ส่องแสงไปที่ กองเรือมืด

ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นการประมงที่ผิดกฎหมาย
ดร. แจยุน ปาร์ก และ ดร. จุงแซม ลี และคณะ
การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเป็นภัยคุกคามต่อความยั่งยืนและความเสมอภาคของทรัพยากร ความท้าทายที่สำคัญต่อกิจกรรมดังกล่าวคือ เรือประมงส่วนใหญ่ไม่เผยแพร่ตำแหน่งของตน และ “อยู่ในมุมมืด” ของระบบติดตามสาธารณะ เมื่อรวมเทคโนโลยีดาวเทียมทั้งสี่เข้าด้วยกัน เราได้ระบุการทำประมงผิดกฎหมายอย่างกว้างขวางโดยกองเรือมืดในน่านน้ำระหว่างเกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย เราพบเรือที่มาจากจีนมากกว่า 900 ลำใน พ.ศ. 2560 และมากกว่า 700 ลำใน พ.ศ. 2561 ที่ทำการประมงอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำเกาหลีเหนือ โดยจับปลาโทดาโรเดส แปซิฟิกคัส (หมึกบินญี่ปุ่น) ซึ่งมีน้ำหนักประมาณเท่ากับของที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จับรวมกัน (มากกว่า 164,000 เมตริกตัน มูลค่ากว่า 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท)) นอกจากนี้ เราพบเรือเกาหลีเหนือขนาดเล็ก 3,000 ลำที่ทำการประมงอย่างผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ในน่านน้ำรัสเซีย ผลการค้นพบเหล่านี้อาจทำให้ทราบถึงการกำกับดูแลการประมงข้ามเขตแดนอย่างอิสระ และบ่งบอกล่วงหน้าถึงยุคใหม่ของการติดตามการประมงผ่านดาวเทียม
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ผู้นำโลกมอบเงินจำนวนมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.29 แสนล้านบาท) เพื่อใช้ในการปกป้องมหาสมุทรของโลก วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือการลดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ คุกคามประชากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเล และเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของชาวประมงและชุมชนที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมมักจะกระทำโดย “กองเรือมืด” ซึ่งเป็นเรือที่ไม่ปรากฎในระบบติดตามสาธารณะ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะป้องกันการกระทำดังกล่าว
แม้ว่ากองเรือมืดหลายลำจะเผยแพร่ตำแหน่งของตนในระบบติดตามเรือตามคำสั่งของประเทศ แต่ข้อมูลเหล่านี้มักจะได้รับการปกป้องไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการจำกัดการใช้งานของการกำกับดูแลหรือการจัดการข้ามพรมแดนโดยบุคคลภายนอก การเปิดเผยกิจกรรมของกองเรือมืดอาจช่วยลดช่องว่างของข้อมูลนี้ และเป็นการปรับปรุงความโปร่งใสและการตรวจสอบได้
ความท้าทายเหล่านี้กับกองเรือมืดและการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในน่านน้ำที่ล้อมรอบด้วยเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย ที่ซึ่งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และขอบเขตพิพาทก่อให้เกิดช่องโหว่ของข้อมูลและการจัดการร่วมกัน ในน่านน้ำซึ่งไม่เป็นที่สังเกตเหล่านี้ ฝูงปลาหมึกบินของญี่ปุ่นตกเป็นเป้าหมายของกองเรือหลายลำ รวมถึงกองเรือในน่านน้ำที่อยู่ห่างไกลของจีน แม้ว่ากองเรือจีนจะทำการประมงในน่านน้ำของเกาหลีเหนือตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา แต่กิจกรรมการประมงและการจับปลาของจีนได้รับการตีพิมพ์อย่างไม่ต่อเนื่องและไม่ได้รับการรายงานตั้งแต่ พ.ศ. 2559
การขาดการแบ่งปันข้อมูลนี้ทำให้ไม่สามารถประเมินจำนวนสัตว์น้ำคงเหลืออย่างถูกต้องได้ โดยมีการรายงานการจับสัตว์น้ำลดลงถึงร้อยละ 80 และ 82 ในน่านน้ำเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2546 การไร้ความสามารถในการประเมินปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาถึงความสำคัญของปลาหมึกในภูมิภาค ปลาหมึกบินญี่ปุ่นถือเป็นอาหารทะเลอันดับต้น ๆ ของเกาหลีใต้ตามมูลค่าการผลิต อีกทั้งเป็นหนึ่งในห้าอาหารทะเลที่บริโภคในญี่ปุ่นสูงสุด ตลอดจนเป็นสินค้าอาหารทะเลส่งออกมากเป็นอันดับสามของเกาหลีเหนือจนกระทั่งโดนคว่ำบาตรเมื่อไม่นานมานี้
