เรื่องเด่น

วิวัฒนาการ ของกองเรือ

จับตามองใกล้ชิดเรือประมงจีนนอกหมู่เกาะกาลาปากอส

ดร. ทาบิธา เกรซ มัลลอรี และ ดร. เอียน รัลบี | ภาพโดยรอยเตอร์

มีรายงานข่าวมากมายเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ว่าพบกองเรือประมงกลุ่มใหญ่ของจีนในน่านน้ำนอกหมู่เกาะกาลาปากอสของเอกวาดอร์ ซึ่งลอยลำกว่า 350 ลำ ก่อนที่สุดท้ายกองเรือจะออกไปจากพื้นที่ในช่วงกลางเดือนตุลาคมเพื่อจับสัตว์ทะเลที่อยู่ไกลออกไปทางใต้ อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำไกลของจีนในพื้นที่ดังกล่าวได้ขยายตัวขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมจากกองเรือยังเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการยึดเรือฟู่หยวนหลี่เล้ง 999 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็งสัญชาติจีนที่พบในหมู่เกาะกาลาปากอส โดยมีสัตว์หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ประมาณ 3,000 ตันอยู่บนเรือ รวมถึงปลาฉลาม 600 ตัว

จากข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกจากวินด์วอร์ด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านข่าวกรองทางทะเลเชิงคาดการณ์ การวิเคราะห์ของเราตรวจสอบว่าปรากฏการณ์ด้านการประมงนี้พัฒนาไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป และบุคคลใดอยู่เบื้องหลังความพยายามในการประมงที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นี้ กิจกรรมประมงนี้เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ด้านการประมงระดับโลกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งรวมถึงการมอบเงินอุดหนุนจำนวนมากแก่ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว เราตรวจสอบขอบเขตที่จีนอาจมีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยให้เหตุผลว่าแม้ว่ารัฐบาลจีนจะเคลื่อนไหวเพื่อลดกิจกรรมการทำประมงดังกล่าว แต่ความท้าทายหลายประการยังคงมีอยู่ แม้ว่ากองเรือดังกล่าวจะทำการประมงอย่างถูกกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ แต่พฤติกรรมบางอย่างได้ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติบางประการ นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับทางเทคนิคที่บังคับใช้ แต่กิจกรรมประมงของจีนบางกิจกรรมนั้นจัดอยู่ในประเภทการประมงที่ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และสมควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในด้านความยั่งยืนในการดำเนินการดังกล่าว

ความสนใจใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่

ข้อมูลจากวินด์วอร์ดช่วยให้เห็นภาพกิจกรรมของกองเรือจีนตลอดช่วงเวลา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรากฏตัวของเรือประมงจีนในน่านน้ำรอบเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งมีระยะทางกว่า 370 กิโลเมตรในหมู่เกาะกาลาปากอสได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดหลายปี ใน พ.ศ. 2558 แทบจะไม่มีกิจกรรมประมงของจีนในหมู่เกาะกาลาปากอสและน่านน้ำนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะนี้เลย อย่างไรก็ตาม กิจกรรมประมงในพื้นที่ดังกล่าวช่วงต้น พ.ศ. 2559 ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เช่น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 เรือสัญชาติจีน 191 ลำได้ทำการประมงในพื้นที่หมู่เกาะกาลาปากอสที่กว้างขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเรือจีนเพียงหนึ่งลำที่ถูกตรวจพบในพื้นที่ดังกล่าวในเดือนเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2558 เรือประมงที่ตรวจพบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนับแต่นั้นมา ซึ่งผันผวนไปตามฤดูกาลการประมง ใน พ.ศ. 2560 พบเรือประมงมากกว่า 200 ลำในพื้นที่ดังกล่าวในระยะเวลา 3 เดือน และสูงสุดถึง 263 ลำในเดือนกรกฎาคม ใน พ.ศ. 2561 มีเรือประมงจีนกว่า 200 ลำอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นเวลาติดต่อกันถึง 4 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม และ 193 ลำในเดือนธันวาคม โดยพบว่ามีเรือประมงจีนมากที่สุดในเดือนมิถุนายน คือมากกว่า 286 ลำ ใน พ.ศ. 2562 มีการตรวจพบเรือกว่า 200 ลำเป็นเวลาถึง 5 เดือน ในขณะที่เดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีเรือ 197 ลำและ 130 ลำตามลำดับ ช่วงสูงสุดใน พ.ศ. 2562 คือเดือนกันยายน ซึ่งพบจำนวน 298 ลำ (รูปที่ 1)

ปัจจุบัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเริ่มรุนแรงมากขึ้น โดยใน พ.ศ. 2563 พบเรือจำนวนมากกว่า 200 ลำในระยะเวลา 4 เดือน รวมถึงเรือมากกว่า 300 ลำใน 2 เดือน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีเรือประมงจีน 342 ลำในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้ง 344 ลำและ 295 ลำ ในเดือนสิงหาคมและกันยายน ตามลำดับ

