ติดอันดับ

อินโดนีเซียดำเนินการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหมด้วยอากาศยานบรรทุกสินค้าและเรือฟริเกตของกองทัพเรือ

ทอม แอบกี

เรือฟริเกต เครื่องบินขนส่ง และเครื่องบินขับไล่ อยู่ในรายการจัดซื้อหลักของกองทัพอินโดนีเซีย ขณะที่รัฐบาลแห่งชาติกำลังเดินหน้าโครงการริเริ่มการปรับปรุงความทันสมัยด้านกลาโหม

เรือฟริเกตของกองทัพเรือที่ออกแบบโดยสหราชอาณาจักรจำนวน 2 ลำได้รับการสร้างขึ้นในอู่ต่อเรือที่เมืองสุราบายา ในชวาตะวันออก ภายใต้สัญญาระหว่างบริษัทรัฐวิสาหกิจพีที พาล และแบ๊บค็อก อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทด้านวิศวกรรมกลาโหมของสหราชอาณาจักร นายปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย (ภาพ) เข้าร่วมพิธีลงนามในระหว่างการจัดแสดงยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมและความมั่นคงระดับนานาชาติในกรุงลอนดอน เมื่อกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซียหรือที่รู้จักกันในชื่อ เคมฮาน

“การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานชาวอินโดนีเซียในสัญญาฉบับนี้จะช่วยให้เกิดการต่อเรือฟริเกต แอร์โรว์เฮด 140 ในอินโดนีเซียโดยแรงงานในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนการต่อเรือที่มีอำนาจอธิปไตยและประเทศโดยรวม” นายเดวิด ล็อกวู้ด ประธานกรรมการบริหารของแบ็บค็อกกล่าวในแถลงการณ์ของบริษัท

เรือฟริเกตลำแรกคาดว่าจะออกทะเลได้ภายใน พ.ศ. 2566 เมื่อยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่จำนวนมากของอินโดนีเซีย เช่น เรือและอากาศยาน ใกล้สิ้นสุดอายุการใช้งาน นายอีวาน ลักส์มานา นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมชาวอินโดนีเซียที่สถาบันยูซอฟอิสฮะก์ในสิงคโปร์ กล่าวกับ ฟอรัม “โดยเฉลี่ยแล้ว ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ของเราจะมีอายุการใช้งานประมาณ 35 – 45 ปี ดังนั้น ความจำเป็นในการแทนที่จึงค่อนข้างสูง”

นายลักส์มานากล่าวว่า อินโดนีเซียอาจได้รับประโยชน์จากการลดรายชื่อผู้จัดหาให้น้อยลงอีกด้วย “อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้จัดหาด้านเทคโนโลยีทางการทหารมากที่สุด เช่น ประมาณ 32, 33 รายทั่วทั้งประเทศ” เขากล่าว “จำนวนดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและไม่สอดคล้องกับวิธีการทำงานของเราเสมอไป ซึ่งหมายความว่าความสามารถในการตรวจจับ ตลอดจนการมีข้อมูลและข่าวกรองที่ดีขึ้นสำหรับการสั่งการและการควบคุมมีความไม่สม่ำเสมอในบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่มีโครงการและระบบกองกำลังร่วมที่ดี”

นายปราโบโวได้พบปะกับผู้นำอุตสาหกรรมด้านกลาโหมในกรุงลอนดอน รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการป้องกันภัยทางอากาศ ยานพาหนะไร้คนขับ อากาศยาน ปืนใหญ่สำหรับเรือ ยานพาหนะหุ้มเกราะ อาวุธ ตลอดจนกระสุน ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย

ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตของบริษัทอวกาศยานและกลาโหม ล็อกฮีด มาร์ติน ในเมืองมาเรียตตา รัฐจอร์เจีย ในสหรัฐอเมริกา พล.อ.ท. ฟัดจาร์ ปราเซตโย ได้ตรวจสอบสายการผลิตของเครื่องบินขนส่ง เฮอร์คิวลิส ซี-130เจ จำนวน 5 ลำที่กำลังสร้างขึ้นเพื่อแทนที่ ซี-130เอส ที่อินโดนีเซียใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503-2512)

นอกจากนี้ ล็อกฮีดยังได้หารือเกี่ยวกับข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อจัดหาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และเอฟ-16 บล็อก 72 รุ่นล่าสุดให้แก่อินโดนีเซียอีกด้วย

“ด้วยเอฟ-16 จำนวน 34 ลำที่มีอยู่แล้ว กองทัพอากาศอินโดนีเซียมีอุปกรณ์สนับสนุนเครื่องบินขับไล่เอฟ -16 อะไหล่ นักบินที่ผ่านการฝึกอบรม และเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงอยู่แล้ว” บริษัทล็อกฮีดระบุในข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 “ด้วยประสบการณ์และโครงสร้างพื้นฐานของเอฟ-16 ที่มีอยู่แล้ว เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 บล็อก 72 จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการดำเนินการมีความคุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากการลงทุนเริ่มต้นได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นายปราเซตโยประกาศว่าอินโดนีเซียจะจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15อีเอกซ์ จำนวน 8 ลำที่ผลิตโดยบริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯ

ทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button