ใน พ.ศ. 2560 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติให้คว่ำบาตรประเทศเกาหลีเหนือหลังจากมีการทดสอบขีปนาวุธ โดยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวจำกัดการทำประมงต่างชาติภายหลังเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 มติเหล่านี้ห้ามไม่ให้มีการจัดซื้ออาหารทะเลจากเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเกาหลีเหนือและประเทศอื่น ๆ โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การสหประชาชาติและเกาหลีเหนือจากการขายหรือโอนสิทธิในการทำประมง
เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรภายใต้หมวดที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติมีผลผูกพันและดำเนินการผ่านกฎหมายและนโยบายภายในประเทศ การละเมิดมาตรการคว่ำบาตรใด ๆ โดยเรือจีนตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 จึงถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองและกฎหมายจีนภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม กองกำลังรักษาชายฝั่งเกาหลีใต้ได้สังเกตเห็นเรือหลายร้อยลำแล่นเข้าไปในน่านน้ำของเกาหลีเหนือ และจากการสุ่มตรวจสอบเรือดังกล่าวโดยหน่วยบริหารจัดการประมงแห่งทะเลตะวันออกชี้ให้เห็นว่าเรือเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากจีน หลักฐานการทำประมงของจีนอย่างต่อเนื่องในน่านน้ำเกาหลีเหนือยังได้รับการสนับสนุนจากเอกสารภายในประเทศจีนอีกด้วย
บรรดานักวิจัยได้ผสมผสานความเชี่ยวชาญในท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีดาวเทียมทั้ง 4 เพื่อเปิดเผยกิจกรรมของกองเรือมืดในมหาสมุทรของภูมิภาคที่มีกรณีพิพาทมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เทคโนโลยีแต่ละประการมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่สามารถให้ภาพรวมของกิจกรรมการทำประมงได้เมื่อนำมาผนวกกัน ระบบแสดงตนอัตโนมัติให้รายละเอียดการเคลื่อนไหวและข้อมูลระบุตัวตน แต่ระบบดังกล่าวถูกใช้โดยเรือเพียงไม่กี่ลำเท่านั้น เรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์สามารถระบุเรือโลหะขนาดใหญ่ทั้งหมดและเจาะทะลุผ่านเมฆ หากแต่ขาดการครอบคลุมมหาสมุทรทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่มองเห็นได้มีการตรวจสอบย้อนหลังทั่วโลกทุกวันและสามารถตรวจจับเรือที่มีแสงไฟส่องสว่างได้ แต่อาจถูกจำกัดการมองเห็นโดยกลุ่มเมฆ
เทคโนโลยีสุดท้ายคือภาพถ่ายออปติคอลความละเอียดสูง ซึ่งช่วยยืนยันกิจกรรมและประเภทของเรือได้ดีที่สุด แต่ยังคงถูกจำกัดการมองเห็นโดยกลุ่มเมฆ อีกทั้งยังไม่มีความละเอียดและจำนวนการตรวจสอบย้อนหลังที่มากเพียงพอสำหรับกองเรือประมงที่ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษจนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าเทคโนโลยีทั้ง 4 จะเคยนำมาใช้ในการประมาณการทำประมงและการระบุตัวตนของเรือแต่ละลำแล้ว แต่เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ได้นำมารวมกันเพื่อเปิดเผยกิจกรรมและปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยประมาณของกองเรือทั้งหมดในระดับนี้
ผลลัพธ์