การจะเข้าใจถึงกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการประมงของจีน

ทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ด้านการประมงระดับโลกของจีน

ความสามารถในการรวบรวมข้อมูลของวินด์วอร์ดทำให้สามารถตรวจสอบรายละเอียดบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังกองเรือขนาดใหญ่นี้ได้ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พ.ศ. 2563 มีเรือจีน 364 ลำในพื้นที่ของระบบแสดงตนอัตโนมัติ เรือที่มีน้ำหนักมากกว่า 300 ตันซึ่งปฏิบัติการในระดับนานาชาติต้องติดตั้งและเปิดใช้งานระบบแสดงตนอัตโนมัติ ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีเรือมากกว่า 364 ลำ เนื่องจากบางลำเป็น “เรือมืด” จึงไม่สามารถตรวจจับได้ผ่านระบบแสดงตนอัตโนมัติ การตรวจจับเรือ 364 ลำเหล่านั้นเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของและมณฑลต้นทาง แม้ว่าจะมีเรือเพียงไม่กี่ลำที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ แต่บริษัท 55 แห่งเป็นเจ้าของกองเรือตามเอกสาร ทั้งนี้ บริษัทหลายแห่งมีที่อยู่เหมือนกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีเจ้าของผู้ได้รับผลประโยชน์ในจำนวนน้อยกว่า 55 ราย

เรือที่อยู่นอกหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอำนาจแห่งชาติของรัฐ หรือ “ทะเลลึก” ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล และในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเจ้าภาพบนพื้นฐานของข้อตกลงการเข้าถึงการประมงแบบทวิภาคี จีนรายงานอย่างเป็นทางการว่า เรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนมีจำนวน 2,701 ลำใน พ.ศ. 2562 และมีกิจการกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน 159 แห่งใน พ.ศ. 2560

กองเรือรอบหมู่เกาะกาลาปากอสเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการประมงของจีนอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การเปิดตัวอุตสาหกรรมกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนใน พ.ศ. 2528 จนถึงกลาง พ.ศ. 2553 ยุทธศาสตร์ของจีนคือการขยายกองเรือและเพิ่มการจับสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม แผนการห้าปีด้านการประมงฉบับที่ 13 ของจีนฉบับล่าสุดได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการมุ่งเน้นการขยายไปสู่การยกระดับและการรวมอุตสาหกรรม สาธารณรัฐประชาชนจีนมีเป้าหมายที่จะควบคุมห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดให้มากขึ้น ตั้งแต่จุดเก็บเกี่ยว การขนส่ง และการเทียบท่าไปจนถึงการแปรรูปและการจัดจำหน่าย และท้ายที่สุดไปจนถึงตลาดค้าปลีก ขณะที่จีนยกระดับเทคโนโลยีสำหรับเรือของตนเพื่อดำเนินการและจับสัตว์น้ำได้ดีขึ้น จีนยังมีเป้าหมายที่จะส่งสัตว์น้ำที่จับได้จากกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนไปขายที่ตลาดภายในประเทศจีนมากขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือภายในประเทศสำหรับการจัดจำหน่ายอาหารทะเลนี้ ใน พ.ศ. 2561 จีนได้ส่งออกสัตว์น้ำที่จับได้ในประเทศถึงร้อยละ 65 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ใน พ.ศ. 2552

ในขณะเดียวกัน สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปลี่ยนจากการพึ่งพาการจับสัตว์น้ำจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ไปสู่การประมงในทะเลลึก เนื่องจากประเทศเจ้าภาพมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการประมงที่ไม่ยั่งยืนจากกองเรือต่างประเทศในน่านน้ำของตนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย แม้ว่าพื้นที่ทะเลลึกบางแห่งได้รับการควบคุมดูแลโดยองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค แต่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่ครอบคลุมสำหรับการประมงในทะเลลึกที่มีขอบเขตทั่วโลก เนื่องจากพื้นที่ทะเลลึกได้รับการควบคุมดูแลมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค โควตาด้านการประมงอาจได้รับการแจกจ่ายให้กองเรือที่มีประวัติการทำประมงในพื้นที่ รายงานเฉพาะกิจที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยรัฐบาลจีน อุตสาหกรรม และนักวิชาการของจีนแย้งว่าประเทศที่มีประวัติศาสตร์ในการใช้มหาสมุทรมายาวนานมีอำนาจในการพิจารณามากกว่าว่าจะกระจายทรัพยากรอย่างไร และจึงต้องได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นจากทรัพยากรเหล่านั้น ซึ่งก็คือ “การครอบครองนำมาซึ่งสิทธิและผลประโยชน์” ตามแนวโน้มเหล่านี้ กองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนมีจำนวนการจับสัตว์น้ำที่จับได้จากทะเลลึกร้อยละ 66 ใน พ.ศ. 2560 เทียบกับร้อยละ 43 ใน พ.ศ. 2553

