เรื่องเด่น

ยึดมั่นเหนียวแน่น ใน ความร่วมมือ

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเพิ่มความร่วมมือ เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางทะเล

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เอลมาตาดอร์ อยู่ในเส้นทางเดินเรือมุ่งตะวันออกของช่องแคบสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ห่างจากนองซาพอยต์ บนเกาะบาตัมของอินโดนีเซียประมาณ 3.2 ไมล์ทะเล (6 กิโลเมตร) เรือติดธงชาติไซปรัสกำลังแล่นผ่านช่องแคบดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องแคบทางทะเลที่พลุกพล่านที่สุดในโลก โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางอันยาวนานหลายสัปดาห์จากท่าเรือทะเลอาหรับในเมืองซาลาลาห์ ประเทศโอมาน ไปยังท่าเรือเกาเฟย์เดียน ซึ่งเป็นท่าเรือในทะเลโบไฮของจีน ขณะได้รับแจ้งเตือนจากบนฝั่งถึงเรือว่า พบเรือไม่ทราบชื่อจอดเทียบเคียงเอลมาตาดอร์

ในไม่ช้าลูกเรือก็สังเกตเห็นผู้บุกรุกในห้องเครื่องและส่งสัญญาณเตือนภัย เพื่อขับไล่ผู้กระทำผิดสี่คนออกจากเรือบรรทุกเครื่องบินความยาว 200 เมตร เรือเอลมาตาดอร์ได้เปลี่ยนที่ทอดสมอเป็นเกาะนอกอ่าวบาตัมซึ่งเป็นที่ที่กองทัพเรืออินโดนีเซียได้ขึ้นเรือและตรวจค้น ก่อนที่เรือจะเดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก โดยที่ลูกเรือไม่ได้รับบาดเจ็บและสินค้าไม่ได้รับความเสียหาย

ขณะเดียวกัน หน่วยงานอื่นได้รับการแจ้งเตือน รวมถึงหน่วยเฉพาะกิจด้านความมั่นคงทางทะเลของกองทัพเรือสิงคโปร์และกองกำลังตำรวจรักษาชายฝั่งสิงคโปร์ อีกทั้งมีการกระจายข่าวเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือเพื่อแจ้งเตือนชาวเรือในพื้นที่

พลเรือโทเชอร์วิน ซาลูบา โดมิงโก แห่งกองทัพเรือฟิลิปปินส์ มองผ่านจอแสดงผลเข็มทิศไจโรระยะไกลบนเรือประจัญบานชายฝั่งยูเอสเอสโคโรนาโดของกองทัพเรือสหรัฐฯ ระหว่างการลาดตระเวนร่วมเพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดในทะเลซูลู
จ่าตรีดีเวน ไลห์ เอลลิส/กองทัพเรือสหรัฐฯ

ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือเอลมาตาดอร์แสดงให้เห็นถึงการค้นพบสำคัญจากรายงานชิ้นใหญ่ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล นั่นคือ อินโดแปซิฟิกเป็นผู้นำระดับโลกด้านความร่วมมือทางทะเล

“ในหลายภูมิภาค การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือในทะเลด้วยอาวุธถือเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทะเลที่เร่งด่วนที่สุด” ตามรายงานของดัชนีความมั่นคงทางทะเล พ.ศ. 2563 ที่เผยแพร่โดยโครงการ สเตเบิล ซีส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัน เอิร์ธ ฟิวเจอร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “โชคดีที่ประชาคมอันเข้มแข็งระหว่างรัฐ องค์กรประชาสังคม และบริษัทเอกชนหลายแห่งมารวมตัวกันเพื่อจัดการกับข้อกังวลนี้”

ตั้งมั่นพร้อมตอบสนอง

ชื่อเสียงของอินโดแปซิฟิกด้านการต่อสู้กับการกระทำอันเป็นโจรสลัดและอาชญากรรมทางทะเลอื่น ๆ อย่างอยู่หมัดเป็นสิ่งที่สั่งสมผ่านแนวทางยาวนานหลายปี อันเกิดจากการยึดมั่นเหนียวแน่นด้านความร่วมมือข้ามชาติ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และการแบ่งปันข้อมูล ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงพิจารณาว่าภูมิภาคดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะเพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมทางทะเลที่มีรายงานใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่อุบัติขึ้นในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และการหดตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมา

เหตุการณ์บนเรือเอลมาตาดอร์เป็นหนึ่งใน 97 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงความพยายามในสองเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในอินโดแปซิฟิกในช่วง พ.ศ. 2563 ตามรายงานของศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชีย นั่นเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ. 2560

