ติดอันดับ

นักเรียนนายเรืออากาศไทยและสหรัฐฯ เข้าร่วมการแข่งขันทางไซเบอร์เสมือนจริงระดับทวิภาคีครั้งแรก

มิเกล แมคอดัมส์ และบรูซ แมคกิลเวอรี กองทัพอากาศสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก

นักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชและโรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมการแข่งขัน “ชิงธง” ทางไซเบอร์เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 การแลกเปลี่ยนทวิภาคีช่วยให้นักเรียนนายร้อยสามารถวิเคราะห์เครือข่ายและระบบข้อมูลเพื่อหาสัญญาณของการบุกรุกทางไซเบอร์ ช่องโหว่ หรือการโจมตี ขณะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นการแข่งขันโดยไม่ได้เป็นปรปักษ์ต่อกัน ผู้นำกองทัพอากาศไซเบอร์ในอนาคตจากไทยและสหรัฐฯ ได้ฝึกฝนทักษะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง รวมถึงการรับมือกับความท้าทายทางเทคนิคที่ต้องการความแม่นยำและรวดเร็ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำ และนักการศึกษาด้านไซเบอร์จากกองบัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กองกำลังป้องกันทางอากาศวอชิงตัน ศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศไทย โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และโรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหอกในการจัดการแข่งขันระหว่างนักเรียนนายร้อยซึ่งอยู่ห่างกันหลายพันไมล์ แนวคิดของการแข่งขันดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในการเจรจาระหว่างกองทัพอากาศประจำปีที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 (ภาพ: นักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชและโรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนบุคลากรจากกองกำลังป้องกันทางอากาศวอชิงตัน กองบัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก และกองทัพอากาศไทย ได้เข้าร่วมในการแข่งขันทางไซเบอร์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564)

“นักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐอเมริกาของเราได้รับเกียรติให้เข้าร่วมการแข่งขันทางไซเบอร์ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีนักเรียนนายร้อยจากโรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐฯ และโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชเข้าร่วม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เข้าร่วมอีกครั้งในปีหน้า” น.ท. เดวิด เมอร์ริตต์ โรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐอเมริกากล่าว

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ถือเป็นการมีส่วนร่วมที่สำคัญ ภายหลังการประชุมสุดยอดที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ผู้นำควอด ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ รวมถึงสถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้เผยแพร่เอกสารข้อเท็จจริงและข้อแถลงการณ์ร่วมของผู้นำควอดที่เน้นย้ำถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์ว่าเป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มที่สำคัญของตน ผู้นำควอดยังให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

 

ภาพจาก: ศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button