ติดอันดับ

จีนขยายฐานที่มั่นในบังกลาเทศ ก่อให้เกิดข้อสงสัยใหม่ ๆ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ข้อกังขาเกี่ยวกับการกลับมาสนใจของสาธารณรัฐประชาชนจีนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของบังกลาเทศ กำลังเพิ่มขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จีนมีส่วนร่วมในโครงการขยายลานบินมูลค่า 184 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6 พันล้านบาท) ในค็อกซ์บาซาร์ เพื่อให้อากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงอากาศยานของกองทัพสามารถลงจอดและเติมเชื้อเพลิง กำลังก่อความกังวลขึ้นอีกครั้ง นักวิเคราะห์กล่าว

“รัฐบาลกำลังระดมทุนโครงการเพื่อขยายลานบินที่มีอยู่ เราได้มอบหมายให้บริษัทจีนสองแห่งเปลี่ยนท่าอากาศยานภายในประเทศให้เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศ” นายมาห์บับ อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบินพลเรือนของบังกลาเทศ กล่าวกับ เบนาร์นิวส์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

ทางการได้ทำสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กับบริษัทที่จีนเป็นเจ้าของทั้งสองแห่ง ได้แก่ บริษัทไชน่า ซิวิล เอ็นจีเนียริง คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น เพื่อสร้างลานบินที่ยาวที่สุดในบังกลาเทศ และบริษัทฉางเจียง อี้ชาง วอเตอร์เวย์ เอ็นจีเนียริง เพื่อขยายความยาวประมาณ 1,700 ฟุต (518 เมตร) ผ่านโครงการขุดลอกขนาดใหญ่ในอ่าวเบงกอล (ภาพ: ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564 เผยให้เห็นท่าอากาศยานค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศ)

บริษัทไชน่า ซิวิล เอ็นจีเนียริง คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ที่มีสัญญาท่าอากาศยาน การขุดลอก และงานเดินเรือใน 105 ประเทศ อยู่ในตำแหน่งบริษัทขุดลอกที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองในบังกลาเทศ และยังมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมเมืองโดฮาซาริทางตะวันออกเฉียงใต้กับค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ ตามรายงานของเว็บไซต์เดลี่ซัน

แม้ว่าการขยายลานบินจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกเชิงท่องเที่ยว แต่จีนมีแนวโน้มเล็งเห็นสนามบินเพื่อการใช้ทางทหาร เนื่องด้วยค็อกซ์บาซาร์ไม่ใช่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว นักวิเคราะห์กล่าว

เที่ยวบินที่เดินทางไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิกสามารถเติมเชื้อเพลิงได้ที่สนามบินนี้ ซึ่งอยู่ในเส้นทางจากตะวันออกกลาง นายฟารุก ข่าน พันเอกผู้เกษียณอายุและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการบินพลเรือนบังกลาเทศ กล่าวกับ เบนาร์นิวส์

ภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนปรารถนามาเนิ่นนานที่จะเชื่อมมณฑลยูนนานเข้ากับเอเชียใต้ด้วยการก่อสร้างถนนจากคุนหมิงผ่านค็อกซ์บาซาร์เพื่อไปยังโกลกาตา ประเทศอินเดีย เส้นทางดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ เค-ทู-เค จะช่วยให้บังกลาเทศสามารถเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจระหว่างจีนกับปากีสถานได้

อินเดียและประเทศอื่น ๆ เฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวที่อุกอาจนี้ของจีน อินเดียกังวลเป็นพิเศษกับการที่จีนพลิกแพลงเพื่อวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์รอบมหาสมุทรอินเดีย ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนได้ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศและท่าเรือกวาดาร์ของปากีสถาน ซึ่งอินเดียเกรงว่าจีนจะส่งเรือดำน้ำเข้ามาประจำการ

โดยเฉพาะโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักปรากฏแล้วว่ามีความไม่ยั่งยืนทางการเงินและทำลายความสัมพันธ์ทางการเมือง

บางทีหายนะที่ทราบกันดีที่สุดคงหนีไม่พ้นท่าเรือฮัมบันโตตาของศรีลังกา ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาจำต้องยกให้จีนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสร้างภาระให้ศรีลังกาและประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เช่น เมียนมาและเนปาลซึ่งมีภาระหนี้สินที่อาจไม่สามารถชำระคืนได้ ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจอธิปไตยและเกิดการแทรกแซงของจีนเพิ่มขึ้นในกิจการต่าง ๆ

แม้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคและทั่วโลกจะระแวดระวังเพิ่มมากขึ้นในการยอมรับเงินช่วยเหลือจากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบสินเชื่อสัมปทาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกี่ยวพันกับการระบาดของโควิด-19 ได้กดดันให้ประเทศต่าง ๆ ไตร่ตรองกับดักจูงใจของจีนอีกครั้ง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บังกลาเทศส่งต่อหลายโครงการให้แก่ญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่เป็นการตอบสนองต่อรายงานเกี่ยวกับความยุ่งยากของจีน รวมถึงการทุจริต ความล่าช้าในการปฏิบัติงาน การขาดแคลนเงินทุน และความขัดแย้งด้านความมั่นคงของชาติ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 จากการอ้างอิงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม บังกลาเทศล้มเลิกแผนที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกในค็อกซ์บาซาร์ร่วมกับจีนที่เกาะโซนาเดีย และดำเนินโครงการที่มีญี่ปุ่นหนุนหลังห่างออกไป 25 กิโลเมตรในมาตาบารี หนังสือพิมพ์ดาห์กาทริบูนรายงาน

ดูเหมือนจีนกำลังกอบโกยประโยชน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมา ในขณะที่ให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยแก่ประชาชนที่มีความเสี่ยง เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 บีบีซีรายงานว่าจีนปกปิดแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ประณามการรัฐประหารของทหารในพม่า

นอกจากนี้ จีนยังมีส่วนน้อยนิดในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเกือบ 900,000 คนในบังกลาเทศ ซึ่งหลบหนีจากความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายประมาณ 34 แห่งในเขตค็อกซ์บาซาร์

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดในการบรรเทาสถานการณ์ ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย คณะกรรมาธิการยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดา มูลนิธิกาตาร์ทานี เยอรมนี ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และตุรกี ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างสำคัญเช่นเดียวกัน

ใน พ.ศ. 2564 นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5 พันล้านบาท) “ในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือแนวหน้าในการรับมือวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา สหรัฐอเมริกากำลังช่วยสนับสนุนผู้ประสบภัยจากการกระทำป่าเถื่อนและประชาชนอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงและอยู่ในสถานการณ์คับขัน” นายบลิงเคนกล่าวในแถลงการณ์เดือนพฤษภาคม “ด้วยการจัดหาเงินทุนใหม่นี้ ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทั้งหมดของเราสำหรับผู้ประสบเคราะห์จากวิกฤตในพม่า บังกลาเทศ และที่อื่น ๆ ในภูมิภาคนับตั้งแต่ความรุนแรงโหดเหี้ยมจากฝีมือกองทัพพม่าเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 มีมูลค่ามากกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท) รวมถึงกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) สำหรับโครงการภายในบังกลาเทศ”

 

ภาพจาก: ดิจิทัล โกลบ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button