กระบอกเสียงแผนก

ความพยายาม ด้านการรักษาความปลอดภัยทางทะเล เติบโตขึ้นใน ฟิลิปปินส์

ดร. สก็อตต์ เอ็ดเวิร์ด

ฟิลิปปินส์เผชิญกับปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยมากมาย อาทิ การลักพาตัวที่สนับสนุนกิจกรรมการก่อการร้าย การกระทำอันเป็นโจรสลัดในพื้นที่ที่มีการขนส่งสินค้ามูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) การค้ายาเสพติด อาวุธ และมนุษย์, การลักลอบนำเข้าบุหรี่ แอลกอฮอล์ และเชื้อเพลิง ตลอดจนการประมงผิดกฎหมายที่ไม่เพียงแต่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเล แต่ยังทำลายเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกองทัพเรือฟิลิปปินส์ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่ดั้งเดิมของภูมิรัฐศาสตร์ในระดับนโยบาย ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจเบี่ยงเบนความสนใจจากอาชญากรรมข้ามชาติจำนวนมากซึ่งเกิดขึ้นในน่านน้ำของฟิลิปปินส์

ความหลากหลายของภัยคุกคามทางทะเลทำให้การบังคับใช้กฎหมายซับซ้อนขึ้น กองทัพเรือ กองกำลังรักษาชายฝั่ง กองตำรวจทางทะเลแห่งชาติ และศูนย์เฝ้าระวังชายฝั่งแห่งชาติ เป็นหัวใจหลักของเครือข่ายสถาบันที่ได้รับมอบอำนาจให้มีส่วนร่วมด้านความมั่นคงทางทะเล โดยหน่วยงานทั้งหมดรวมตัวกันด้วยความกังวลหลักที่มีร่วมกัน ซึ่งก็คือ การขาดความสามารถ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสินทรัพย์ทางกายภาพเป็นส่วนใหญ่ การวิ่งเต้นเพื่อทรัพยากรที่มากขึ้นมักจะเป็นเรื่องยาก และกองทัพเรือยังคงเป็นผู้ควบคุมงบประมาณด้านความมั่นคงทางทะเล ดังนั้น กองกำลังรักษาชายฝั่งและสมาชิกของกองทัพเรือจึงเสนอแนะว่า การศึกษาและการสนับสนุนมีความจำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับขอบเขตของปัญหาความมั่นคงทางทะเล จนถึงขณะนี้ การศึกษาและการสนับสนุนได้รับการดำเนินการผ่านโครงการเดือนแห่งการสร้างความตะหนักรู้ทางทะเลและน่านน้ำหมู่เกาะ ซึ่งนำโดยสภาหน่วยยามชายฝั่งระดับชาติ

เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์แล่นผ่านเรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งจีนในระหว่างการฝึกซ้อมค้นหาและกู้ภัยระหว่างกองกำลังรักษาชายฝั่งของฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ในบริเวณใกล้กับแนวปะการังสการ์โบโรห์ในทะเลจีนใต้ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักดีว่าความร่วมมือที่ดีขึ้นจะสามารถช่วยลดช่องว่างด้านความสามารถผ่านการรวมทรัพยากรได้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านการประสานงานและความสับสนเกี่ยวกับบทบาทที่ทับซ้อนกันยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กองทัพเรือและกองกำลังรักษาชายฝั่งของฟิลิปปินส์แยกตัวออกจากกันใน พ.ศ. 2541 และมักพบว่าทั้งสองฝ่ายกำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดความโปร่งใส ตลอดจนความตึงเครียดระหว่างหน่วยงานในบางครั้ง

การเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มเกี่ยวกับการประสานงานเกิดขึ้นเมื่อเร็วนี้ ๆ แม้จะมีประเด็นปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีระหว่างกองทัพเรือและกองกำลังรักษาชายฝั่งซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสองกำลังมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีการพัฒนา 2 ประการที่โดดเด่น