รายงานประจำปีของศูนย์พหุชาติระบุว่าเหตุการณ์สี่ครั้งใน พ.ศ. 2563 เป็นการกระทำอันเป็นโจรสลัดซึ่งล้วนเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ (แม้ว่าแต่ละครั้งจะมีการกระทำความผิดที่คล้ายกัน แต่การปล้นเรือด้วยอาวุธหมายถึงการปล้นที่เกิดขึ้นภายในน่านน้ำของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง ในขณะที่การกระทำอันเป็นโจรสลัดเกิดขึ้นในน่านน้ำสากลซึ่งมักเรียกว่าทะเลลึก) โดยรวมแล้ว ร้อยละ 74 ของเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมที่เล็กน้อยฝีมือผู้กระทำผิดที่ไม่มีอาวุธ และสมาชิกลูกเรือไม่ได้รับบาดเจ็บ

ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกครอบคลุมหลายเส้นทางการสัญจรทางทะเลที่หนาแน่นที่สุดในโลกและท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด โดยมีเรือพาณิชย์สัญจรมากกว่าครึ่งหนึ่งของการสัญจรทางทะเลทั้งหมด การค้าทางทะเลดังกล่าวโดยส่วนใหญ่จะผ่านช่องแคบสิงคโปร์ที่มีความยาว 105 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางน้ำแคบระหว่างนครรัฐสิงคโปร์กับหมู่เกาะรีเยาของอินโดนีเซียไปทางใต้ ท่าเรือสิงคโปร์เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านการเติมเชื้อเพลิงเรือขนส่ง ตามรายงานของการท่าเรือแห่งประเทศสิงคโปร์ เรือมากถึง 1,000 ลำเทียบอยู่ที่ท่าเรือ ณ เวลาหนึ่งใด โดยมีเรือมาถึงหรือออกเดินทางทุกสองถึงสามนาที

ช่องแคบนี้มีความกว้าง 16 กิโลเมตรซึ่งเป็นจุดเสี่ยงของการเดินเรือ โดยทำให้เรือสินค้าดังเช่นเรือเอลมาตาดอร์ อยู่ในระยะเข้าถึงได้โดยเรือที่มีขนาดเล็กกว่าจากชายฝั่ง ทั้งนี้ เหตุการณ์ส่วนใหญ่จากจำนวน 34 ครั้งที่รายงานใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3 ครั้ง มีรูปแบบที่คล้ายกันคือ ผู้กระทำผิดจำนวนหนึ่งที่บางครั้งพกอาวุธมีด ลอบขึ้นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่แล่นไปทางทิศตะวันออก โดยมักดำเนินการตอนกลางคืน มีเพียงเหตุการณ์เดียวที่ลูกเรือได้รับบาดเจ็บ ส่วนสิ่งของที่ถูกขโมยมักจะเป็นเสบียงบนเรือ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เศษโลหะ และวัสดุก่อสร้าง

“แต่หากพวกโจรฉวยโอกาสเห็นว่าสามารถก่ออาชญากรรมโดยไม่ถูกลงโทษ การโจรกรรมเสบียงบนเรือในวันนี้ก็อาจขยายไปสู่เหตุการณ์ที่ร้ายแรงมากขึ้นได้โดยง่าย รวมถึงการเผชิญหน้ากับลูกเรือ” นายมาซาฟูมิ คุโรกิ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชีย กล่าวขณะเผยแพร่รายงานในระหว่างการประชุมเสวนาการเดินเรือครั้งที่ 12 ของศูนย์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 งานกิจกรรมเสมือนจริงนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คนจากหน่วยงานทหารและการบังคับใช้กฎหมาย สถาบันการศึกษา บริษัทเดินเรือ และสมาคมอุตสาหกรรม คณะผู้นำเสนอประกอบไปด้วยกองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์และกองกำลังตำรวจรักษาชายฝั่งสิงคโปร์

นายคุโรกิกล่าวว่า “นอกเหนือจากการเฝ้าระวัง การรายงานอย่างทันท่วงทีโดยเรือ การลาดตระเวนเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนความร่วมมือระหว่างรัฐที่มีแนวชายฝั่งแล้ว เราเชื่อว่าการจับกุมและนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์เพิ่มขึ้น”

การทำแผนเส้นทาง

การจัดตั้งศูนย์ในสิงคโปร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มที่อธิบายว่าคือ “ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลระดับภูมิภาคฉบับแรก เพื่อส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชีย” ในวาระที่ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชีย ใกล้ครบรอบ 15 ปี ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง 14 ประเทศจากเอเชียเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ได้มีอีกหกประเทศมาเข้าร่วมด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา องค์กรพันธมิตรของศูนย์นี้ประกอบด้วยสมาคมเจ้าของเรือแห่งเอเชีย องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ และตำรวจสากล

งานวิจัยนี้มุ่งเน้นที่เสาหลักสามประการ ได้แก่ การแบ่งปันข้อมูล เช่น การติดตามข้อมูลปัจจุบันรายสัปดาห์และรายงานพิเศษ การเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรผู้บริหาร และวิดีโอการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังมีการจัดการความร่วมมือ เช่น การประชุมกับหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงกิจกรรมที่ประกอบด้วยการเสวนาและการประชุมเรื่องการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นทางทะเล

