เรื่องเด่น

การลาดตระเวน เส้นทางการค้า ทางทะเล

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความทะเยอทะยาน แต่มีเงินพอหรือไม่

นายซัลวาทอร์ บาบอนส์ | ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

นายสี จิ้นผิง หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เพิ่งเข้าก้าวขึ้นรับตำแหน่ง เดินทางเยือนเอเชียกลางเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปีขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นการรวมพันธมิตรทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง โดยในขณะนั้นรวมถึงคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ระหว่างทาง นายสีได้เยือนมหาวิทยาลัยนาซาร์บาเยฟในคาซัคสถาน อันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเดียวกันกับผู้ก่อตั้ง ซึ่งคือ นายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ชายชาวคาซัคผู้แข็งแกร่ง นายสีได้กล่าวสุนทรพจน์ขณะเยือนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบทความที่ทุกคนที่เคยเข้าร่วมงานลักษณะนี้จะคุ้นเคยในโลกหลังสงครามเย็น โดยเน้นย้ำถึงการที่เยาวชนคืออนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะรักษาสันติภาพของโลก และสิ่งที่ทั่วโลกต้องการในขณะนี้คือความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย นายสีกล่าวถึงหลักการที่ขาดไม่ได้เมื่อปราศรัยต่อชาวโลกที่สองซึ่งเชื่อมั่นในหลักอันเก่าแก่พ้นสมัย นั่นคือการเรียกร้องพลังฟื้นฟูเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ “เส้นทางสายไหม” ไม่ได้ระบุอยู่ในแม้แต่ชื่อของสุนทรพจน์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจีนยังคงเรียกสุนทรพจน์นี้ว่า “การส่งเสริมมิตรภาพระหว่างประชาชนของเราและการร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่สดใส” และก็ไม่ใช่เส้นทางสายไหมใหม่สายแรกอีกด้วย นางฮิลลารี
คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้เปิดตัวยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานเส้นทางสายไหมใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ. เดวิด เพทราอุส และกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนดึงดูดมโนคติของนักวิชาการและสื่อมวลชน จนทำให้นายสีและกระทรวงการต่างประเทศจีนเปลี่ยนคำพูดที่ซ้ำซากเป็นคำแถลงการณ์ เมื่อนายสีเดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาอินโดนีเซีย เส้นทางสายไหมคือประเด็นสำคัญ จีนไม่ได้มีเส้นทางสายไหมเพียงเส้นทางเดียว หากแต่มีสองสายคือเส้นทางสายไหมทางบกทอดผ่านเอเชียกลาง และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก

นายสี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวคำอวยพรในระหว่างการเลี้ยงต้อนรับงานเสวนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ณ ศาลาประชาคมใน กรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560

“แถบเส้นทาง” ภาคพื้นดินเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก แต่ “เส้นทาง” ทางทะเลดึงดูดทรัพยากรทางการทูต ทางการเงิน และทางการทหารของจีนมากยิ่งกว่า ในความเป็นจริง เส้นทางบก ระหว่างยุโรปและจีนเป็นเส้นทางที่ขาดคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่เส้นทางเดินทะเลที่เชื่อมระหว่างจีนกับสิงคโปร์ ออสเตรเลีย อ่าวเปอร์เซีย คลองสุเอซ และยุโรปตะวันตกมีความสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอดของจีนในฐานะประเทศการค้า หากเส้นทางโดยรอบส่วนล่างของยูเรเชียถูกปิดลง เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็จะยังคงอยู่ต่อไป แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะถูกบีบอย่างไร้ทางรอด

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จีนในยุคปฏิรูปได้เปลี่ยนจากอาณาจักรทวีปเป็นประเทศการค้า ซึ่งจีนควรแสวงหาความเป็นผู้นำทางทะเลผ่านกระแสการนำเข้าและส่งออก ความทะเยอทะยานของจีนคือการรักษาความมั่นคงทางการค้าของตนจากการแทรกแซงของสหรัฐฯ แต่นักทฤษฎีชาวจีนที่ชาญฉลาดเข้าใจว่านั่นเป็นความทะเยอทะยานของศตวรรษที่ 22 ซึ่งในระหว่างนี้ จีนอาจเผชิญกับภัยคุกคามอื่น ๆ อีกหลากหลายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การปิดล้อมของอินเดีย เพลิงไหม้ที่ช่องแคบฮอร์มุซ หรือแม้แต่การปิดคลองสุเอซ โครงการพัฒนาที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนในเอเชียใต้และแอฟริกาตะวันออกทำให้จีนมีเหตุผลมากขึ้นในการเตรียมความพร้อมสำหรับการแทรกแซงทางทหารที่อาจเกิดขึ้นทั่วภูมิภาค แม้ว่ากองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนยังคงอยู่ห่างไกลจากความสามารถที่จะท้าทายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในทั่วโลก แต่กองทัพฯ อาจหวังที่จะแทรกแซงการปฏิบัติการของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการแทรกแซงผ่านการทำสงครามเรือดำน้ำ

แน่นอนว่าจีนมีแรงจูงใจที่จะดำเนินการทางทหารในเส้นทางสายไหมทางทะเล และคำมั่นสัญญาของจีนด้านการช่วยเหลือต่างประเทศอันหวือหวาโดยไม่มีข้อผูกมัดแก่รัฐบาลในภูมิภาค ทำให้จีนมีโอกาสก้าวสู่ภารกิจนั้นมากขึ้น ทั้งนี้ แล้วเรื่องทุนทรัพย์เป็นอย่างไรบ้าง จีนจะสามารถพัฒนากองทัพเรือที่จำเป็นต่อการสร้างแสนยานุภาพสู่มหาสมุทรอินเดียและไกลออกไปได้หรือไม่ บางทีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ จีนมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะทำได้หรือไม่

