหมู่เกาะเตียวหยูในจีน นายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า หมู่เกาะดังกล่าวเป็นดินแดนของญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัยและจะได้รับการปกป้องเช่นเดิม ทางการญี่ปุ่นกล่าวว่าเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งของจีนได้รุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของญี่ปุ่นหรือภายในระยะ 12 ไมล์ทะเลจากอาณาเขตของญี่ปุ่น 88 ครั้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่าญี่ปุ่นกล่าวหาจีนว่าบุกรุกเพิ่มเติมอีก 851 ครั้งในเขตติดต่อกันซึ่งเป็นน่านน้ำระหว่างหมู่เกาะแต่ไม่ได้อยู่ในระยะ 12 ไมล์จากฝั่ง

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อรัฐบาลจีนหลังจากเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนเจ็ดลำปรากฏขึ้นพร้อมกันในน่านน้ำรอบเกาะที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีเรือสี่ลำที่มีอาวุธคล้ายปืนใหญ่ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์สตาร์แอนด์สไตรป์

“การดำเนินการของจีนต่อหมู่เกาะเซ็งกากุและบริเวณอื่น ๆ ในทะเลจีนตะวันออก เราต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นของเรากำลังปกป้องดินแดนของเราอย่างเด็ดขาดด้วยจำนวนเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่นที่มากกว่าเรือของจีน” นายคิชิกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า ญี่ปุ่นได้ขยายกองกำลังป้องกันตนเองเพิ่มเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 และเปลี่ยนเรือรบเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน นอกจากนี้ยังขยายกองเรือด้วยการต่อเรือพิฆาต เรือดำน้ำ และขีปนาวุธใหม่ ๆ

ในขณะเดียวกัน จีนยังคงรักษาข้อเรียกร้องของหมู่เกาะเตียวหยูและได้สร้างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ รวมถึงการอนุญาตให้กองเรือใช้กำลังร้ายแรงกับเรือต่างชาติที่ปฏิบัติการในน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ์

สนธิสัญญาป้องกันประเทศฉบับใหม่ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งรู้จักกันในนามอูกัส มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการรุกรานของจีนโดยตรง

“ในฐานะผู้นำของออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตามอุดมคติอันแน่วแน่ของเราและความมุ่งมั่นร่วมกันในระเบียบระหว่างประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือทางการทูต ความมั่นคง และการป้องกันประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกรวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อตอบสนองความท้าทายในศตวรรษที่ 21” ตามแถลงการณ์ร่วมของนายมอร์ริสัน นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ “ด้วยสนธิสัญญาอูกัส รัฐบาลของเราจะเสริมสร้างความสามารถของแต่ละประเทศในการสนับสนุนผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและการป้องกันของเรา โดยยึดมั่นในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยาวนานและต่อเนื่อง เราจะส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะส่งเสริมการบูรณาการที่ล้ำลึกของวิทยาการเกี่ยวกับความมั่นคงและการป้องกัน เทคโนโลยี ฐานอุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะกระชับความร่วมมืออย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับขีดความสามารถด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ”

(ภาพ: นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่วมกับนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ซ้าย) และนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร หารือเกี่ยวกับความคิดริเริ่มโครงการด้านความมั่นคงแห่งชาติซึ่งรู้จักกันในนามอูกัส ที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564)

“นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งสามชาติกำลังขีดเส้นตายเพื่อเริ่มต้นและตอบโต้การเคลื่อนไหวเชิงรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอินโดแปซิฟิก” นายกาย โบเคนสไตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีของออสเตรเลีย กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี “นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงท่าทีร่วมกันของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้และความมุ่งมั่นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่แน่วแน่และมั่นคง ซึ่งตลอด 70 ปีที่ผ่านมาได้นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาครวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน”

สนธิสัญญาไตรภาคีอูกัสจะช่วยให้ออสเตรเลียสามารถซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์โดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และยังเรียกร้องให้มีความร่วมมือด้านความสามารถทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีควอนตัมท่ามกลางความสำคัญทางยุทธศาสตร์อื่น ๆ

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button