เรื่องเด่น

ทำลายบ่วงคอของจีน

อินเดียมองหาหุ้นส่วนใหม่และพัฒนาข้อตกลงด้านกลาโหมเพื่อต่อต้านการรุกรานของจีน

นายสาโรช บานา

สาธารณรัฐประชาชนจีีน มีวิธีในการติดต่ออย่างแข็งกร้าว ที่ต้องการซื้ออิทธิพลกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับอินเดียอย่างบังคลาเทศ พม่า มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา และโดยการข่มขู่ประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอินเดียอย่างภูฏาน

ดูเหมือนจีนยังคำนวณได้อย่างถูกต้องด้วยว่า แม้อินเดียจะมีความสามารถที่เหนือกว่าทางทหาร แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความยับยั้งชั่งใจอย่างมากในการเผชิญหน้ากับความพยายามอย่างแข็งกร้าวของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเมื่อกลาง พ.ศ. 2563 ที่จะยึดครองพื้นที่เกือบ 1,000 ตารางกิโลเมตรของลาดักห์ทางตะวันออก ในส่วนตะวันตกของเส้นควบคุมแท้จริงที่แบ่งกั้นขั้วอำนาจทั้งสอง

จีนวางกำลังทหารประมาณ 60,000 นายในการบุกรุก การกระทำเช่นนี้รวมทั้งการรุกรานอินเดียจนเป็นสัญลักษณ์ของจีนเองแสดงให้เห็นถึงระยะที่ร้ายแรงที่สุดของความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศนับตั้งแต่สงครามที่ยาวนานตลอดทั้งเดือนใน พ.ศ. 2505 ในภูมิภาคเดียวกันนี้ ภายหลังจากความขัดแย้งดังกล่าว จีนได้ยึดอักไสชิน ซึ่งเป็นทะเลทรายบนที่สูงที่มีขนาด 38,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเกือบเท่ากับภูฏานที่อินเดียอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนสหภาพลาดักห์ จีนยังอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ 83,743 ตารางกิโลเมตรในรัฐอรุณาจัลประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ทางส่วนตะวันออกของเส้นควบคุมแท้จริง ทั้งสองประเทศนี้ได้มีข้อพิพาทกันมายาวนานเกี่ยวกับความยาวและตำแหน่งของเส้นควบคุมแท้จริง ซึ่งแบ่งออกเป็นสามส่วน แน่นอนว่า คนงานจีนที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองกำลังกองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ข้ามฝั่งไปยังอรุณาจัลเพื่อสร้างหมู่บ้านตลอดแนวเส้นที่แบ่งแยกรัฐจากทิเบต โดยสร้างบนฝั่งของแม่น้ำสาริชูในเขตซูสุบันสิริตอนบน กระทรวงการต่างประเทศอินเดียรับทราบความเคลื่อนไหวดังกล่าวและกล่าวว่า ตนตระหนักถึงการก่อสร้าง “ตามแนวเส้นควบคุมแท้จริง” ซึ่งโดยทั่วไปมองว่าเป็นความพยายามของจีนที่จะค้ำจุนการอ้างสิทธิ์ของตนในภูมิภาค ในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการสร้างการตั้งถิ่นฐานของพลเรือนในพื้นที่ชายแดนที่มีข้อพิพาท รัฐบาลจีนเองก็ปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมด โดยยังคงยืนยันว่าการรุกรานครั้งนี้ “อยู่นอกเหนือการตำหนิ” เพราะรัฐบาลจีน “ไม่เคยรับรู้ถึง” อรุณาจัล

แม้ในขณะที่ทางตันในลาดักห์ตะวันออกเริ่มครุกรุ่นขึ้น จีนก็โจมตีอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นการโจมตีในสิกขิม ซึ่งเป็นรัฐเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของอินเดียที่ถูกแยกออกจากรัฐอรุณาจัลประเทศโดยภูฏาน เมื่อวันที่ 20 มกราคมพ.ศ. 2564 กองกำลังจีนปะทะกับทหารอินเดียบนเส้นควบคุมแท้จริงที่นาคูลาในสิกขิม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กองทัพอินเดียอธิบายว่าเป็น “การเผชิญหน้ากันเพียงเล็กน้อย” เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณเดิมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563