การลงทุนของจีนในยุทธศาสตร์นี้สะท้อนให้เห็นว่ามณฑลใดที่เป็นต้นกำเนิดของเรือเหล่านี้ จากเรือ 364 ลำที่พบว่าดำเนินการอยู่นอกหมู่เกาะกาลาปากอสในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2563 มี 92 ลำที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับเจ้าของรายใดรายหนึ่งได้อย่างชัดเจน เรือ 188 ลำจาก 272 ลำที่เหลืออยู่มีต้นกำเนิดจากมณฑลเจ้อเจียง เนื่องจากเรือจีนที่บริษัทเดียวกันเป็นเจ้าของมักจะมีชื่อเหมือนกัน โดยจะแยกตามหมายเลขต่าง ๆ จึงมีแนวโน้มว่าเรือ 50 ลำที่ไม่มีชื่อบริษัทนั้นน่าจะมาจากมณฑลเจ้อเจียง เนื่องจากชื่อเหล่านั้นมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น เรือประมงสองในสาม (238) ลำน่าจะมาจากมณฑลเจ้อเจียง เรือที่เหลืออยู่อีก 46 ลำมาจากมณฑลชานตง และอีก 19 ลำน่าจะมาจากมณฑลซานตง รวมเป็น 65 ลำหรือร้อยละ 18 (ภาพที่ 2)

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มณฑลเจ้อเจียงและมณฑลชานตงเป็นมณฑลหลักของกองเรือถึงร้อยละ 83 โดยเป็นผู้รับเงินอุดหนุนรายใหญ่ที่สุดจากโครงการเงินอุดหนุนด้านการประมงของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนอย่างน้อยหนึ่งโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการได้รับเงินประมาณ 2.1 พันล้านหยวนจีน (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) จากรัฐบาลกลางตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2562 ผู้รับรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามคือมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งนับเป็นกลุ่มเรือประมงที่ใหญ่ที่สุดรองลงมา โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 1.181 พันล้านหยวนจีน (ประมาณ 5 พันล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ทั้งสามมณฑลยังเป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ในด้านการจับสัตว์น้ำของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนทั้งหมดอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีจำนวน 2.257 ล้านตันใน พ.ศ. 2561 (ภาพที่ 2 และ 3)

เนื่องจากจีนมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำในประเทศระดับโลกมากขึ้น ทั้งสามมณฑลนี้ยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือใหม่หรือท่าเรือที่วางแผนไว้สามแห่ง ซึ่งมีไว้เฉพาะสำหรับการเทียบท่าในการจับสัตว์น้ำของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน มณฑลเจ้อเจียงมีส่วนแบ่งมากที่สุดจากการจับสัตว์น้ำของของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน (ร้อยละ 24 ใน พ.ศ. 2561) ดังนั้น ใน พ.ศ. 2558 จึงมีการเสนอให้มีท่าเรือประมงของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนในประเทศแห่งแรกสำหรับเมืองโจวซาน มณฑลเจ้อเจียง ฐานกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนในประเทศของเมืองโจวซาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินทุนของรัฐบาลทำหน้าที่ส่งเสริมอาหารทะเลจากกองเรือดังกล่าวสู่ตลาดในประเทศ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ เพื่อรองรับการเทียบท่าของเรือประมง 1,300 ลำ การแปรรูป และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บ ปริมาณการจับสัตว์น้ำ 1 ล้านตันต่อปี และศูนย์ต่อเรือ ปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำชนิดหลักของเรือที่เทียบท่า ซึ่งอำนวยความสะดวกโดยศูนย์การซื้อขายปลาหมึกจากกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน

มณฑลชานตง ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนรายใหญ่อันดับสามของประเทศ (ร้อยละ 20 ใน พ.ศ. 2561) เป็นที่ตั้งของท่าเรือแห่งที่สอง นั่นคือฐานกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนในประเทศที่ชาโวเดา ซึ่งได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างใน พ.ศ. 2559 ในเมืองหรงเฉิง ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการสนับสนุนที่คล้ายกัน เมืองชาโวเดาจะสามารถเทียบท่าเรือประมงได้ถึง 1,000 ลำ และจัดการการซื้อขายปลา 600,000 ตัน รวมถึงปลาหมึกและปลาทูน่า มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นที่ตั้งกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนกลุ่มแรก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสองของจีน (ร้อยละ 21 ใน พ.ศ. 2561) จะเป็นที่ตั้งของท่าเรือแห่งที่สามคือฐานกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนในประเทศที่ฟูโจว (เหลียนเจียง) ในเมืองฟูโจว ซึ่งได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างใน พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในนโยบายกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนยังสะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลการซื้อขายและข้อมูลการจับสัตว์น้ำ การนำเข้าปลาหมึกของสาธารณรัฐประชาชนจีนจากอาร์เจนตินาและเปรูลดลง (ภาพที่ 4) ในขณะที่การจับสัตว์น้ำของจีนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะจีนตัดสินใจที่จะจับปลาหมึกผ่านกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน การจับปลาหมึกของมณฑลเจ้อเจียงเพิ่มขึ้นจาก 69,000 ตันใน พ.ศ. 2552 เป็น 356,000 ตันใน พ.ศ. 2561 ในขณะที่การจับปลาหมึกของมณฑลชานตงเพิ่มขึ้นจาก 21,000 ตันเป็น 102,000 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน ตามสถิติอย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน

มีการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส ใช่หรือไม่?

การแสดงให้เห็นถึงภาพกิจกรรมตกปลา แม้เพียงบางส่วนของเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2563 นั้นมีประโยชน์ในบางแง่มุม จากการวิเคราะห์อัลกอริทึมของวินด์วอร์ดเกี่ยวกับข้อมูลของระบบข้อมูลอัตโนมัติ แต่ละจุดบนภาพด้านล่างแสดงเรือประมงของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว (ภาพที่ 5)

ไม่มีจุดใดปรากฏอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งเส้นขอบเรียงรายด้วยจุดนั้น ๆ จนเกือบสมบูรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความในทวิตเตอร์ของนายเลนิน โมเรโน ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ที่ระบุว่า ประเทศเอกวาดอร์ให้ความสำคัญกับการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส

กองเรือจีนไม่ได้รับอนุญาตให้จับปลาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเอกวาดอร์ และตราบเท่าที่ข้อมูลของระบบแสดงตนอัตโนมัติระบุไว้ กองเรือดังกล่าวดูเหมือนจะอยู่ในทะเลลึกเท่านั้น ไม่ใช่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ซึ่งขัดแย้งกับพฤติกรรมในอดีต ยกตัวอย่างการแสดงภาพกิจกรรมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2560 เมื่อเรือจีนจับปลาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส (ภาพที่ 6)

กิจกรรมประมงที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ส่งผลให้มีเรือฟู่หยวนหลี่เล้ง 999 มาถึงที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สามวันต่อมาเรือถูกจับ พร้อมกัปตันเรือและลูกเรือถูกตัดสินจำคุกสูงสุดสี่ปีและปรับเป็นเงิน 6.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 200 ล้านบาท) ผู้ประกอบการอาจเชื่อว่าเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็ง ซึ่งแตกต่างจากเรือประมง ไม่น่าจะถูกตรวจจับและถูกสกัดจับน้อยกว่ามากจากการมีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่าเรือบรรทุกสินค้าลำดังกล่าวขนถ่ายสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมายจากเรือประมง “มืด” ในทะเล แม้ว่าลูกเรือประมงเหล่านี้จะไม่เคยถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหากระทำผิดกฎหมายก็ตาม (ภาพที่ 7)

เมื่อพิจารณาจากกิจกรรมระบบแสดงตนอัตโนมัติและการตอบสนองนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กองเรือจีนระมัดระวังมากขึ้น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างบัญชีดำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมภายในสิ้น พ.ศ. 2560 ยกเลิกเงินอุดหนุนบางส่วนเพื่อลงโทษเรือที่ถูกจับกุมว่าเกี่ยวข้องกับการประมงดังกล่าว สร้างศูนย์ฝึกอบรมและการปฏิบัติตามกฎระเบียบของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน และจำกัดกองเรือไว้ที่ 3,000 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แก้ไขข้อบังคับของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีน โดยกำหนดข้อห้ามในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมอย่างเป็นทางการ และเรียกร้องให้เรือออกจากพื้นที่กันชนรอบพื้นที่ห้ามเข้า แม้ว่าข้อบังคับไม่ได้ระบุขนาดของพื้นที่กันชน แต่การแจ้งเตือนติดตามเรื่องความปลอดภัยของกองเรือประมงในเขตน่านน้ำของจีนกำหนดไว้ที่ 1.85 กิโลเมตร

มีการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในทะเลลึกใช่หรือไม่?

