ติดอันดับ

โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เป็นภัยต่อเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของจีน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สาธารณรัฐประชาชนจีนเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังการปิดเมือง อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของจีนในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2564 สำนักงานวางแผนท้องถิ่นในจีนได้อนุมัติโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวม 24 แห่ง ตามรายงานของรอยเตอร์ การอนุมัติดังกล่าวทำให้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติออกมาระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่แทบจะควบคุมไม่อยู่แล้ว โดยเร่งให้มีการดำเนินขนาดใหญ่เพื่อลดการปล่อยมลพิษทันที

สภาป้องกันทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรายงานว่า นอกจากจีนจะเป็นผู้ใช้พลังงานมากที่สุดในโลกแล้ว จีนยังเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย รัฐบาลจีนเคยให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนอย่างสูงสุดภายใน พ.ศ. 2573 และจะลดให้เป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2603 แต่กระนั้น มณฑลท้องถิ่นที่ต้องใช้พลังงานก็มีการอนุมัติโครงการถ่านหินใหม่อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลกลางจะยังไม่เริ่มลดการใช้ถ่านหินจนถึง พ.ศ. 2569 แม้ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะควบคุมจำนวนโครงการถ่านหินที่กำลังเริ่มดำเนินการ นางหลี่ ตันฉิง นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานในปักกิ่งของกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “การควบคุมไม่ได้หมายความว่าจะอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ไม่ได้ ดังนั้น เราจึงยังเห็นการอนุมัติใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ” “พลวัตระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นยังคงเป็นปัญหาหลัก”

ชาวจีนจำต้องสูดมลพิษอันเป็นผลจากการพึ่งพาถ่านหินอย่างต่อเนื่องนี้ บทความที่ชื่อว่า “จีนยังคงใช้ถ่านหินอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยมลพิษ” ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งตีพิมพ์โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมเยล ระบุว่า มลพิษทางอากาศในปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 โดยการผลิตเหล็ก ซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหนักอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยถ่านหินได้เพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนถึงร้อยละ 4 ในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2563 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของจีนคิดเป็นร้อยละ 28 ของการปล่อยจากทุกแห่งทั่วโลก และจีนยังคงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอัตราที่ให้ผลผลิตเป็นสามเท่าของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินใหม่ในประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดรวมกัน ตามบทความของเยล (ภาพ: จีนยังคงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นนี้ในหวยหนาน และเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดของโลก)

การใช้ถ่านหินอย่างไม่หยุดยั้งนี้ดูจะขัดแย้งกับเจตจำนงของจีนในการลดการปล่อยมลพิษ ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งได้ตั้งสมมติฐานว่า ผู้นำจีนกำลังเดิมพันครั้งใหญ่กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2603 นายสวิทิน ลุย นักวิเคราะห์จากไคลเมต แอ็คชัน แทร็กเกอร์และสถาบันนิวไคลเมต ระบุว่า ผู้นำจีนอาจกำลังลงทุนในเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน ตลอดจนการพัฒนาต่อยอดพลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำ เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งยังไม่ได้มีการปรับใช้เป็นวงกว้าง ตามบทความของเยล นายลุย กล่าวว่า “เรื่องนี้ยังไม่มีแผนดำเนินการ” “โดยพื้นฐานแล้วเป็นการปัดความรับผิดชอบต่ออนาคต”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่งดังกล่าวนั้นก็ย่อมมีวันหมดไปอย่างแน่นอน ภัยแล้งรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกำลังทำลายแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในหลายประเทศ เช่น บราซิล จีน และสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของรอยเตอร์

ภัยแล้งดังกล่าวอาจคุกคามความทะเยอทะยานของนานาชาติในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยการขัดขวางแหล่งพลังงานสะอาดที่ใช้กันเป็นอันดับต้น ๆ ไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 16 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ตามรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ

จีนยังคงอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากภัยแล้งรุนแรงในมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ที่กระทบการใช้น้ำประปาของประชาชนกว่า 2 ล้านคน

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button