เมื่อสิ้นสุด พ.ศ. 2563 อินเดียคาดหวังว่า อย่างน้อยจีนจะยังคงสถานภาพปัจจุบันไว้ในลักดาห์ตะวันออก ทหารอินเดียที่ทำงานหนักเกินไปกำลังปักหลักอยู่ในพื้นที่ชายแดนที่รกร้างว่างเปล่าและมีออกซิเจนน้อย ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 3,000 เมตร อุณหภูมิของสถานที่ดังกล่าวในช่วงฤดูหนาวที่รุนแรงอาจลดลงต่ำกว่าลบ 45 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นการทดสอบขีดจำกัดของความอดทนทางจิตใจและร่างกาย

รัฐบาลอินเดียจึงรู้สึกโล่งใจที่การเจรจาระดับทหารรอบที่เก้าระหว่างทั้งสองฝ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้สร้างข้อตกลงว่าด้วยการถอนกำลังจากฝั่งเหนือและใต้ของทะเลสาบปันกองในลาดักห์
ตะวันออก นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แจ้งต่อรัฐสภาอินเดียเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ว่า “เพื่อให้แน่ใจว่ามีการถอนกำลังในจุดเสี่ยงปะทะตามแนวเส้นควบคุมแท้จริง เรามองว่ากองทัพของทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในระยะประชิดควรระงับการส่งกำลังเดินหน้าที่เริ่มใน พ.ศ. 2563 และกลับไปยังฐานที่มั่นซึ่งถาวรและเป็นที่ยอมรับ”

ในขณะที่การถอนกำลังในทะเลสาบปันกองมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ การเผชิญหน้ากันในพื้นที่อื่น ๆ เช่น ที่ราบเดปซาง โกกราไฮต์ และบ่อน้ำพุร้อนนั้นกลับต้องใช้เวลาในการแก้ไข

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าน่าสบายใจคือ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะรักษาความต่อเนื่องในการพูดคุยและการเจรจา และเพื่อดำเนินความพยายามต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่ามีการยับยั้งควบคุมกองกำลังแนวหน้า รักษาเสถียรภาพและควบคุมสถานการณ์ตามแนวเส้นควบคุมแท้จริงในส่วนตะวันตกของชายแดนจีนและอินเดีย และรักษาสันติภาพร่วมกัน

เพื่อช่วยป้องกันการรุกรานของจีนโดยไม่ก่อให้เกิดสงคราม อินเดียอาจมองไปที่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคีหรือควอด กับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา การยกระดับข้อตกลงด้านกลาโหมระหว่างประเทศเหล่านี้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาจทำให้ความพยายามด้านความมั่นคงของอินเดียก้าวหน้าขึ้นด้วย

รัฐบาลจีนใช้ประโยชน์จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้อินเดียตึงเครียดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงทำให้ทหารอินเดียไขว้เขว ในขณะเดียวกัน จีนแทบจะไม่รู้สึกรบกวนใจกับการตำหนิทั่วโลกที่มีต่อการรับมือกับการระบาดครั้งร้ายแรง ซึ่งเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามีต้นตอมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จีนมีความตั้งใจที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยอาศัยความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการทหารของตน

ความตึงเครียดที่พรมแดน

นับตั้งแต่ที่จีนได้รุกรานทิเบตใน พ.ศ. 2493 และผนวกทิเบตในปีถัดมา และขยายตัวไปยังชายแดนของอินเดีย จีนได้ขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะมีข้อตกลงสามฉบับใน พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2556 ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคลาดักห์ แต่รัฐบาลจีนก็ยังคงโต้แย้งข้อพิพาทดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) จีนได้ทยอยยึดพื้นที่เป็นจำนวนโดยรวมกว่า 640 ตารางกิโลเมตรผ่านทางเดินป่าหลายแห่งเข้าสู่ลาดักห์ ก่อนที่จะผลักดันเข้าสู่ลาดักห์ใน พ.ศ. 2563