แม้ดูเหมือนว่ากองเรือไม่ได้ทำการประมงอย่างผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส แต่เรือเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎขององค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคที่ควบคุมการทำประมงในทะเลลึก การจับปลาทูน่าในพื้นที่นี้บริหารจัดการโดยคณะกรรมาธิการทูน่าระหว่างอเมริกาเขตร้อน ซึ่งเป็นองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสมาชิก คณะกรรมาธิการดังกล่าวกำหนดโควตารายปีสำหรับพันธุ์ปลาทูน่า และเก็บรายชื่อเรือประมงและเรือขนส่งที่จดทะเบียนแล้ว รวมถึงเรือที่ถูกจับได้ว่ามีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สาธารณรัฐประชาชนจีนมีเรือประมงเบ็ดราวปลาทูน่า 415 ลำ ซึ่งจดทะเบียนกับคณะกรรมาธิการทูน่าระหว่างอเมริกาเขตร้อน จากเรือประมง 364 ลำนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอสในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2563 มีเพียงลำเดียวที่จดทะเบียนกับคณะกรรมาธิการดังกล่าว

กองเรือส่วนใหญ่อยู่ภายใต้เขตอำนาจขององค์การบริหารการประมงประจำภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ซึ่งควบคุมพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลลึกนอกเหนือจากปลาทูน่า เช่น ปลาแมกเคอเรล และปลาหมึกในปัจจุบัน จากเรือประมงจำนวน 363 ลำนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอสที่ไม่ได้จดทะเบียนกับคณะกรรมาธิการดังกล่าวข้างต้น ทั้งหมดมี 16 ลำที่ได้จดทะเบียนกับองค์การบริหารการประมงประจำภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2555 ความครอบคลุมของสายพันธุ์ยังคงเพิ่มขึ้น จีนเริ่มทำการจับปลาแมกเคอเรลด้วยเรือ 15 ลำใน พ.ศ. 2546 หลังจากปฏิบัติภารกิจการสำรวจจับปลาใน พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2545 การจับปลาแมกเคอเรลของจีนเพิ่มขึ้นจาก 14,000 ตันใน พ.ศ. 2548 เป็น 61,229 ตันใน พ.ศ. 2561 โดยมณฑลชานตงคิดเป็นร้อยละ 65 รองลงมาคือมณฑลเจ้อเจียงคิดเป็นร้อยละ 24

มีการใช้ข้อบังคับขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกสำหรับปลาหมึกในทะเลลึกใน พ.ศ. 2563 องค์การบริหารการประมงประจำภูมิภาคแปซิฟิกใต้ออกมาตรการควบคุมการจับปลาหมึกบินยักษ์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2564 จนถึงตอนนั้น การจับปลาหมึกของจีนไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ค่อนข้างไม่มีการรายงาน และสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจสร้างพื้นที่การประมงที่ใหญ่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงใช้ประโยชน์จากการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลจีนยังประกาศการหยุดพักการจับปลาหมึกในทะเลลึกระยะหนึ่งเป็นครั้งแรก รวมถึงพื้นที่ที่อยู่ติดกับหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนตระหนักว่า ระดับการประมงของกองเรือของตนไม่ยั่งยืนอย่างมากจนสามารถบ่อนทำลายผลประโยชน์ในระยะยาวได้

อย่างไรก็ตาม เรือ 700 ลำจาก 1,135 ลำที่จดทะเบียนกับองค์การบริหารการประมงประจำภูมิภาคแปซิฟิกใต้หรือร้อยละ 62 ล้วนเป็นของจีน กองเรือที่ใหญ่ที่สุดสองกองเรือถัดไปมีจำนวน 127 และ 99 ลำ โดยติดธงชาติปานามาและเปรู ตามลำดับ

ความท้าทายที่เหลืออยู่

แม้ดูเหมือนว่ากองเรือจีนจะเลี่ยงการประมงที่ผิดกฎหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส และส่วนใหญ่จดทะเบียนกับองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีเหตุที่น่ากังวล เรือสามารถปิดช่องรับส่งผ่านสัญญาณระบบข้อมูลอัตโนมัติและแล่นแบบมืดได้ มีข้อกังวลเกี่ยวกับการติดธงชาติเรือของจีนไปยังประเทศอื่น ๆ และปัญหาเกี่ยวกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ ชื่อเรือที่คล้ายกันและการเปลี่ยนแปลงในการตรวจวัดเรือที่รายงานจะเพิ่มความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมาย สุดท้ายแล้ว แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่กิจกรรมประมงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะยั่งยืน

เพื่อเลี่ยงการละเมิดกฎหมายหรือการกระทำที่ดูเหมือนว่าจะผิดกฎหมาย กองเรือจีนอาจกระทำหนึ่งในสามสิ่งนี้ ได้แก่

  1. คงอยู่นอกริมขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  2. ส่งเฉพาะเรือมืดเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  3. ใช้เรือที่ไม่ได้ติดธงชาติจีนเพื่อช่วยให้มีการจับสัตว์น้ำจากภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลลึก

การรวมเรือจำนวนมากที่อยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเปิดระบบข้อมูลระบบแสดงตนอัตโนมัติ วิธีดังกล่าวอาจใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการรุกล้ำในมุมมืดใด ๆ ในน่านน้ำของหมู่เกาะกาลาปากอส หรือเพื่อปิดซ่อนการขนถ่ายสัตว์น้ำกับเรือลำอื่น ๆ ที่มองเห็นได้ทั่วไป ภาพของกิจกรรมประมงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2563 เมื่อพิจารณาเรือทุกลำ ไม่ใช่เฉพาะเรือจีน แสดงให้เห็นว่ามีเรือ 554 ลำที่ดำเนินการประมง ซึ่งหลายลำอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ภาพที่ 8)

การสำรวจข้อมูลยังระบุว่าเรือ 363 ลำเหล่านั้นดำเนินการประมงและได้พบกับเรือลำอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขนถ่ายสัตว์น้ำหรือกระบวนการจัดหาเชื้อเพลิงให้แก่เรือ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเรือที่พบกันส่วนใหญ่จะเป็นเรือของจีนกับจีน หรือเรือของเอกวาดอร์กับเอกวาดอร์ หากไม่รวมการพบกันเหล่านั้นและเรือโดยสารแล้ว มีเรือเพียง 20 ลำที่โดดเด่น ส่วนใหญ่เป็นเรือของจีนและเรือติดธงชาติปานามา และส่วนมากเป็นเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็งซึ่งเป็นประเภทที่ใช้ในการขนส่งปลา

“เรือบรรทุกสินค้าแช่แข็ง”

พฤติกรรมของเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็ง หรือ “เรือรีฟเฟอร์” แสดงให้เห็นว่ากองเรืออาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของเรือฟู่หยวนหลี่เล้ง 999 ตัวอย่างหนึ่งคือเรือเหอไท่เป็นของบริษัทจีน ซึ่งมีที่อยู่เดียวกันกับบริษัทจีนที่แล่นเรือดังกล่าว โดยที่อยู่นี้อยู่ในพื้นที่เดียวกับบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของและประกอบกิจการเรือสัญชาติจีนบางลำของกองเรือ บริษัทเหอไท่ติดธงในปานามาและไม่เคยข้ามไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอส อย่างไรก็ตาม มีการนัดพบกับเรือจีน 25 ลำจาก 364 ลำที่ทำการประมงในพื้นที่ โดยมีสองลำที่พบกันสองครั้ง (ภาพที่ 9) แม้จะไม่ได้หมายความว่าผิดกฎหมาย แต่โดยทั่วไปมองว่าการเปลี่ยนธงใหม่นี้เป็นวิธีที่จะแสวงหามาตรฐานระดับต่ำกว่าสำหรับการทำประมง จีนได้ประกาศมาตรการใหม่ในการควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลลึก แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการเหล่านี้จะครอบคลุมการขนถ่ายไปยังเรือที่เปลี่ยนธงไปยังประเทศอื่น ๆ หรือไม่

ตัวอย่างอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของเรือมืด และการวัดเรือที่ได้มีการปรับเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น เรือหมิงฮั่น 5 ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็งของฮ่องกง ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2563 มีการนัดพบกับกองเรือประมงจีน 42 ครั้ง รูปแบบพฤติกรรมบ่งบอกถึงกิจกรรมที่น่าสงสัย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม เรือหมิงฮั่น 5 ได้พบกับกองเรือจีนหกลำ และเปลี่ยนขนาดการกินน้ำลึกของเรือสามครั้งจาก 0.0 เป็น 6.8 เป็น 0.0 และกลับไปเป็น 6.8 ซึ่งเป็นกลวิธีที่บ่งบอกถึงความพยายามที่จะปิดบังขนาดการกินน้ำลึกที่แท้จริงของเรือ และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำประมงหรือการขนถ่ายสัตว์น้ำ ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่พบกันหกครั้งก็มีการเบี่ยงเบนเส้นทาง เมื่อดูการพบกันเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด แสดงให้เห็นว่าเรือกังไท่ 8 มีสถานะมืดเป็นเวลาสี่วัน ก่อนที่จะพบกับเรือหมิงฮั่น 5 และเรือหมิงโจว 622 มืดเป็นเวลา 10 ชั่วโมงในวันก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เรือหมิงฮั่น 5 เปลี่ยนขนาดการกินน้ำลึกระหว่าง 0.0 กับ 6.8 ทั้งสิ้น 5 ครั้ง และมีการพบกับเรือฟู่หยวนยู 7875 เป็นเวลา 14 ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลา 13 ชั่วโมงของวันก่อนหน้านั้นในสถานะมืด (ภาพที่ 10) เรือฟู่หยวนยู 7875 มีเจ้าของรายเดียวกับเรือฟู่หยวนยู 7862 ซึ่งเป็นเรือลำสุดท้ายที่ทราบว่าได้พบกับเรือฟู่หยวนหลี่เล้ง 999 ก่อนที่จะถูกสกัดจับในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560