สเตเบิล ซีส์ ร่วมมือกับรัฐบาล กองทัพ และองค์กรอื่น ๆ ทั่วโลกเพื่อกำจัดกิจกรรมทางทะเลที่เอื้อและสนับสนุนเงินทุนแก่ความรุนแรงทางการเมือง โดยมีการเปิดเผยดัชนีความมั่นคงทางทะเลประจำปีใน พ.ศ. 2561 เพื่อจัดทำแผนที่และตรวจวัดประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการตอบสนองของรัฐบาลและเอกชนต่อประเด็นดังกล่าวในกว่า 70 ประเทศเลียบชายฝั่งในแอฟริกา อินโดแปซิฟิก และตะวันออกกลาง นายเจย์ เบนสัน ผู้จัดการโครงการสเตเบิล ซีส์ ในอินโดแปซิฟิก เขียนในบทความของนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ว่า “เมื่อพื้นที่ทางทะเลได้รับความสนใจในฐานะเวทีแห่งความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเล รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ความจำเป็นในการวัดขอบเขตความท้าทายและความคืบหน้าในพื้นที่ทางทะเลอย่างประจักษ์ชัดก็เช่นกัน”

นอกเหนือจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นด้วยอาวุธ ดัชนี พ.ศ. 2563 ระบุว่าอินโดแปซิฟิกต้องเผชิญความท้าทายจากการค้ายาเสพติดและสินค้าจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายทางทะเล แม้ว่าการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่โดยผู้ก่อการร้ายจะยังคงเป็นภัยคุกคาม แต่ก็ลดลงอย่างมากเนื่องจากมีความพยายามร่วมกัน รวมถึงการตรวจตราทางทะเลไตรภาคีที่ดำเนินการในทะเลซูลูตั้งแต่ พ.ศ. 2559 โดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

“ภูมิภาคนี้ตอบสนองต่ออาชญากรรมทางทะเลในลักษณะนี้อย่างรวดเร็วผ่านการริเริ่มต่าง ๆ เช่น การลาดตระเวนแบบประสานงานกัน … และการแบ่งปันข้อมูลที่เพิ่มขึ้นผ่านหน่วยงานดังเช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชีย” นายเบนสันเขียนระบุในเดอะดิโพลแมต

ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จ

เช่นเดียวกับน่านน้ำของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ความพยายามต่อต้านอาชญากรรมทางทะเลของภูมิภาคดังกล่าวขยายวงกว้างมาก หลอมรวมกองกำลังทหารและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลและพลเรือน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นอกเหนือจากศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชียแล้ว โครงการริเริ่มความร่วมมือเหล่านี้ประกอบด้วย:

ศูนย์รายงานพฤติการณ์โจรสลัดของสำนักงานการเดินเรือทางทะเลระหว่างประเทศ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการขนส่งทั่วโลกตลอดเวลา สำนักงานดังกล่าวซึ่งเป็นแผนกหนึ่งของหอการค้าระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นศูนย์กลางการรายงานเหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธต่อหน่วยงานท้องถิ่น และเพื่อแจ้งเตือนผู้ดูแลเรือเกี่ยวกับจุดที่มีภัย

เรือเคเอ็นแทนจุงดาทูของกองกำลังรักษาชายฝั่งอินโดนีเซีย (ซ้าย) และเรือคัตเตอร์
สแตรทตันของกองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ แล่นผ่านช่องแคบสิงคโปร์ เหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธมีเพิ่มมากขึ้นในช่องแคบ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการขนส่งสินค้าที่พลุกพล่านที่สุดในโลก
จ่าเอกลีไว รีด/กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ

ภายใต้โครงการความมั่นคงทางทะเลแปซิฟิก กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียได้ทุ่มงบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเพื่อช่วยเหลือประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของตน โครงการนี้จะจัดหาเรือลาดตระเวนระดับพิทักษ์จำนวน 21 ลำให้แก่ 13 ประเทศภายใน พ.ศ. 2566 รวมถึงการฝึกซ้อมความเชี่ยวชาญด้านการประสานงานทางทะเลและความสามารถในการเฝ้าระวังทางอากาศ เพื่อยับยั้งอาชญากรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศและในเขตทะเลลึก

โครงการอาชญากรรมทางทะเลทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ สนับสนุนความพยายามด้านความมั่นคงทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมถึงการเจรจากับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ซึ่งเป็นการฝึกการตรวจเยี่ยม การตรวจค้นและยึดทรัพย์สิน และเทคโนโลยีการรับรู้ขอบเขตทางทะเลเพื่อระบุและกำหนดเป้าหมายไปยังกิจกรรมผิดกฎหมาย