พันธมิตรที่ใกล้ชิดของจีนอย่างปากีสถานก็มีข้อพิพาทด้านพรมแดนกับอินเดียด้วย ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้เข้าสู่สงครามสี่ครั้งในช่วงเวลาที่ประเทศเหล่านี้มีการแบ่งแยกใน พ.ศ. 2490 และใน พ.ศ. 2508 พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2542 สงครามใน พ.ศ. 2514 ยังก่อให้เกิดบังกลาเทศที่มาจากการล่มสลายของปากีสถานตะวันออก

อินเดียมีพรมแดนร่วมกับกับบังกลาเทศยาว 4,097 กิโลเมตร กับปากีสถานยาว 3,323 กิโลเมตร กับเนปาลยาว 1,751 กิโลเมตร กับพม่ายาว 1,643 กิโลเมตร กับภูฏานยาว 699 กิโลเมตร และกับอัฟกานิสถานยาว 106 กิโลเมตร

จีนกำลังขยายขอบเขตอิทธิพลของตนอย่างมีวัตถุประสงค์ โดยการพัฒนาเครือท่าเรือทั่วบังกลาเทศ พม่า มัลดีฟส์ ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งเป็นการบีบรัดอินเดียภายใต้วงแหวนแห่งความผันผวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารต่างประเทศได้ขนานนามแผนดังกล่าวว่าเป็นยุทธศาสตร์ “สายธารแห่งไข่มุก” จีนได้สร้างท่าเรือกวาดาร์ในแคว้นบาลูจิสถาน ประเทศปากีสถาน ซึ่งเชื่อมโยงกับคัชการ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกของจีนผ่านระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถานมูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท) ที่หุ้นส่วนทั้งสองยกย่องให้เป็น “อนุสาวรีย์แห่งมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ของปากีสถานและจีน”

การให้กู้ยืมอย่างเอารัดเอาเปรียบ

ระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถานถือเป็นเสาหลักของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งเป็นชุดโครงการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32.9 ล้านล้านบาท) ใน 70 ประเทศ รัฐบาลจีนได้เบิกจ่ายเงินกู้ยืมอย่างเอารัดเอาเปรียบสำหรับโครงการที่ไม่ยั่งยืนทางการเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพียงเพื่อควบคุมโครงสร้างพื้นฐานที่ตนเริ่มต้นเพื่อเป็นค่าชดเชยการผิดนัดชำระหนี้

แม้ว่ารัฐบาลจีนยืนกรานว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นโครงการริเริ่มทางพาณิชย์ แต่การสร้างฐานทัพเรือดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญในวาระที่ไม่ได้เอ่ยถึงของจีน กวาดาร์จะมอบประตูทางทะเลแก่จีนไปสู่ทะเลอาหรับบนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอินเดียและมหาสมุทรอินเดีย อ่าวเปอร์เซีย อ่าวโอมาน และอ่าวเอเดน อินเดียคัดค้านระเบียงเศรษฐกิจจีนและปากีสถาน เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการผ่านกิลกิต-บัลติสถานและแคชเมียร์ที่ถูกยึดครองโดยปากีสถาน ซึ่งอินเดียยังมีข้อพิพาทด้านการควบคุมอยู่ ภายใต้ข้อตกลงนี้ ปากีสถานมีหน้าที่ต้องจ่ายเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท) แก่จีนในช่วง 20 ปีผ่านการชำระหนี้และเงินปันผล

นายซูบราห์มาเนียม ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (ขวา) และนายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมเจรจาด้านความมั่นคงจตุภาคีใน โตเกียวเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 รอยเตอร์

