ติดอันดับ

กฎหมายจราจรทางทะเลฉบับใหม่ของจีนเป็น “ระเบิดเวลา” ต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

พันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ปฏิเสธอย่างรวดเร็วและถือว่ากฎหมายฉบับใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นโมฆะ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้กองกำลังทางทะเลของจีนควบคุมเรือต่างชาติในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทแห่งนี้

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กฎข้อบังคับซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 ยังเป็นความพยายามอีกครั้งของจีนที่จะผลักดันการอ้างสิทธิ์ทางทะเลที่กว้างขวางในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ โดยละเลยกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ภายใต้การแก้ไขกฎหมายความปลอดภัยการจราจรทางทะเลของจีน ได้มีการระบุว่า “ผู้ควบคุมเรือดำน้ำ เรือนิวเคลียร์ เรือที่บรรทุกวัสดุกัมมันตรังสี และเรือที่บรรทุกน้ำมัน สารเคมี ก๊าซธรรมชาติเหลว และสารที่เป็นพิษและเป็นอันตรายอื่น ๆ” ต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางไปยังน่านน้ำที่จีนอ้างสิทธิ์ ตามรายงานของสำนักข่าวเพรสทรัสต์ออฟอินเดีย

ข้อมูลที่สอบถามรวมถึงสัญญาณเรียกขานของเรือ ตำแหน่ง ท่าเรือถัดไปที่จะเทียบท่า และเวลาที่จะไปถึงโดยประมาณ

“สิ่งนี้ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของจีนในการสร้างตาข่ายกฎหมายเหนือพื้นที่ที่จีนอ้างสิทธิ์… เพื่อทำให้การอ้างสิทธิ์เหล่านี้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ” นายโรเบิร์ต วอร์ด นักวิจัยอาวุโสด้านการศึกษาความมั่นคงของญี่ปุ่นที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ในลอนดอน กล่าวกับซีเอ็นเอ็น “การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นเรื่องยาก แต่นั่นอาจมีความสำคัญสำหรับรัฐบาลจีนน้อยกว่าการสะสมสิ่งที่รัฐบาลมองว่าเป็นการสนับสนุนทางกฎหมายอย่างช้า ๆ”

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลจำกัดน่านน้ำชายฝั่งของรัฐไว้ที่ 12 ไมล์ทะเล และระบุว่า “เรือของทุกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐชายฝั่งหรือรัฐที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล จะได้รับสิทธิการเดินทางผ่านทะเลที่เป็นอาณาเขตโดยบริสุทธิ์”

จีน ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญา พ.ศ. 2525 อ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ บนพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าเส้นประเก้าเส้น การอ้างสิทธิ์เหล่านี้ได้รับการโต้แย้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม และได้รับการปฏิเสธจากคณะตุลาการระหว่างประเทศโดยเสียงข้างมากใน พ.ศ. 2559

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงดื้อดึงโดยใช้ยุทธวิธีชวนทะเลาะ ซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะขยายน่านน้ำที่เป็นอาณาเขตของตนโดยการสร้างเกาะเทียมและสร้างป้อมปราการด้วยสิ่งปลูกสร้างทางทหาร เรือของจีนถูกกล่าวหาว่าพุ่งชนและจมเรือของประเทศอื่น ๆ ขัดขวางการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท และบุกรุกเขตเศรษฐกิจพิเศษของผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้อื่น ๆ

ในช่วงต้น พ.ศ. 2564 จีนได้ขยายอำนาจแก่กองกำลังรักษาชายฝั่งในการใช้กำลังกับเรือต่างประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกเขตอำนาจศาลของจีน ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า จีนได้ทำการแก้ไขการจราจรทางทะเลให้มีความคลุมเครือเพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

“กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กฎหมายใหม่ของจีนเป็นรูปแบบของการบังคับใช้กฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับกฎหมายภายในประเทศจีนให้สูงกว่ากฎหมายระหว่างประเทศ และตอกย้ำข้อเรียกร้องของจีนที่มีต่อ ‘อำนาจอธิปไตยที่ไม่อาจโต้แย้งได้’ ” นายคาร์ล เธเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์วีเอ็นเอ็กซ์เพรสของเวียดนาม

การแก้ไขดังกล่าวเป็น “ระเบิดเวลาที่สามารถระเบิดได้ทุกเมื่อตามที่รัฐบาลจีนต้องการ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของข้อพิพาทและการปะทะกันในทะเล” ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามไทม์ส

พันธมิตรและหุ้นส่วนได้ตอบสนองต่อการรุกรานทางทะเลของจีนด้วยการประณาม การประท้วงทางการทูต และการดำเนินงานด้านเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อสนับสนุนอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

รัฐ “ควรปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐเหล่านั้นเป็นสมาชิกอย่างเคร่งครัด” นางเลอ ธิ ธู แฮง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ “เวียดนามดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่องตามกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อบังคับใช้และปกป้องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีของเวียดนาม โดยอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และเขตอำนาจศาลเหนือน่านน้ำของเวียดนามได้รับการกำหนดตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล”

ภายในไม่กี่วันหลังจากที่การแก้ไขของจีนมีผล เรือยูเอสเอส เบนโฟลด์ ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (ภาพ) ได้เคลื่อนผ่านทะเลจีนใต้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกิจวัตร เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีแล่นผ่านภายในระยะ 12 ไมล์ทะเลของแนวปะการังมิสชีฟในหมู่เกาะสแปรตลี ตามรายงานของกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ

แนวปะการังดังกล่าวเป็นสิ่งปลูกสร้างเทียมที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นที่ตั้งของลานบิน โรงเก็บเครื่องบิน สิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บใต้ดิน และหอคอยสื่อสาร ตามรายงานของโครงการริเริ่มความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย ในการพิพากษาเมื่อ พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศตัดสินว่าแนวปะการังอยู่ใต้น้ำทั้งหมดก่อนที่จีนจะเข้าควบคุมในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 (พ.ศ. 2533 – 2542) และเริ่มการแปรสภาพที่ดิน

ภูมิประเทศทางทะเลที่ “จมอยู่ใต้น้ำช่วงน้ำขึ้นในสภาพที่ก่อตัวขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในทะเลตามอาณาเขต” ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ตามที่กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 กันยายน

แถลงการณ์ระบุว่า “ความพยายามในการแปรสภาพที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างที่สร้างขึ้นบนแนวปะการังมิสชีฟไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณลักษณะนี้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” “การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามปกติภายใน 12 ไมล์ทะเลของแนวปะการังมิสชีฟแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาสามารถใช้เสรีภาพทางทะเลในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

 

ภาพจาก: จ.อ. เดียนนา ซี. กอนซาเลส/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button