ไต้หวันเตือนถึง “ภัยคุกคามร้ายแรง” โดยวางแผนซื้ออาวุธเพิ่ม 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รอยเตอร์
ไต้หวันยื่นเสนอค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มเติมอีกเกือบ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 แสนล้านบาท) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยขีปนาวุธใหม่ เนื่องจากไต้หวันได้เตือนเมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการยกระดับอาวุธเมื่อเผชิญกับ “ภัยคุกคามที่รุนแรง” จากจีนประเทศเพื่อนบ้าน
นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพไต้หวัน ซึ่งเป็นกองทัพที่มีอาวุธครบมือแต่ด้อยกว่ากองทัพจีน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านกลาโหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารและการทูตต่อเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเอง ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นดินแดน “หวงห้าม” ของตนเอง
จำนวนเงินดังกล่าว ซึ่งอยู่นอกเหนือแผนค่าใช้จ่ายทางทหารเกือบ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.7 แสนล้านบาท) ใน พ.ศ. 2565 จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา โดยพรรครัฐบาลของนางไช่มีเสียงข้างมาก ซึ่งหมายความว่าการอนุมัติน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น
กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า ความแข็งแกร่งทางทหารของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจีนเดินหน้าลงทุนด้านกลาโหมอย่างมหาศาล “เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงจากศัตรู กองทัพของประเทศจึงดำเนินการสร้างและเตรียมการทางทหารอย่างแข็งขัน เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับอาวุธและอุปกรณ์ที่ครบกำหนดและรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น” ตามแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหม
นายหวัง ชินลุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า อาวุธใหม่ ๆ จะได้รับการผลิตภายในประเทศเนื่องจากไต้หวันเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต แม้ว่าสหรัฐฯ อาจจะยังคงเป็นผู้ให้บริการชิ้นส่วนและเทคโนโลยีที่สำคัญก็ตาม
ไต้หวันมีความกระตือรือร้นที่จะแสดงให้เห็นว่าไต้หวันมีขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางคำถามว่าสหรัฐฯ จะมาช่วยเหลือหรือไม่ หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนสั่งการให้โจมตี
“เราต้องรับรองในความมั่นคงและแสดงถึงความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะทำให้ประชาคมโลกไว้วางใจเรา” นายโล ปิงเชิง โฆษกรัฐมนตรีไต้หวัน กล่าว “คนอื่นจะช่วยเหลือเราได้ก็ต่อเมื่อเราช่วยเหลือตัวเอง”
จำนวนเงินเพิ่มเติมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งได้ผลักดันให้ไต้หวันปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพให้เคลื่อนพลได้มากขึ้น เพื่อให้สามารถกลายเป็น “เม่น” ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนโจมตีได้ยาก
นางอิงกริด ลาร์สัน หนึ่งในผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ประจำไต้หวัน เน้นย้ำว่าไต้หวัน “มีความจำเป็นที่แท้จริงและเร่งด่วน” ในการดำเนินการปฏิรูปกลาโหม
“ในขณะที่พันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคและทั่วโลกต่างตอบโต้การกระทำที่ก้าวร้าวของจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ไต้หวันต้องคงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นที่ตนเองเท่านั้นสามารถทำได้” นางลาร์สันกล่าวกับศูนย์วิจัยความมั่นคงแห่งอเมริกาแห่งใหม่ “ไต้หวันจะต้องเสริมสร้างการป้องปรามที่แข็งแกร่งและรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไต้หวันต้องการขีดความสามารถแบบอสมมาตรอย่างแท้จริง ตลอดจนกองกำลังสำรองที่แข็งแกร่ง โดยอสมมาตร หมายถึง ระบบที่มีความคล่องตัว สามารถอยู่รอดได้ และเป็นอันตรายถึงชีวิต”
นางลาร์สันเป็นกรรมการผู้จัดการสำนักงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน ซึ่งดูแลความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันโดยไม่มีการเชื่อมโยงทางการทูตอย่างเป็นทางการ
กระทรวงกลาโหมระบุว่า ไต้หวันตั้งเป้าที่จะซื้อขีปนาวุธร่อนและเรือรบ รวมถึงอาวุธอื่น ๆ ด้วยเงินเพิ่มเติมดังกล่าว ไต้หวันได้ทำการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลชนิดใหม่ที่บริเวณนอกชายฝั่งทางใต้และตะวันออกของประเทศ ซึ่งบรรดานักการทูตและผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า ขีปนาวุธดังกล่าวน่าจะสามารถโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลในจีนได้ แม้ว่าจะไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เพิ่มเติม
ไต้หวันได้นำเรือรบล่องหนชั้นใหม่เข้าประจำการแล้ว ซึ่งเรียกว่า “นักฆ่าจากเรือบรรทุกเครื่องบิน” เนื่องจากได้รับการเสริมกำลังขีปนาวุธและอยู่ระหว่างการพัฒนาเรือดำน้ำ การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ไต้หวันอยู่ในระหว่างการฝึกทางทหาร ฮั่นกวง ประจำปี ซึ่งประกอบด้วยการป้องกันการรุกรานที่จำลองขึ้นด้วยการยิงปืนใหญ่จากชายหาดทางตอนใต้ของประเทศออกสู่ทะเล (ภาพ: ทหารไต้หวันเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกซ้อมป้องกันการรุกรานในระหว่างการฝึกทางทหาร ฮั่นกวง ประจำปี ณ เมืองไท่หนาน ไต้หวัน เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2564)
ภาพจาก: รอยเตอร์