รัฐบาลจีนยังได้ยกระดับสิ่งจูงใจของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของตนด้วยการจัดหาทางทหาร ใน พ.ศ. 2560 อิสลามาบัดประกาศซื้อเรือดำน้ำโจมตีชั้นหยวน ไทป์ 041 แบบดัดแปลงสี่ลำจากจีน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการประกอบเรืออีกสี่ลำในเมืองท่าการาจี มีมูลค่าข้อตกลงประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.64 แสนล้านบาท) เรือดำน้ำสี่ลำแรกจะได้รับการส่งมอบภายใน พ.ศ. 2566 และส่วนที่เหลือภายใน พ.ศ. 2571 เพื่อเป็นแก่นหลักของโครงการการจู่โจมที่สองของสามเหล่านิวเคลียร์ของปากีสถาน นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2560 บังกลาเทศได้ซื้อเรือดำน้ำไทป์ 035จีหมิง ชั้นหมิง ที่ผลิตโดยจีนจำนวน 2 ลำ มูลค่า 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.71 พันล้านบาท)

การใช้งานคู่

รถถัง เรือฟริเกต และเครื่องบินขับไล่ที่จีนผลิตยังนำไปใช้ในกองทัพบังกลาเทศ และเจ้าหน้าที่ทหารของบังกลาเทศยังได้รับการฝึกอบรมเป็นประจำในจีน ทั้งสองประเทศสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ และบังกลาเทศได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างเป็นทางการในระหว่างการเยือนกรุงธากาของนายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อ พ.ศ. 2559

นับตั้งแต่นั้น การทำงานมีความคืบหน้าในโครงการ 9 โครงการ ซึ่งมีมูลค่า 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.33 แสนล้านบาท) อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน 27 โครงการในบังกลาเทศภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รัฐบาลจีนยังได้ประกาศนโยบายไม่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากบังกลาเทศกว่าร้อยละ 97 จีนได้สัญญาว่าจะมอบเงินทุนสนับสนุนจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.87 แสนล้านบาท) ให้กับบังกลาเทศ ซึ่งเป็นการเกทับการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาของอินเดียที่จำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.29 แสนล้านบาท)

บังกลาเทศยังได้บรรลุข้อตกลงมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.29 หมื่นล้านบาท) กับจีนด้านการบริหารจัดการน้ำ หลังจากที่ล้มเหลวในการรักษาสัญญาแบ่งปันน้ำกับอินเดียเหนือแม่น้ำทีเอสตา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับสี่ของประเทศที่ไหลมาจากอินเดีย จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.92 แสนล้านบาท) การค้ากับบังกลาเทศของอินเดียมีมูลค่าประมาณ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.12 แสนล้านบาท)

แม้ว่าใน พ.ศ. 2557 จีนจะบรรลุข้อตกลงในการสร้างท่าเรือที่โซนาเดีย ประเทศบังกลาเทศ แต่จีนก็พบพื้นที่ทางเลือกในพม่าเพื่อยกระดับการมีบทบาทของตนในอ่าวเบงกอลบนชายฝั่งทะเลตะวันออกของอินเดีย ระหว่างการไปเยือนพม่าในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นายสีได้บรรลุข้อตกลงสำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.28 หมื่นล้านบาท) ในระยะแรก

ท่าเรือในรัฐยะไข่ทางตะวันตกจะอยู่ติดกับอ่าวเองกอล ซึ่งมีพรมแดนทางตอนเหนือติดกับบังกลาเทศ อีกฟากหนึ่งของอ่าว อินเดียกำลังพัฒนาฐานทัพเรือดำน้ำนิวเคลียร์ที่เรียกว่าโครงการวาร์ชาใกล้กับศูนย์บัญชาการกองทัพเรือตะวันออกที่วิศาขาปัตนัม หากเกิดความขัดแย้งขึ้น เจาะพยูยังอาจใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างทางทหารได้อีกด้วย ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นของโครงการประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท) ถูกลดจำนวนลงเนื่องจากความหวาดกลัวต่อกับดักหนี้ของพม่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากจีนที่กำลังดำเนินการอยู่ได้แก่ นครย่างกุ้งใหม่ และเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดนจีนและพม่า จีนต้องสงสัยว่าจะยังคงปล่อยหน่วยข่าวกรองของกองทัพเรือไว้ที่ฐานทัพในหมู่เกาะโกโก ซึ่งอยู่ใกล้กับดินแดนหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย

ใน พ.ศ. 2560 เมื่อศรีลังกาประสบปัญหาในการชำระเงินจำนวนมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) ในข้อตกลงกับจีนเพื่อการพัฒนาท่าเรือฮัมบันโตตาทางตอนใต้ รัฐบาลจีนได้เข้าควบคุมท่าเรือยุทธศาสตร์ด้วยสัญญาเช่า 99 ปี จีนอาจใช้ท่าเรือแห่งนี้และท่าเรือกวาดาร์เป็นฐานทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชน เพื่อเสริมสร้างบทบาทของตนในมหาสมุทร

อินเดียกำลังสร้างทางหลวงที่ผ่านจุดบรรจบกันของแม่น้ำอินดัสและแม่น้ำแซนสการ์ในภูมิภาคลาดักห์ รอยเตอร์

จีนยังได้ขยายจากฮัมบันโตตาไปยังท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือสินค้าบรรจุตู้ที่ลึกที่สุดในเอเชียใต้ ในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดครั้งเดียวในศรีลังกา บริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริง จำกัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทไชน่า คอมมิวนิเคชันส์
คอนสตรัคชั่น จำกัด กำลังสร้างเมืองการเงินนานาชาติโคลัมโบมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) บนพื้นที่ 660 เอเคอร์ที่ยึดคืนมาจากทะเล “เมืองในเมือง” นี้คาดว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของสิงคโปร์และดูไบ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าทางทะเลของประเทศที่เป็นเกาะแห่งนี้ จีนยังได้ลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.29 หมื่นล้านบาท) ในการก่อสร้างอาคาร 60 ชั้น 3 แห่งในบริเวณดังกล่าว

ในส่วนของดินแดนหมู่เกาะมัลดีฟส์ อินเดียเกรงว่าการขยายตัวที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจกินบริเวณจาก 38,000 ถึง 100,000 ตารางเมตร ของเกาะเฟย์ดูไฟนอลฮู ที่บริษัทจีนได้เข้าครอบครองใน พ.ศ. 2559 ด้วยสัญญาเช่า 50 ปีในราคา 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 131 ล้านบาท) อาจนำไปสู่การจัดตั้งฐานทัพเรือจีน ซึ่งอาจเป็นฐานทัพเรือดำน้ำนิวเคลียร์และสถานีรับฟังเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวกองทัพเรืออินเดียในส่วนยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดียนี้ มัลดีฟส์อยู่ห่างจากกันยากุมารีที่เป็นส่วนใต้สุดของอินเดียเพียง 623 กิโลเมตร จีนได้สร้างและวางกำลังทหารในสิ่งปลูกสร้างเทียมในลักษณะเดียวกันในทะเลจีนใต้ 7 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลี และ 20 แห่งในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนประกาศว่าเป็น “สิทธิตามธรรมชาติของตนในฐานะชาติที่มีอธิปไตย” นอกจากนี้ จีนยังทำให้มัลดีฟส์มีภาระหนี้สิน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่รายได้ต่อปีของมัลดีฟส์อยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.31 แสนล้านบาท)

“ชุดวิธีการแก้ไขปัญหา”

จีนเจาะเข้าไปในภูฏานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเข้าถึงขั้นตอนสุดท้ายกับการบุกรุกเข้าไปในอาณาจักรพุทธที่ถูกปิดกั้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างสิ่งที่ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าเป็นที่อยู่อาศัยเชิงเส้นตามที่ราบสูงดอกลัม ที่ราบสูงดังกล่าว ซึ่งอยู่ที่บริเวณพรมแดนสามรอยต่อที่เป็นข้อพิพาทที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกันกับอินเดีย เป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ตึงเครียด 73 วันระหว่างจีนกับอินเดียใน พ.ศ. 2560 ภาพต่อมาแสดงให้เห็นว่าคลังกระสุนถูกสร้างขึ้นควบคู่ไปกับการตั้งถิ่นฐานใหม่