ดังภาพที่ 10 แสดงให้เห็นว่าเรือหมิงฮั่น 5 ข้ามไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษของหมู่เกาะกาลาปากอสระหว่างวันที่ 10 ถึง 11 กรกฎาคม

การเคลื่อนที่นี้สอดคล้องกับเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็งลำอื่น ๆ เรือหยงฮั่น 3 เปลี่ยนขนาดการกินน้ำลึกซ้ำ ๆ ระหว่าง 6.5 ถึง 0.0 ทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าการพบกัน 19 ครั้งกับกองเรือจีนส่งผลกระทบต่อขนาดการกินน้ำลึกจริงอย่างไร เรือเชนจูอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 และเปลี่ยนขนาดการกินน้ำลึกอย่างต่อเนื่องระหว่าง 7.8 ถึง 0.0 ทำให้ไม่สามารถระบุผลกระทบจากการพบกับกองเรือ 55 ครั้งได้ เรือชุนซีเลง 6 ใช้ชื่อนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนการเป็นเจ้าของเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563 เท่านั้น หลังจากนั้น ไม่เคยมีการเข้าเทียบท่าเรือใด แต่ได้พบกับกองเรือจีน 50 ครั้งและเพิ่มขนาดการกินน้ำลึกครึ่งเมตร ก่อนที่จะมุ่งหน้ากลับไปยังจีนที่ร้อยละ 83 ของความจุตามระวางน้ำหนักเป็นตัน เรือยงเซียง 9 อยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 โดยไม่มีเทียบท่าเรือใด ซึ่งได้พบกับกองเรือ 18 ครั้งก่อนที่จะมุ่งหน้ากลับไปยังจีน

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามอย่างเป็นระบบในการขนถ่ายสัตว์น้ำในทะเลลึกเพื่อนำกลับไปยังจีน กลวิธีสร้างความสับสนอาจเป็นการผสมผสานความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายต่อชื่อเสียงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกฎหมายที่บังคับใช้

เรือบรรทุกน้ำมัน

จากเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็ง 20 ลำ มีเรือบรรทุกน้ำมัน 6 ลำ หนึ่งในนั้นไม่สามารถระบุตัวตนได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรือลำนี้ดำเนินการอย่างผิดกฎหมายแม้ว่าจะมีการพบกับเรือลู่หรงหยวนยู 939 ของกองเรือจีนเพียงสองครั้งก็ตาม เรือ บี. แปซิฟิกที่มีการพบปะเพียงครั้งเดียว เป็นเรือบรรทุกน้ำมันที่สร้างขึ้นรูปเดียวกันกับเรือบี. แอตแลนติก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการเติมน้ำมันแก่เรือในอ่าวกินี ที่น่าสนใจคือการพบกันครั้งนั้นเป็นการพบกับเรือฟู่หยวนยู 7876 ซึ่งเป็นเรือที่สร้างขึ้นรูปเดียวกันกับ 7875 และ 7862 เรือบรรทุกน้ำมัน ไฮ ซุน 26 มีการพบปะกัน 8 ครั้ง แต่เข้ามาในพื้นที่เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 และเดินทางออกในช่วงต้นเดือนกันยายนของปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจมีการใช้ประโยชน์จากจุดรวมพลของเรือในการเติมน้ำมันแก่เรือ ในทางกลับกันเรือบรรทุกน้ำมันสามลำที่เหลือ ได้แก่ ไห่ซิง (การพบกัน 39 ครั้ง), ไห่กงยู 303 (การพบกัน 69 ครั้ง) และโอเชียนสเปลนดิด (การพบกัน 89 ครั้ง) ซึ่งล้วนดูเหมือนจะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้บริการเฉพาะไม่เพียงแต่กองเรือจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรือบรรทุกสินค้าแช่แข็ง เช่น ชุนซีเหล็ง 6 ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีการขนถ่ายกับเรือประมงลำต่าง ๆ แม้ว่าการเติมน้ำมันแก่เรือในลักษณะดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงขอบเขตของการปฏิบัติการ เนื่องจากการรักษากองเรือจีนในทะเลจำเป็นต้องใช้เรือบริการที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงเรือบรรทุกน้ำมัน

ฝาแฝด

การปฏิบัติที่น่าสงสัยอีกประการหนึ่งคือ การใช้ชื่อเดียวกันสำหรับเรือต่างชนิดกัน ซึ่งอาจทำให้คำสั่งห้ามลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายทำได้ยากขึ้นโดยการปล่อยให้เรือต่าง ๆ กล่าวหากันและกัน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เรือจิวยี่ 921 ติดธงชาติสหราชอาณาจักรเพื่อป้องกันความสับสนกับเรือจิวยี่ 921 ที่ติดธงชาติจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือจีน เรืออังกฤษดังกล่าวมีความยาว 33 เมตร ขณะที่เรือของจีนมีความยาว 51 เมตร แม้ว่าจะไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของเรืออังกฤษลำกล่าวได้ แต่ก็มีเหตุผลมากมายที่จะสงสัยว่าเรือดังกล่าวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเรือสัญชาติจีนชื่อเดียวกัน เนื่องจากเรือทั้งสองลำพบกัน 19 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2563