ในการตรวจสอบกิจกรรมของเรือเหล่านี้ เราได้รับภาพถ่ายออปติคอลความละเอียด 3 เมตร เป็นจำนวน 22 วันจากกลุ่มดาวเทียมแพลนเน็ตสโคปของบริษัทแพลนเน็ต ซึ่งเป็นบริษัทถ่ายภาพโลก ที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษของเกาหลีเหนือที่มีการอ้างสิทธิ์ใน พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560 จากนั้น เราได้ฝึกอบรมโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อระบุเรือลากอวน 2 ลำในภาพนี้ เนื่องจากเรือดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการทำประมงที่โดดเด่นและประกอบด้วยเรือต่างชาติในสัดส่วนที่มากที่สุดในภูมิภาค (เรือลากอวนเป็นเรือหนึ่งในสองลำที่ลากอวนเดียว) หลังจากระบุที่ตั้งของเรือดังกล่าวด้วยโครงข่ายประสาทแล้ว เราได้มอบหมายให้ดาวเทียมสกายแซท ที่มีความละเอียด 0.72 เมตรของบริษัทแพลนเน็ตถ่ายภาพเรือเหล่านี้ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเรือลากอวนคู่หรือไม่ นอกจากนี้ เรายังใช้ภาพถ่ายเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์จากดาวเทียม 3 ดวงเพื่อตรวจสอบตำแหน่งและขนาดของกองเรือดังกล่าว จากข้อมูลเหล่านี้ เราคาดการณ์ว่ามีเรือลากอวนอย่างน้อย 796 คู่ที่ปฏิบัติการอยู่ในน่านน้ำเกาหลีเหนือใน พ.ศ. 2560 และอย่างน้อย 588 คู่ใน พ.ศ. 2561 มีเพียงเศษเสี้ยวของเรือเหล่านี้ที่ปล่อยสัญญาณผ่านระบบแสดงตนอัตโนมัติ แต่สัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเรือเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากท่าเรือของจีนและทำประมงในน่านน้ำจีน
เพื่อยืนยันถึงแหล่งกำเนิดจากจีนเพิ่มเติม เราได้จับคู่การตรวจจับเรือ 140 ลำผ่านระบบแสดงตนอัตโนมัติกับภาพถ่ายของบริษัทแพลนเน็ต สัญญาณจากระบบแสดงตนอัตโนมัติของเรือดังกล่าวยืนยันการตรวจสอบของกองกำลังรักษาชายฝั่งเกาหลีใต้ว่าเรือเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน
เรือประมงที่พบมากที่สุดอันดับสองซึ่งคาดว่ามีต้นกำเนิดจากจีนในน่านน้ำเกาหลีเหนือ คือ “เรือทุ่นไฟ” ขนาดใหญ่ 55 ถึง 60 เมตรที่ใช้แสงไฟส่องสว่างเพื่อล่อสัตว์น้ำเป้าหมาย เราระบุเรือเหล่านี้โดยใช้ภาพถ่ายออปติคอลที่มีความละเอียดต่ำและมีความไวสูงซึ่งได้จากเซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่มองเห็นได้ในเวลากลางคืน แม้ว่ากองเรือหลายแห่งในภูมิภาคนี้มีการใช้แสงไฟ แต่เรือของจีนยังเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีความสว่างมากที่สุด โดยบรรทุกหลอดความร้อนถึง 700 หลอดและให้แสงสว่างมากถึง 1,000 ลักซ์ เทียบเท่ากับแสงไฟของสนามฟุตบอลบางแห่ง ความสว่างนี้ช่วยให้เราแยกแยะเรือเหล่านี้จากกองเรืออื่น ๆ ในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ เรายังยืนยันการจำแนกประเภทเรือโดยมอบหมายให้สกายแซทที่มีความละเอียดสูงกว่าของดาวเทียมของแพลนเน็ต ถ่ายภาพบริเวณที่เรือทุ่นไฟเหล่านี้รวมตัวกัน
เซ็นเซอร์วัดรังสีอินฟราเรดที่มองเห็นได้ช่วยให้เราสามารถประเมินจำนวนเรือทุ่นไฟได้อย่างน้อย 108 ลำที่มีแหล่งกำเนิดจากจีนซึ่งปฏิบัติการในน่านน้ำเกาหลีเหนือใน พ.ศ. 2560 และ 130 ลำใน พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ เรายังตรวจพบเรือทุ่นไฟที่มีความเข้มต่ำ ซึ่งได้รับการระบุว่าเป็นกองเรือขนาดเล็กของเกาหลีเหนือ กองเรือนี้ประกอบด้วยเรือไม้ขนาดเล็กขนาด 10 ถึง 20 เมตร โดยมีหลอดไฟเพียง 5 ถึง 20 หลอดเท่านั้น เราได้ตรวจสอบประเภทเรือของท่าเรือช็องจิน ประเทศเกาหลีเหนือ ผ่านเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์และภาพถ่ายของบริษัทแพลนเน็ต เราคาดการณ์ว่าเรือของเกาหลีเหนือประมาณ 3,000 ลำได้ทำการประมงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัสเซียในช่วง พ.ศ. 2561