ก่อนที่จะมีการบุกรุก จีนได้ประกาศ “ชุดวิธีการแก้ไขปัญหา” ต่อข้อพิพาทด้านเขตแดนกับภูฏาน ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอใน พ.ศ. 2539 สำหรับการยอมยกพื้นที่พิพาทกับภูฏานทางเหนือให้ เพื่อแลกกับพื้นที่พิพาททางตะวันตกรวมถึงดอกลัมและเขตแดนทางตะวันออกของภูฏานที่คร่อมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซาคเตง ภูฏานเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งที่สุดของอินเดียในภูมิภาคนี้ แต่สนธิสัญญามิตรภาพอินเดียและภูฏานเมื่อ พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2550 ไม่มีข้อตกลงด้านกลาโหมที่ชัดเจน

ดอกลัมจึงถือเป็นกุญแจสู่อำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับหุบเขาชุมบีของทิเบตทางตอนเหนือของดอกลัมและคอคอดสีลีคุรีของอินเดียทางตอนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางแคบที่เป็นจุดยุทธศาสตร์บนภูเขาทั้งสองแห่ง ด้วยความก้าวหน้าอย่างเด่นชัด จีนสามารถปิดทางคอคอดความยาว 60 กิโลเมตรหรือที่รู้จักกันในชื่อ “คอไก่” ซึ่งเป็นทางเดินกว้าง 22 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่ของอินเดียกับรัฐแปดรัฐที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ติดกับบังกลาเทศ ภูฏาน พม่า และเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน

การโต้กลับของจีน

เมื่อตระหนักถึงยุทธศาสตร์อิทธิพลของจีน อินเดียได้ยกระดับการเยือนด้วยไมตรีจิตของตน โดยส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงสามคนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายซูบราห์มาเนียม ไจชานการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้เดินทางไปยังเซเชลส์หลังจากไปเยือนบาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นายอาจิต โดวาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเข้าพบผู้นำศรีลังกา และนาย ฮาร์ช ชริงลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเยือนเนปาล จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังบังกลาเทศและมัลดีฟส์

เวลาอาจไม่ได้เข้าข้างอินเดีย แต่อินเดียก็ต้องตอบโต้ความพยายามของจีนที่จะซื้ออิทธิพลกับเพื่อนบ้านต่อไป นอกเหนือจากการเสนอทางเลือกทางเศรษฐกิจและการทหารให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านแทนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแล้ว อินเดียควรมองไปที่ควอดซึ่งเป็นคณะนักวิเคราะห์ที่โต้แย้งกันที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆควอดสามารถร่วมกันจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นทางเลือกทางการเงินที่ยั่งยืนแทนโครงการที่ก่อให้เกิดหนี้สินของจีนสำหรับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย

นอกจากนี้ ควอดยังสามารถเสริมสร้างความตระหนักในขอบเขตทางทะเล แสดงพลังโดยการแบ่งปันโลจิสติกส์ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านกลาโหมเพื่อต่อต้านจีนในภูมิภาคนี้ การบรรลุข้อตกลงด้านกลาโหมจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของควอด เช่น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 อินเดียและสหรัฐฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมที่ละเอียดอ่อน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้สำหรับการนำวิถีขีปนาวุธและโดรน ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงฉบับล่าสุดในชุดข้อตกลงระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ควอดที่เข้มแข็งจะใช้ความเป็นเอกเทศทางเศรษฐกิจและทหารเพื่อบังคับให้จีนคิดทบทวนเกี่ยวกับการดำเนินการอย่างก้าวร้าวต่อไปในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และการบุกรุกชายแดนของอินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน o

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button