ประการแรกคือ สภาหน่วยยามชายฝั่งระดับชาติได้รับการจัดตั้งใน พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นศูนย์การติดต่อสำหรับการประสานงานด้านความมั่นคงทางทะเล แม้ว่าสภาหน่วยยามชายฝั่งระดับชาติจะขาดศักยภาพในการบังคับบัญชา (เช่น เมื่อเทียบกับศูนย์ประสานงานการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของไทย) แต่ก็ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานระหว่างหน่วยงานได้โดยการทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางและแหล่งความรู้เกี่ยวกับน่านน้ำเขตแดนของฟิลิปปินส์ สภาหน่วยยามชายฝั่งระดับชาติดำเนินการขยายระบบเฝ้าระวังชายฝั่ง ซึ่งเป็นแกนหลักในการสร้างความตระหนักรู้ด้านอาณาเขตทางทะเลของฟิลิปปินส์

ประการที่สองคือ มีการจัดทำระเบียบการระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกในความร่วมมือเพิ่มเติม การพัฒนาดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานต่อนโยบายความมั่นคงทางทะเลของฟิลิปปินส์ แม้ว่าจะขาดยุทธศาสตร์ทางทะเลระดับชาติเต็มรูปแบบก็ตามที

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลได้กลายเป็นจุดสนใจของฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน กองกำลังรักษาชายฝั่งได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการกลุ่มผู้ประสานงานเกี่ยวกับ

อาชญากรรมทางทะเลในทะเลซูลูและเซเลบีส ซึ่งร่วมเป็นเจ้าภาพโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลกขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางทะเลจากทั่วทั้งภูมิภาคและลงนามในบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซีย ข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบด้วยการลาดตระเวนร่วมในทะเลซูลูและเซเลบีสและการแบ่งปันข้อมูล กำลังบรรลุผลแม้จะมีข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยอย่างต่อเนื่องก็ตาม

โครงการริเริ่มเหล่านี้ส่งผลให้เกิดแนวโน้มในแง่ดีเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะมีช่องว่างด้านขีดความสามารถที่คาดหวังไว้ในแง่ของสินทรัพย์ ฟิลิปปินส์จะสามารถบรรลุความมั่นคงทางทะเลได้ดีขึ้น หากประเทศเดินหน้าเสริมสร้างการประสานงานทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

สมาชิกของหน่วยตำรวจทางทะเลแห่งชาติ สภาหน่วยยามชายฝั่งระดับชาติ กองทัพเรือ และกองกำลังรักษาชายฝั่ง ได้โต้แย้งว่าขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือกลยุทธ์ที่สามารถระบุปัญหาและลำดับความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยทางทะเลของฟิลิปปินส์ได้อย่างชัดเจน ตลอดจนแสดงบทบาทของหน่วยงานทางทะเลในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะช่วยผลักดันประเด็นด้านความมั่นคงทางทะเลได้ในวงกว้างขึ้นนอกเหนือจากภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนสามารถบรรเทาอุปสรรคในการประสานงานโดยการแสดงให้เห็นถึงจุดเชื่อมโยงผลประโยชน์ร่วมกัน การสร้างขอบเขตความรับผิดชอบ และการเสนอพื้นฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับการดำเนินการต่าง ๆ ในอนาคต

ดร. สก็อต เอ็ดเวิร์ด เป็นผู้ร่วมวิจัยกับเซฟซีส์ เครือข่ายนักวิจัยที่ตรวจสอบความมั่นคงทางทะเล สมุทราภิบาล และอาชญากรรมทางทะเล ดร. เอ็ดเวิร์ดจัดทำบทความนี้ภายหลังการเดินทางเพื่อศึกษาวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ โดยมุ่งเน้นที่ผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย เซฟซีส์ตีพิมพ์บทความนี้เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยแก้ไขเพื่อให้เข้ากับรูปแบบของ ฟอรัม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button