ติดอันดับ

โครงการจัดหาเงินทุนของสหรัฐฯ ได้รับการนำไปใช้เพื่อสร้างสายเคเบิลใต้ทะเลแปซิฟิกหลังจากที่จีนถูกปฏิเสธ

รอยเตอร์

สหพันธรัฐไมโครนีเซียจะใช้งานโครงการจัดหาเงินทุนของสหรัฐอเมริกาเพื่อก่อสร้างสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลแปซิฟิกหลังจากปฏิเสธข้อเสนอของบริษัทจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวสองแหล่ง

สายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลมีความจุข้อมูลมากกว่าดาวเทียม ซึ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เกิดความกังวลว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทจีนจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้มีความตั้งใจที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานสายเคเบิลเพื่อการสอดแนม

แหล่งข่าวสองแหล่งระบุว่า สหพันธรัฐไมโครนีเซียจะใช้เงินของสหรัฐฯ ในการสร้างเส้นทางระหว่างสองในสี่รัฐของตน ซึ่งได้แก่รัฐคอสไรและโปนเป โดยจำลองเส้นทางส่วนหนึ่งที่เสนอภายใต้โครงการมูลค่า 72.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.37 พันล้านบาท) ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียก่อนหน้านี้

โครงการดังกล่าวซึ่งครอบคลุมประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกอย่างนาอูรูและคิริบาตี ถูกยกเลิกไปหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ กังวลว่าสัญญาจะตกเป็นของหัวเว่ยมารีน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเอชเอ็มเอ็นเทคโนโลยีและมีบริษัทเฮงทง ออปติก-อิเล็กทริก จำกัด ซึ่งจดทะเบียนในเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

แหล่งข่าวแห่งหนึ่งระบุว่า สหพันธรัฐไมโครนีเซียจะนำเงินประมาณ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 458 ล้านบาท) จากแผนช่วยเหลือชาวอเมริกัน ซึ่งดำเนินการโดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อแจกจ่ายเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อต่อสู้กับผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19

รัฐบาลสหพันธรัฐไมโครนีเซียกล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการเชื่อมต่อใยแก้วนำแสงแก่รัฐคอสไรและเชื่อมต่อไปยังคิริบาตีและนาอูรู ซึ่งไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนของสหรัฐฯ โดยตรง

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

สหพันธรัฐไมโครนีเซียและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยาวนาน โดยได้รับการรักษาเป็นพิเศษไว้ด้วยความร่วมมือด้านเสรีภาพ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เก่าแก่กว่าหลายทศวรรษระหว่างสหรัฐฯ และอดีตดินแดนที่เป็นที่ไว้วางใจในแปซิฟิก รัฐบาลสหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านกลาโหมของสหพันธรัฐไมโครนีเซียภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว

แหล่งข่าวที่สองระบุว่า สายเคเบิลที่ได้รับเงินทุนจากสหรัฐฯ น่าจะเชื่อมต่อกับสายเคเบิลใต้ทะเลฮันทรู-1 ซึ่งเป็นสายเคเบิลที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นหลักในการเชื่อมต่อกับกวม ซึ่งเป็นดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯ

แหล่งข่าวทั้งสองแห่งให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตน

ธนาคารโลกกล่าวในแถลงการณ์ว่า ธนาคารโลกกำลังทำงานร่วมกับสหพันธรัฐไมโครนีเซียและคิริบาตีเพื่อวางแผนขั้นตอนถัดไปหลังจากเสร็จสิ้นการประกวดราคาเดิมสำหรับโครงการขนาดใหญ่โดยไม่มีการทำสัญญาใด ๆ

สายเคเบิลใต้ทะเลเป็นหนึ่งในการเผชิญหน้าใหม่ ๆ และละเอียดอ่อนที่สุดในการแข่งขันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐฯ ในน่านน้ำที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรแปซิฟิก (ภาพ: (ภาพตัดขวางของสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเล)

แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ แต่สหพันธรัฐไมโครนีเซียก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าที่ยาวนานกับจีนด้วยเช่นกัน

สมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ ได้เตือนว่า บริษัทจีนอาจบ่อนทำลายการประกวดราคาโดยการเสนอราคาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีหัวเว่ยมารีนไว้ในรายชื่อบริษัท ซึ่งมีการจำกัดการขายสินค้าและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทในรายชื่อดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าวว่าเอชเอ็มเอ็นเทคโนโลยีซึ่งเป็นเจ้าของใหม่ของหัวเว่ยจะถูกขึ้นบัญชีภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธมิตรระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งกับสหรัฐฯ ยังได้เพิ่มบทบาทในมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเงินโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่า 1.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.84 หมื่นล้านบาท) ซึ่งประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้สำหรับโครงการเคเบิล

นาอูรูได้เจรจาเกี่ยวกับแผนการที่จะใช้งานระบบสายเคเบิลในทะเลคอรัลที่ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรเลียผ่านหมู่เกาะโซโลมอน ตามข้อมูลที่แหล่งข่าวระบุเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564

 

ภาพจาก: ไอสต็อก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button