ติดอันดับ

อาเซียนรับมือกับการค้ามนุษย์ในอินโดแปซิฟิก

ทอม แอบกี

รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟระบุว่า กลุ่มอาชญากรจะผลักดันการบังคับใช้แรงงานชาวอินโดแปซิฟิก 25 ล้านคนต่อปี เนื่องจากเหยื่อถูกผลักดันเข้าสู่การค้าประเวณี สื่อลามกอนาจาร ความรุนแรงในครอบครัว และแม้แต่อาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อรับมือกับหายนะครั้งนี้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนได้ร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินการริเริ่ม 2 โครงการคือ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย และเครือข่ายความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระดับการค้ามนุษย์ในมาเลเซียและพม่าอยู่ในระดับ 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นระดับที่เลวร้ายที่สุดในขนาดเดียวกัน บรูไน กัมพูชา และไทยอยู่ในใกล้เคียงกันในรายชื่อเฝ้าระวังระดับ 2

จากรายงานระบุว่าอุตสาหกรรมทางเพศ การค้ายา และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอันตราย เช่น การทำเหมืองแร่และโรงฆ่าสัตว์ เป็นจุดหมายปลายทางของเหยื่อการค้ามนุษย์ กลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติการจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้หลอกล่อเหยื่อไปยังกัมพูชา ซึ่งทำให้เหยื่อต้องทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตและหลอกลวงทางโทรศัพท์เพื่อลวงให้ผู้คนซึ่งมักจะเป็นสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อเองเอาเงินออกจากบัญชี ตามรายงานของนิตยสารข่าวนิกเคอิเอเชีย

ด้วยเงินทุนประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) จากออสเตรเลีย โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียได้ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 เพื่อช่วยประเทศสมาชิกอาเซียนต่อต้านการค้ามนุษย์โดยการดำเนินการตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2560 อนุสัญญาระบุว่าการค้ามนุษย์เป็น “ภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม” และกำหนดกรอบเพื่อตอบโต้การค้ามนุษย์

บางทีอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์คือการที่เหยื่อไม่เต็มใจที่จะให้การ “เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีกับนักค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้งหลักฐานเพียงอย่างเดียวคือคำให้การของเหยื่อ” ตามรายงานของเอกสารที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานการต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในประเทศไทย

โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเหยื่อ และการตระหนักถึงบทบาทของผู้พิพากษาและพนักงานศาลในการให้อำนาจและช่วยเหลือเหยื่อ โดยได้สร้างตัวชี้วัดที่สำคัญเพื่อยกระดับการปฏิบัติที่เน้นเหยื่อเป็นศูนย์กลางในศาล (ภาพ: ทนายความและผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม 3 วัน ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างอาเซียนและออสเตรเลียในเวียดนามเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564)

เอกสารระบุเพิ่มเติมว่า “พันธมิตรอาเซียนหลายฝ่ายได้เริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทางปฏิบัติ” ศาลในลาวได้เพิ่มกำแพงเพื่อสร้างปราการป้องกันระหว่างเหยื่อและผู้ต้องหา ฟิลิปปินส์นำเสนอการประชุมทางวิดีโอและคำให้การเสมือนจริงในคดีค้ามนุษย์ และประเทศไทยเริ่มรับฟังการยื่นคำร้องขอค่าชดเชยเหยื่อเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีอาญาและปรับใช้ระบบศาลดิจิทัลเพื่อใช้หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และสืบพยานทางออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันด้วยการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติและญี่ปุ่น เครือข่ายความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเป้าหมายที่จะปราบปรามแก๊งค้ามนุษย์ร่วมกับทีมอัยการ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ จากประเทศในภูมิภาคอาเซียน

กรอบการทำงานที่กำหนดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 พยายามขจัดความล่าช้าที่เกิดจากความแตกต่างของภาษา ระบบกฎหมาย และแนวปฏิบัติในท้องถิ่นที่อาจทำให้กระบวนการยุติธรรมติดขัดและทิ้งข้อเรียกร้องสำหรับเอกสารที่ไม่ได้รับคำตอบเป็นระยะเวลานาน ตามรายงานของนิตยสารข่าวนิกเคอิเอเชีย ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศเลือกเจ้าหน้าที่สองคนจากหน่วยงานที่เข้าร่วมและรับประกันว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ติดต่อกับคู่ของตนเองอยู่เสมอ

จนถึงขณะนี้ ญี่ปุ่นได้มอบเงินทุนเกือบ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 ล้านบาท) ให้แก่เครือข่ายความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเป็นผู้ประสานงานริเริ่ม

 

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

ภาพจาก: โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button