ข้อมูลจากดาวเทียมเหล่านี้ยังช่วยให้เราสามารถวัดการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมของเรือเมื่อเวลาผ่านไป สำหรับเรือประมงขนาดเล็กของเกาหลีเหนือ เราคาดว่าจำนวนวันจับปลาเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงสี่ปี จาก 39,000 ใน พ.ศ. 2558 เป็น 222,000 ใน พ.ศ. 2561 สำหรับเรือที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน เราคาดการณ์ว่าจะมีวันทำการประมง 91,400 วันในช่วง พ.ศ. 2560 (เรือลากอวนคู่ 82,600 วัน และเรือทุ่นไฟ 8,800 วัน) และ 67,300 วันในช่วง พ.ศ. 2561 (เรือลากอวนคู่ 60,700 วัน และเรือทุ่นไฟ 6,600 วัน) ตัวเลขเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 70 ใน พ.ศ. 2560 และร้อยละ 91 ใน พ.ศ. 2561 ของจำนวนวันจับปลาที่คาดการณ์ไว้ โดยพิจารณาจากจำนวนเรือจีนที่แล่นเข้าหรือออกจากน่านน้ำเกาหลีเหนือในแต่ละเดือน ตามที่กองกำลังรักษาชายฝั่งเกาหลีใต้ระบุ
หากเราสันนิษฐานในเชิงอนุรักษ์นิยมว่าปริมาณการจับต่อหน่วยการลงแรงประมงสำหรับเรือลากอวนและเรือทุ่นไฟที่มีต้นกำเนิดจากจีนนั้นมีความคล้ายคลึงกับของเรือขนาดเล็กในน่านน้ำใกล้เคียง ปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่จีนมีแนวโน้มจับได้จะเท่ากับปลาหมึก 101,300 เมตริกตันโดยประมาณ ซึ่งมีมูลค่า 275 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9 พันล้านบาท) ใน พ.ศ. 2560 และ 62,800 เมตริกตัน ซึ่งมีมูลค่า 171 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.6 พันล้านบาท) ใน พ.ศ. 2561 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะใกล้เคียงกับปริมาณสัตว์น้ำที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จับได้จากทะเลโดยรอบทั้งหมดรวมกัน
การอภิปราย
เรือจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจสอบก่อนหน้านี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับการจัดการจำนวนสัตว์น้ำคงเหลือ การหยุดชะงักทางการเมืองอันเนื่องมาจากความขัดแย้งด้านอำนาจอธิปไตยและข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนทางทะเลเป็นสิ่งขัดขวางการจัดการประมงร่วมระดับภูมิภาค และในขณะเดียว ความพยายามของรัฐที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากขาดข้อมูลการตรวจสอบเรือร่วม การจัดเตรียมการจัดการ และการประเมินสัตว์น้ำคงเหลืออย่างครอบคลุม เช่น เกาหลีใต้กำหนดปริมาณการจับปลาหมึกที่ได้รับอนุญาต จำกัดความสว่างของทุ่นไฟจับปลาหมึก สั่งห้ามใช้อวนลากคู่ ตลอดจนอนุญาตให้ใช้เรือลากอวนได้น้อยกว่า 40 ลำเท่านั้น เพื่อป้องเกินการจับปลาเกินขนาด
อย่างไรก็ตาม กองเรือจีนที่มีแนวโน้มว่าจะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มสัตว์น้ำคงเหลือเดียวกันใช้ความสว่างของทุ่นไฟที่มากกว่า อีกทั้งเรือลากอวนคู่ ตลอดจนจำนวนเรือที่มากกว่า เมื่อพิจารณาจากปริมาณการจับต่อหน่วยการลงแรงประมงที่ลดลงของโยจับปลาหมึกในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตลอดจนความหนาแน่นของตัวอ่อนปลาหมึกที่ลดลงอย่างมากตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เรือจำนวนมากที่ถูกเปิดเผยผ่านการศึกษานี้ถือว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับปัญหาดังกล่าว
นอกเหนือจากข้อกังวลด้านความยั่งยืนแล้ว ปัญหาข้างต้นยังมีผลกระทบอย่างมากต่อการกำกับดูแลกิจการประมงและภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาค เรือเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และทางการเกาหลีใต้ได้สันนิษฐานจากการตรวจสอบว่าเรือทั้งหมดมีเจ้าของและดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของจีน อย่างไรก็ตาม เรือดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นเรือสามลำที่ปฏิบัติการนอกอำนาจทางการของจีนโดยไม่ต้องจดทะเบียน ไม่มีธง และไม่มีใบอนุญาตให้ดำเนินการ เนื่องจากเรือทั้งหมดมักจะไม่มีเอกสารที่เหมาะสม
