ติดอันดับ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การฝึกซ้อมของกองทัพเรือมาเลเซียเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

เบนาร์นิวส์

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การทดสอบยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือรบด้วยกระสุนจริงที่ประสบความสำเร็จสามครั้งของมาเลเซียเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการบุกรุกเข้าไปในเขตแดนทะเลจีนใต้

การฝึกเทมมิงซารีของกองทัพเรือมาเลเซียเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นการดำเนินการหลังจากการบุกรุกของเครื่องบินกองทัพจีน 16 ลำเข้าสู่น่านฟ้าทางทะเลของมาเลเซียเหนือทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาทเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 นายหล่าย ยิว เหมิง นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค กล่าว

“เป็นที่แน่ชัดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถและเจตจำนงแห่งชาติของมาเลเซียในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนผ่านการฝึกซ้อมดังเช่น เทมมิงซารี” นายหล่าย รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งมาเลเซียซาบาห์ กล่าว

“สิ่งนี้มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการบินล้ำเขตแดนที่เกือบจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ทางอากาศของมาเลเซียเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา” “ผู้สังเกตการณ์เสนอว่า นั่นอาจเป็นความพยายามที่เป็นไปได้โดยกองทัพจีนในการทดสอบความพร้อมรบและขีดความสามารถในการปฏิบัติการของมาเลเซีย”

การฝึกเทมมิงซารี 6 วัน ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ถือเป็นการฝึกซ้อมทางสงครามครั้งแรกของมาเลเซียนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มขึ้น มาเลเซียเคยจัดการฝึกซ้อมที่คล้ายกันนี้ใน พ.ศ. 2557 และ 2562

ในระหว่างการฝึกซ้อม เรือดำน้ำเคดี ทุน ราซัก ของกองทัพเรือมาเลเซียประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธต่อต้านเรือเอ็กซ์โซเซท เอสเอ็ม39 ในขณะที่เรือของกองทัพเรือสองลำอันได้แก่ เคดี เลกคิว และเคดี เลกเคียร์ ต่างปล่อยขีปนาวุธนำวิถีเอ็กซ์โซเซท เอ็มเอ็ม40

เอ็มเอ็ม40 สามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึง 56 กิโลเมตร และเอสเอ็ม39 มีระยะ 35 กิโลเมตร

การฝึกซ้อมดังกล่าวประกอบไปด้วยเรือ 9 ลำ เรือรบเร็ว 5 ลำ เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ซูเปอร์ลิงซ์ 2 ลำ และเครื่องบินขับไล่เอฟ/เอ-18ดี ฮอร์เน็คจากกองทัพอากาศมาเลเซีย รวมถึงทรัพย์สินของสำนักงานบังคับทางทะเลมาเลเซีย

สมาชิกกองกำลังความมั่นคงมาเลเซียมากกว่า 1,000 คนได้เข้าร่วมในการฝึกซ้อม

นายหล่ายกล่าวว่า การฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอ้างสิทธิ์เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยเป็นคำยืนยันที่ถูกปฏิเสธเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยศาลระหว่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2559

“การฝึกซ้อมที่ประสบความสำเร็จจะส่งข้อความที่ชัดเจนไปยังผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้รายอื่น ๆ รวมทั้งจีนว่า มาเลเซียไม่ใช่ประเทศที่ยอมจำนนง่ายและไม่ได้ขาดการเตรียมพร้อมที่จะใช้กำลังหากจำเป็นจริง ๆ ทั้งนี้เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามภายนอกที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้จะมีความไม่สมมาตรทางอำนาจอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับประเทศอย่างจีนก็ตาม” นายหล่าย กล่าว

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 อากาศยานของของทัพปลดปล่อยประชาชนได้บินเข้ามาภายในระยะ 60 ไมล์ทะเลของเบติง ปาติงกิ อาลีที่บริหารโดยรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อสันดอนลูโคเนีย โดยรัฐบาลจีนอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนของตนในภูมิภาคทางทะเล

การบุกครั้งนี้กระตุ้นให้มาเลเซียส่งเครื่องบินรบฮอว์ก 20 ลำจากฐานทัพอากาศลาบวน หลังจากที่อากาศยานของกองทัพปลดปล่อยประชาชนไม่ตอบสนองต่อผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศ

นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนได้คุกคามโครงการน้ำมันและก๊าซของมาเลเซียในทะเลจีนใต้นอกรัฐซาราวักบนเกาะบอร์เนียว ตามรายงานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยหน่วยโครงการความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในสหรัฐอเมริกา

“นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความดื้อดึงของรัฐบาลจีนในการท้าทายกิจกรรมทางน้ำมันและก๊าซของประเทศเพื่อนบ้านในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเหล่านั้น” หน่วยโครงการความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ กล่าวในรายงานชื่อ “การโต้แย้งที่คาซาวารี: อีกโครงการก๊าซของมาเลเซียที่ต้องเผชิญแรงกดดัน” “และการบุกรุกทางอากาศที่แสร้งว่าเป็นการลาดตระเวนทางอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ บ่งชี้ให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาลจีนในการเข้าร่วมในการขยายอำนาจแบบคู่ขนานเพื่อกดดันผู้อ้างสิทธิ์รายอื่น ๆ ให้ถอยหลังไป”

การอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนที่ถูกปฏิเสธอย่างกว้างขวางนั้นรวมถึงน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษของบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม แม้อินโดนีเซียจะไม่ได้ถือว่าตนเป็นฝ่ายหนึ่งที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่รัฐบาลจีนก็อ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของทะเลจีนใต้ส่วนหนึ่งที่ซ้อนทับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 มาเลเซียได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมความร่วมมือและการฝึกอบรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปีกับสหรัฐฯ และอีก 20 ประเทศ

นายหล่ายกล่าวว่า การฝึกซ้อมแบบพหุภาคีดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในนโยบาย “การป้องกันความเสี่ยง” ของมาเลเซีย ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งเสริมความเข้มแข็งให้ขีดความสามารถด้านกลาโหมของประเทศ ผ่านการร่วมมือกับหุ้นส่วนด้านกลาโหมแบบดั้งเดิม เพื่อต่อต้านภัยคุกคามด้านความมั่นคงและความท้าทายท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค นายหล่าย กล่าว (ภาพ: ซูเปอร์ลิงซ์ของกองทัพเรือมาเลเซียบินเหนือเรือฟริเกต เคดี เจบัต ชั้นเลกเคียร์ที่ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีของกองทัพเรือมาเลเซีย ในระหว่างการฝึกซ้อมกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของสหราชอาณาจักรในทะเลจีนใต้ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564)

นายหล่ายกล่าวว่า “นอกเหนือจากการยับยั้งการโจมตีของจีนที่อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้แล้ว การซ้อมรบพหุภาคีที่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมจะสร้างความมั่นใจเพิ่มเติมให้แก่ประเทศในภูมิภาคอย่างแน่นอน”

 

ภาพจาก: พลเรือเจเนียล อเดมส์/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button