ศูนย์หลอมรวมข้อมูล ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 โดยมีกองทัพเรือสิงคโปร์เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อยกระดับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคผ่านการแบ่งปันข้อมูลและการทำงานร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศประจำอยู่ที่ศูนย์ควบคู่บุคลากรของกองทัพเรือสิงคโปร์ ไออาร์ไอเอส ได้รับการพัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2562 โดยเป็นพอร์ทัลบนเว็บของศูนย์ให้บริการภาพกิจกรรมทางทะเลแบบ
เรียลไทม์และสามารถเข้าถึงได้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่จากเรือในทะเล

การฝึกความร่วมมือและการฝึกอบรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการฝึกซ้ำครั้งที่ 19 เมื่อกลาง พ.ศ. 2563 เป็นการฝึกร่วมเสมือนจริงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นการรวบรวมบุคลากรทางการทหารจากยุโรปอินโดแปซิฟิกและอเมริกาเหนือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางทะเลผ่านการประสานงานพหุภาคี การฝึกความร่วมมือและการฝึกซ้อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2563 มุ่งเน้นความสามารถด้านการตระหนักรู้ในขอบเขตทางทะเล “ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรงจากรัฐสู่รัฐในทะเลจีนใต้ หรือรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงเกินขีดจำกัด การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการต่อต้านการก่อการร้าย นี่คือจุดเริ่มต้นที่ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่หลากหลายเหล่านี้ปะทะกัน” นายเกร กอรี่ บี. โพลิง ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มเพื่อความโปร่งใสทางทะเลในเอเชียที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าการพลิกสถานการณ์อาชญากรรมทางทะเลยังบ่งบอกถึงการต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและการปกครอง ดัชนีความมั่นคงทางทะเลระบุว่า “แนวทางแบบองค์รวมซึ่งเชื่อมโยงการตอบสนองของทหารและกองทัพเรือ กับการพัฒนาและความพยายามในการสร้างขีดความสามารถเป็นวิธีที่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะทำลายสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ขับเคลื่อนประชากรชายฝั่งในปัจจุบันไปสู่การก่ออาชญากรรมเหล่านี้” “ในทำนองเดียวกัน เสถียรภาพบนชายฝั่งและหลักนิติธรรมแห่งชาติที่แข็งแกร่งนั้นเชื่อมโยงกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธที่เกิดขึ้นในระดับต่ำ เหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัดมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเกิดขึ้นในรัฐที่มีเศรษฐกิจและรัฐบาลเข้มแข็ง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ”

นายคุโรกิกล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมเสวนาการเดินเรือว่า ความปั่นป่วนใน พ.ศ. 2563 พร้อมด้วยการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง การปิดเมืองอย่างต่อเนื่อง และการตกงาน อาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธ “ความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ต่อชุมชนชายฝั่งอาจทำให้ผู้คนหันมาปล้นสะดมทางทะเลมากขึ้น” นายคุโรกิกล่าว “นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าการทำงานเป็นเวลานานของลูกเรือบนเรือ เนื่องจากการเปลี่ยนลูกเรือเป็นเรื่องยาก ทำให้ลูกเรือเกิดความเหนื่อยและมีความระมัดระวังน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังของปีแห่งการทดสอบนั้นก็นำพามาซึ่งความผ่อนปรนที่น่ายินดี เมื่อประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกลับมาฝึกซ้อมทางทะเลอีกครั้ง ซึ่งได้หยุดชะงักไปเนื่องด้วยมาตรการจำกัดการเดินทางและการกักกันตัวอันเกี่ยวข้องกับไวรัส เช่น ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ. 2563 ครูฝึกของหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการฝึกปฏิบัติการทางเรือขนาดเล็กสำหรับสมาชิกหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลา นับเป็นงานฝึกอบรมครั้งแรกของหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาในฟิลิปปินส์นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่

ความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างพันธมิตรเช่นนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามด้านความมั่นคงทางทะเลระดับชั้นนำของโลกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก องค์กรต่าง ๆ เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในเอเชีย และสเตเบิล ซีส์ คือตัวอย่างยืนยัน การแจ้งเตือนจากฝั่งสู่เรือที่หลีกเลี่ยงอันตรายอันมากไปกว่านั้นบนเรือเอลมาตาดอร์ เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้รับการแจ้งผ่านระบบข้อมูลการจราจรทางทะเลของการท่าเรือแห่งสิงคโปร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตรวจสอบและจัดการเรือนับพันลำที่แล่นผ่านช่องแคบ

“ในการต่อสู้กับการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธ” ดัชนีความมั่นคงทางทะเลระบุ “เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาล กองทัพเรือ และอุตสาหกรรมการเดินเรือต้องแบ่งปันข้อมูล”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button