โดยเรือเหล่านี้จะถือว่าดำเนินการประมงอย่างผิดกฎหมายหากไม่ได้รับการอนุญาตจากทั้งรัฐบาลจีนและเกาหลีเหนือ กฎระเบียบของจีนกำหนดให้เรือประมงต่าง ๆ ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจับปลาในน่านน้ำต่างประเทศ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลให้สิทธิ์อธิปไตยแก่ประเทศชายฝั่งในการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่มีชีวิตในน่านน้ำของตน ในอีกทางหนึ่ง หากเรือเหล่านี้ดำเนินการโดยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือทั้งสอง จะถือว่ารัฐบาลดังกล่าวละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลจีนได้ปฏิเสธสถานการณ์ระยะหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยยืนยันถึงการสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรในปัจจุบัน ไม่ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร สถานการณ์แต่ละครั้งต่างส่งผลให้เกิดการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศหรือทั้งสอง
เมื่อคำนึงถึงสิ่งนี้ การวิเคราะห์ของเราระบุว่า มีเรือผิดกฎหมายกว่า 900 ลำใน พ.ศ. 2560 หลังจากมีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตร และใน พ.ศ. 2561 กว่า 700 ลำ ซึ่งถือเป็นคดีประมงผิดกฎหมายขนานใหญ่ที่สุดเท่าที่ทราบกัน อันเกิดจากน้ำมือของกองเรือที่มาจากประเทศห่างไกล
การปรากฏตัวของกองเรือต่างประเทศนี้ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวประมงรายย่อยของเกาหลีเหนืออีกด้วย หลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันจากเรือลากอวนขนาดใหญ่เหล่านี้กำลังแทนที่บรรดาเรือไม้ขนาดเล็ก โดยเปลี่ยนความพยายามอย่างมากไปยังน่านน้ำรัสเซียที่อยู่ใกล้เคียง การเปลี่ยนแปลงข้างต้นในการรับมือต่อกองเรือต่างประเทศที่ได้รับการบันทึกไว้ในที่อื่น ๆ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนิเวศวิทยาประมงท้องถิ่นในภูมิภาคนี้อีกด้วย
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ปลาหมึกบินของญี่ปุ่นอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ไปทางตอนใต้ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัสเซีย ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีเหนือทำการประมงก่อนที่กองเรือต่าง ๆ จะจับสัตว์น้ำคงเหลือไปจนหมด อย่างไรก็ตาม การทำประมงของเกาหลีเหนือในน่านน้ำรัสเซียส่วนใหญ่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายเช่นกัน รัฐบาลรัสเซียอนุญาตเรือประมงของเกาหลีเหนือจำนวนน้อยกว่า 100 ลำตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา และใน พ.ศ. 2560 รัสเซียไม่อนุญาตให้เรือเกาหลีเหนือทำการประมงในน่านน้ำของตนเลย ในทางกลับกัน เราได้ทำการประเมินว่ามีเรือประมงประมาณ 3,000 ลำที่ปฏิบัติงานในน่านน้ำเหล่านี้ในช่วง พ.ศ. 2561 เรือประมงพื้นบ้านของเกาหลีเหนือไม่มีอุปกรณ์จำเป็นอย่างเพียงพอสำหรับการเดินทางระยะไกลไปยังแหล่งตกปลาของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้จึงมีเรือเกาหลีเหนือจำนวน 505 ลำขึ้นเกยชายฝั่งของญี่ปุ่นในระหว่าง พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2561
เหตุการณ์เหล่านี้มักก่อให้เกิดความอดอยากและการเสียชีวิต นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่าหมู่บ้านชาวประมงหลายแห่งบนชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือได้รับการประกาศว่าเป็น “หมู่บ้านหญิงม่าย” รูปแบบการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งมีการบันทึกไว้ ณ ที่นี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อปลาและชาวประมงจำนวนมาก
การวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ในการตรวจสอบการประมงผ่านดาวเทียม หน่วยงานรัฐหลายแห่งมีแหล่งข้อมูลดาวเทียมจำนวนมากสำหรับการเฝ้าระวังเป้าหมายมาเป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ เทคนิคข้างต้นสามารถดำเนินการเพื่อเพิ่มความพร้อมของข้อมูล ความสามารถในการเข้าถึง และพลังการคำนวณในระดับพื้นที่และเวลาที่เพียงพอเท่านั้น อีกทั้งสามารถดำเนินการได้โดยกลุ่มนักวิจัยอิสระกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น เพื่อให้สามารถติดตามการประมงที่โปร่งใสได้ แม้ว่าบางแง่มุมของการศึกษานี้จะมีความเฉพาะเจาะจงต่อภูมิภาค (เช่น ความแพร่หลายของอวนลากคู่) เทคนิคส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดได้ง่าย เช่น การจับคู่ระบบแสดงตนอัตโนมัติเพื่อตรวจจับเรือจากภาพถ่ายดาวเทียมหรือเรดาร์ทั่วโลกที่มีให้ใช้งานอย่างอิสระ
สำหรับแหล่งข้อมูลดาวเทียมที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ เช่น เรดาร์ดาวเทียมเชิงพาณิชย์หรือภาพถ่ายออปติคอลความละเอียดสูง ค่าใช้จ่ายต่อภาพจะลดลงอย่างรวดเร็ว การรวมเทคโนโลยีดาวเทียมเหล่านี้สามารถเปิดเผยกิจกรรมของกองเรือมืด ตลอดจนอุดช่องโหว่สำคัญในการจัดการประมงข้ามพรมแดน
นอกจากนี้ เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถระบุพื้นที่เสี่ยงภัยจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เมื่อรวมกับความเชี่ยวชาญในท้องถิ่น การประมงทั่วโลกถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมการรักษาความลับและการปกปิดมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ การบรรลุมุมมองที่ครอบคลุมเกี่ยวกับกิจกรรมการประมงในทะเลถือเป็นก้าวสำคัญสู่การจัดการการประมงที่ยั่งยืนและทำงานร่วมกัน
หมายเหตุของบรรณาธิการ: มีแนวโน้มว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อจำนวนเรือของเกาหลีเหนือที่แล่นเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น ๆ เช่น จำนวนเรือที่เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากเกาหลีเหนือที่แล่นมาเกยชายฝั่งญี่ปุ่นระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ลดลงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามรายงานของกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่น การวิจัยสำหรับรายงานนี้จัดทำขึ้นก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมก่อนเกิดโรคระบาด
ผู้เขียนรายงานได้แก่ ดร. แจยุน พัค แห่งโครงการเฝ้าระวังการตกปลาทั่วโลก วอชิงตัน ดี.ซี.; ดร. จองซัม อี แห่งสถาบันทางทะเลเกาหลี ปูซาน เกาหลีใต้; ดร. แคทเธอรีน เซโต และ ดร. เควนติน ฮานิช ที่ศูนย์ทรัพยากรและความมั่นคงทางทะเลแห่งชาติออสเตรเลียของมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ออสเตรเลีย; ดร. ทิโมธี ฮอกเบิร์ก, ดร. ไบรอัน เอ. หว่อง, ดร. นาธาน เอ. มิลเลอร์, ดร. ไบรอัน ซัลลิแวน, ดร. พอล วูดส์ และดร. แดเนียล เอ. ครู้ดส์มา นอกจากนี้ยังร่วมกับ โครงการเฝ้าระวังการตกปลาทั่วโลก; ดร. เคนจิ ทากาซากิ, ดร. ฮิโรชิ คูโบตะ และ ดร. โยชิโอกิ อุโอะเซกิ แห่งสำนักงานวิจัยและการศึกษาประมงแห่งประเทศญี่ปุ่น โยโกฮาม่า ญี่ปุ่น; และ ดร. เซจาล โดชิ และ ดร. มายา มิดซิก แห่งแพลนเน็ต แล็บส์ ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารไซแอนซ์ แอดวานเซส ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม และพิมพ์ซ้ำ/หรือแปล (หากมี) โดย Park และคณะ Sci. Adv. 2020; 6: eabb1197. © ผู้เขียนสงวนลิขสิทธิ์บางส่วน; ผู้รับใบอนุญาตพิเศษ AAAS เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตของ CC BY-NC 4.0 http://creativecommons.org/licenses/by-nc/4.0/