ในอีกสามกรณีอื่น ๆ ได้แก่ เรือต่าง ๆ มีชื่อและหมายเลขประจำตัวขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศเหมือนกัน เรือชางอัน 168 และเรือชางไถ่ 812 ได้ใช้ชื่อและหมายเลขประจำตัวขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศร่วมกันกับเรืออีกลำหนึ่ง ทั้งนี้ เรือเหล่านี้มีหมายเลขประจำตัวของหน่วยบริการทางทะเลเคลื่อนที่ที่แตกต่างกัน ชื่อจินไห่ 779 ถูกนำไปใช้โดยเรือประมงสามลำในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแต่ละลำยังใช้หมายเลขหมายเลขประจำตัวขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศและหน่วยบริการทางทะเลเคลื่อนที่เหมือนกันอีกด้วย การใช้ชื่อและหมายเลขประจำตัวที่เหมือนกันโดยเรือหลายลำถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเรือสองลำที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน ได้แก่ เจียเต๋อ 12 และเจียต้า 12 ซึ่งมีเพียงลำแรกเท่านั้นที่อยู่ในรายชื่อเรือจดทะเบียนในองค์การบริหารการประมงประจำภูมิภาคแปซิฟิกใต้

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การวิเคราะห์นี้ได้ตรวจสอบกองเรือจีนในบริเวณโดยรอบหมู่เกาะกาลาปากอส เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมระดับมหภาคเมื่อเวลาผ่านไป รวมทั้งตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและกลวิธีล่าสุดของกองเรือ อีกทั้งเพื่อตรวจสอบว่ามีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเกิดขึ้นหรือไม่ จากกรณีส่วนใหญ่ สิ่งที่ตรวจพบอาจไม่ผิดกฎหมายและกองเรือจีนกำลังดำเนินการอย่างชัดเจนเพื่อให้ภาพที่ปรากฏคือมีการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าบางส่วนของการปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นจริง ประเทศจีนให้ความสำคัญกับชื่อเสียงระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ความรู้เกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในจีนกำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน

กิจกรรมการทำประมงในทะเลลึกนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษกาลาปากอสนั้นไม่ได้รับการควบคุม และความพยายามในการทำประมงทั้งหมดดูเหมือนจะไม่ยั่งยืนและขาดความรับผิดชอบจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม กองเรือดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถปฏิบัติการได้ หากไม่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างมหาศาลจากรัฐบาลจีนทุกปี ใน พ.ศ. 2561 จีนได้มอบเงินสนับสนุนด้านการทำประมงแก่กองเรือประมาณร้อยละ 21 จากเงินอุดหนุนด้านการทำประมงทั่วโลกทั้งหมด อีกทั้งเงินอุดหนุนที่เป็นอันตรายทั่วโลกร้อยละ 27 งบประมาณก้อนใหญ่ของรัฐบาลจีนส่งผลให้กองเรือประมงของตนทั่วโลกมีขนาดใหญ่กว่ากองเรืออื่น ๆ

การตอบสนองต่อการทำประมงในทะเลลึกจะต้องเป็นไปทั่วโลก ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการประมงในทะเลลึกไม่มีความแข็งแกร่งเท่ากับการประมงชายฝั่ง ดังนั้นแนวทางป้องกันจึงมีความสำคัญ การทำประมงที่ไม่ยั่งยืนไม่เพียงแต่คุกคามความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาวและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังอาจลดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ซึ่งอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ในระดับชาติ โครงการติดตามตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ สามารถขยายความครอบคลุมไปถึงปลาหมึกด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกองเรือเดินสมุทร ในระดับภูมิภาค องค์กรต่าง ๆ เช่น Comision Permanente del Pacifico Sur ซึ่งเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ด้านการประมงและการจัดการร่วมของชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู สามารถทำงานร่วมกันในการจัดการและการคุ้มครองทางทะเล ในระดับนานาชาติ เราต้องสนับสนุนความพยายามขององค์การสหประชาชาติในการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลของประเทศ นอกจากนี้ ผลการเจรจาหารือขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับเงินอุดหนุนการทำประมงก็จะมีความสำคัญเช่นกัน จีนกำลังแสวงหาการยกเว้น โดยให้เหตุผลว่าจีนยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ในเว็บไซต์ของศูนย์ความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ ข้อมูลและภาพจากวินด์วอร์ดสำหรับรูปที่ 1 และ 5-11 โดยแก้ไขเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button