ติดอันดับ

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเผยว่า การต่ออายุการใช้งานเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้น “เป็นปัญหาอย่างยิ่ง”

รอยเตอร์

ศูนย์เฝ้าระวังด้านปรมาณูขององค์การสหประชาชาติระบุในรายงานประจำปี โดยเน้นย้ำถึงความพยายามของชาติที่เป็นประเทศปิดในการขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์ว่า เกาหลีเหนือมีท่าทีจะเริ่มต้นใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่เชื่อกันในวงกว้างว่าเป็นการกระทำเพื่อผลิตพลูโตเนียมสำหรับอาวุธนิวเคลียร์

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ว่าสัญญาณการทำงานของเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ซึ่งจากที่ปรากฏสามารถผลิตพลูโทเนียมเกรดอาวุธได้นั้น เป็นสิ่งแรกที่ตรวจพบตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2561

รายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกล่าวถึงเตาปฏิกรณ์ที่ยองบยอนซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้าง ณ ใจกลางของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไว้ว่า “ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 มีข้อบ่งชี้รวมถึงการปล่อยน้ำระบายความร้อนที่สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าว” (ภาพ: ประชาชนที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รับชมรายการข่าวที่แสดงภาพดาวเทียมของแหล่งนิวเคลียร์ยองบยอนในเกาหลีเหนือ)

นายเดวิด อัลไบรท์ ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ กล่าวว่า พลูโตเนียมที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยให้เกาหลีเหนือผลิตอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กลงเพื่อให้เหมาะสมกับขีปนาวุธได้

นายอัลไบรท์กล่าวว่า “ประเด็นสำคัญคือเกาหลีเหนือต้องการปรับปรุงจำนวนและคุณภาพอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่”

แม้ข่าวกรองที่มีไม่มากนักจะทำให้ไม่สามารถทราบจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้ นายอัลไบรท์ก็ได้ประเมินว่าประเทศนี้มีกำลังการผลิตวัสดุสำหรับระเบิดสี่ถึงหกลูกต่อปี

คณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า รายงานดังกล่าว “เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเจรจาและในทางการทูต” นางเจน ซากี เลขาธิการข่าวประจำทำเนียบขาว กล่าวในการสรุปข่าวว่า สหรัฐฯ ยังคงเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวและการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลี

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยังคงไม่สามารถเข้าถึงเกาหลีเหนือได้นับตั้งแต่รัฐบาลเกาหลีเหนือไล่ผู้ตรวจสอบออกใน พ.ศ. 2552 ในเวลาต่อมารัฐบาลได้เร่งรัดเดินหน้าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และในไม่ช้าก็กลับมาทำการทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้ง การทดสอบนิวเคลียร์ครั้งล่าสุดคือใน พ.ศ. 2560

ขณะนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้จับตาดูเกาหลีเหนือผ่านทางภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลัก

นางเจนนี่ ทาวน์ ผู้อำนวยการกลุ่ม 38 นอร์ทที่มีหน้าที่จับตาดูเกาหลีเหนือ เผยว่า ภาพถ่ายดาวเทียมเชิงพาณิชย์แสดงให้เห็นถึงการปล่อยน้ำ ซึ่งสนับสนุนข้อสรุปว่าเตาปฏิกรณ์กำลังทำงานอีกครั้ง

“ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเหตุใดก่อนหน้านี้เครื่องปฏิกรณ์จึงไม่ทำงาน แม้ว่าจะมีการทำงานอย่างต่อเนื่องในอ่างเก็บน้ำในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อให้แน่ใจว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับระบบระบายความร้อน” นางทาวน์กล่าว “เป็นกำหนดเวลาที่ดูแปลก ๆ สำหรับฉัน เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มของเหตุอุทกภัยในอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์”

กลุ่ม 38 นอร์ทได้ระบุก่อนหน้านี้แล้วว่า อุทกภัยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 อาจสร้างความเสียหายให้กับโรงสูบน้ำที่เชื่อมโยงกับเมืองยองบยอน ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าระบบระบายความร้อนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นเป็นภัยต่อสภาพอากาศมากเพียงใด

จนถึงขณะนี้ใน พ.ศ. 2564 แม้ว่าจะมีรายงานจากสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือถึงฝนที่ตกหนักตามฤดูกาลจนทำให้เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ แต่กลับไม่มีรายงานเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นในศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ยองบยอนแต่อย่างใด

ในการประชุมสุดยอดผู้นำที่เวียดนามเมื่อ พ.ศ. 2562 ที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น นายคิม จองอึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ได้ยื่นข้อเสนอที่จะรื้อถอนโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอนเพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติหลายประการจากโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของรัฐบาลเกาหลีเหนือ

สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากโรงงานยองบยอนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเท่านั้น และข้อเสนอของนายคิมยังไม่คุ้มค่าพอที่จะยินยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ได้

รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนเผยว่า ได้ติดต่อไปยังเกาหลีเหนือเพื่อเสนอการเจรจา แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือกล่าวว่าไม่ต้องการจะเจรจาหากสหรัฐฯ ไม่ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ชูข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่โรงงานนิวเคลียร์ยองบยอนจะกลับมาปฏิบัติงานอีกครั้ง เพื่อแยกพลูโทเนียมออกจากเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้แล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ได้

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้ระบุในรายงานประจำปีของตนว่า ระยะเวลาของการทำงานที่เห็นได้ชัดเจนนั้นอยู่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนกรกฎาคม โดยแสดงให้เห็นว่ามีการจัดการกับเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วทั้งหมด ซึ่งตรงกันข้ามกับเวลาสำหรับการบำบัดของเสียหรือการบำรุงรักษาที่สั้นกว่า

อีกทั้งยังระบุว่า “ข้อบ่งชี้ใหม่ของการดำเนินงานของเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์และห้องปฏิบัติการทางรังสีเคมีซึ่งเป็นการแปรรูปซ้ำนั้นเป็นปัญหาอย่างยิ่ง”

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยังบอกอีกว่า มีข้อบ่งชี้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการทำเหมืองแร่และกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปที่เหมืองและโรงงานยูเรเนียมในเปียงซาน รวมถึงความเคลื่อนไหวที่โรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมต้องสงสัยที่แอบแฝงในคังซอน

นายโจชัวร์ พอลแล็ค นักวิจัยของศูนย์เจมส์ มาร์ตินเพื่อการศึกษาการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ กล่าวว่า มั่นใจได้เลยว่าเกาหลีเหนือมีความตั้งใจที่จะใช้พลูโตเนียมที่แยกออกมาใหม่สำหรับการทำอาวุธ นายพอลแล็คยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าในการกล่าวสุนทรพจน์ พ.ศ. 2564 นายคิมได้เอ่ยรายชื่ออาวุธขั้นสูงมากมายที่อยู่ระหว่างการพัฒนา รวมถึงระเบิดนิวเคลียร์อื่น ๆ มากขึ้นด้วย

นายพอลแล็คยังกล่าวอีกว่า “ดูเหมือนว่าความกระหายของเกาหลีเหนือที่มีต่อหัวรบจะยังไม่ลดลง”

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button