ติดอันดับ

สหรัฐฯ รับมือกับการประมงผิดกฎหมายและการบังคับใช้แรงงานในมหาสมุทรแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สหรัฐอเมริการะบุว่าตนได้ดำเนินมาตรการต่อต้านการบังคับใช้แรงงานและการประมงผิดกฎหมายในหมู่เกาะแปซิฟิกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 เมื่อสหรัฐฯ สั่งห้ามไม่ให้เรือสัญชาติฟิจินำเข้าปลาทูน่ามายังสหรัฐฯ

สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าจากเรือแฮงตันหมายเลข 112 ซึ่งเป็นเรือประมงเบ็ดราวที่ดำเนินการโดยชาวจีน ตามรายงานของเดอะแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นายอเลฮานโดร มายอร์กาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า “บริษัทต่าง ๆ ที่เอารัดเอาเปรียบพนักงานจะไม่มีที่ยืนในการทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกา” “ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการบังคับใช้แรงงานไม่เพียงแต่เป็นการเอาเปรียบแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำร้ายธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ผิดจรรยาบรรณอีกด้วย”

การดำเนินมาตรการล่าสุดนี้มุ่งเป้าไปที่เรือในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติตกอยู่ภายใต้สภาวะการทำงานที่เลวร้าย เพียงสามเดือนก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการนำเข้าจากเรือที่ดำเนินการโดยกองเรือประมงของจีนทั้งสิ้น 30 ลำ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติต่อลูกเรือ เจ้าหน้าที่ระบุว่า สหรัฐฯ สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากบริษัทต้าเหลียน โอเชียน ฟิชชิง ซึ่งบังคับใช้แรงงานลูกเรือเยี่ยงทาสจนส่งผลให้ชาวประมงอินโดนีเซียหลายรายเสียชีวิตใน พ.ศ. 2563

สภาวะการทำงานที่ไร้มนุษยธรรมดังกล่าวในกองเรือประมงน่านน้ำห่างไกลได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี แต่ผู้ปฏิบัติงานบางรายได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อป้องกันมิให้มีการค้นพบ กรณีของเรือแฮงตัน หมายเลข 112 นับเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าการใช้ “ธงแห่งความสะดวก” เพื่อปกปิดความเป็นเจ้าของ

ในรายงานประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง “พ้นการลงโทษ: วิธีที่ธงแห่งความสะดวกช่วยให้การทำประมงผิดกฎหมายรอดพ้นจากการโดนลงโทษ” มูลนิธิเพื่อความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในสหราชอาณาจักรพบว่า การใช้ธงประเทศอื่น ๆ ของผู้ประกอบการเรือ “ทำให้ภาคการประมงมีความคลุมเครือมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการระบุและลงโทษผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งทำให้บุคคลดังกล่าวมีเส้นทางหลบหนีที่ง่ายดาย”

แม้ว่าจะไม่มีคำจำกัดความที่เป็นสากลของธงแห่งความสะดวกในภาคการประมง แต่สหภาพแรงงานขนส่งระหว่างประเทศได้กำหนดแนวความคิดดังกล่าวไว้ว่า การที่ผู้รับผลประโยชน์จากการทำการประมงอาศัยอยู่ในประเทศอื่นนอกเหนือจากที่ปรากฏบนธงแห่งความสะดวกนั้น ๆ (ภาพ: สมาชิกของกองทัพเรืออินโดนีเซียยืนเฝ้าระวังเรือประมงลากอวนของจีนที่ทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2559)

เช่น ธงชาติจีนไม่ปรากฏบนเรือประมงลากอวนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในบางครั้ง กรณีของประเทศกานาในแอฟริกาแสดงให้เห็นถึงวิธีที่จีนแทรกแซงเข้าไปในอุตสาหกรรมที่ควรจะได้รับการควบคุมจากภายในประเทศเท่านั้น

ประเทศกานาสั่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจเรือประมงลากอวนในประเทศ แต่บริษัทจีนต่าง ๆ ได้ดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้าสัญชาติกานาเพื่อนำเข้าเรือ ตลอดจนขอใบอนุญาตทำการประมง ตามรายงานของมูลนิธิเพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม “เอกสารระบุว่าผลประโยชน์ทั้งหมดตกเป็นบริษัทสัญชาติกานา ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการบริหารของเจ้าของบริษัทจดทะเบียน แต่ในความเป็นจริงนั้น กองเรือประมงลากอวนสัญชาติกานากว่าร้อยละ 90 ถึง 95 ล้วนมีความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของชาวจีน”

การดำเนินการตรวจสอบครั้งล่าสุดโดยไชน่า ไดอะล็อก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พบว่า เรือประมงลากอวนจำนวน 35 ลำที่ปฏิบัติการอยู่ในกานา กินี และเซียร์ราลีโอน เป็นเรือของบริษัทต้าเหลียน เม่งซิน โอเชียน ฟิชเชอรี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีน โดยมีเรือจำนวน 17 ลำติดธงชาติกานา

การกระทำนี้อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนภัยคุกคามทางการแข่งขัน หากผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการใช้แรงงานทาส มูลนิธิเพื่อความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมรายงานว่า “มหาสมุทรของเรากำลังถูกคุกคาม” “การทำประมงเกินขนาดทำให้จำนวนประชากรสัตว์น้ำลดลงเป็นอย่างมาก ตลอดจนทำให้สัตว์น้ำบางชนิดสูญพันธุ์โดยสิ้นเชิง”

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button