เมื่ออิงจากความทะเยอทะยานและการประกาศต่าง ๆ คำตอบของทั้งสองคำถามดูเหมือนจะเป็น ทำได้ จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินสองลำ และอีกหนึ่งลำอยู่ระหว่างการต่อเรือ เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สามของจีนจะมีระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าแบบบูรณาการประเภทที่ใช้กับเรือพิฆาตชั้นซูมวอลต์ขั้นสูงของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ลำที่สี่จะเป็นแบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีระบบออกตัวด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นที่ห้า และปืนรางไฟฟ้า เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนแต่ละลำจะล้อมรอบด้วยกลุ่มเรือประจัญบานเต็มชุด พร้อมด้วยเรือคุ้มกันพิฆาต เรือดำน้ำโจมตี และเรือสนับสนุน อย่างน้อยนั่นก็คือความฝันใฝ่

ความเป็นจริงของกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนธรรมดากว่านั้นมาก จีนมีเรือดัดแปลงจากเรือลาดตระเวนของสหภาพโซเวียต หรือเรือเหลียวหนิง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรือฝึกซ้อม อีกทั้งเรือจำลองดั้งเดิม หรือเรือชานตง ซึ่งใช้แล่นไปมาระหว่างทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ พร้อมกองบินกำลังต่ำซึ่งสามารถบินขึ้นได้เพียงจากดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยต้องปลดเชื้อเพลิงและอาวุธยุทโธปกรณ์ออกก่อน จีนประสบปัญหาการขาดความสามารถในการเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ ซึ่งจำกัดปฏิบัติการทางอากาศของเรือบรรทุกเครื่องบินจีนที่ภายในรัศมีแคบของเรือหลัก เรือบรรทุกเครื่องบินและอากาศยานรุ่นต่อ ๆ ไปอาจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่รายงานข่าวชี้ให้เห็นว่าจีนตัดสินใจที่จะถอยร่นการผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สามและสี่จากการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานนิวเคลียร์ตามลำดับ ไปเป็นการขับเคลื่อนด้วยไอน้ำ และมีรายงานว่าแผนสำหรับเรือบรรทุกอากาศยานลำที่ห้าและหกได้ยกเลิกไปแล้ว

รถบรรทุกของจีนบรรทุกสินค้าซื้อขายเรียงแถวอยู่ที่ท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน

แม้ว่าความทะเยอทะยานทางทหารของจีนยังไม่ลดน้อยลง แต่ทรัพยากรทางการคลังของจีนก็มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขงบประมาณของรัฐบาลเป็นที่สงสัยว่าอาจคือเพียงข้อมูลเบื้องต้น ตลอดระยะเวลาการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2523-2558 งบประมาณรวมของรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นมีแนวโน้มแสดงการขาดดุล แต่การเติบโตของรายได้เป็นไปอย่างรวดเร็วจนระดับการใช้จ่ายในแต่ละปีถูกปิดคลุมโดยรายรับจากภาษีของปีถัดไป ยกตัวอย่าง รายจ่ายของจีนใน พ.ศ. 2558 อยู่ที่ 15.2 ล้านล้านหยวน (77.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่ารายรับใน พ.ศ. 2558 ที่ 14 ล้านล้านหยวน (71.1 ล้านล้านบาท) แต่รายจ่ายนั้นถูกปิดคลุมโดยรายได้ของจีนใน พ.ศ. 2559 ที่ 16 ล้านล้านหยวน (81.2 ล้านล้านบาท) การเติบโตของรายได้เป็นเลขสองหลัก หมายความว่าข้อจำกัดด้านงบประมาณทั้งหมดนั้นเป็นเพียงกำแพงอ่อน ๆ เนื่องจากผู้นำของจีนรู้ว่าเงินที่ต้องจ่ายสำหรับคำสัญญาในวันนี้จะสามารถมีให้ใช้ได้ในไม่ช้า บางทีอาจเป็นวันพรุ่งนี้เลยก็ได้

ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนแปลงไปหลังจาก พ.ศ. 2559 เมื่อการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้เริ่มลดลง เมื่อไม่นานมานี้ การเติบโตของรายได้ต่อปีซึ่งเคยเฉลี่ยประมาณ 20% ได้ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเพียงตัวเลขหลักเดียว หากตัวเลขของทางการเชื่อถือได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา เนื่องจากเรือบรรทุกเครื่องบินและกองบิน รวมถึงกลุ่มเรือประจัญบานที่เกี่ยวข้อง เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมที่มีจำนวนมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจีนอาจพยายามหาทางประหยัดงบประมาณ แม้ว่าจีนจะสามารถรับมือกับความท้าทายทางเทคนิคในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินนิวเคลียร์ได้ แต่ก็อาจต้องใช้เงินจำนวนมากในการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินเหล่านั้น โดยยังไม่นับรวมการติดตั้งอุปกรณ์

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องราวเดียวกันสำหรับ “สร้อยไข่มุก” รอบมหาสมุทรอินเดียที่ได้รับความสนใจอย่างมากของจีน เป็นที่กระจ่างชัดว่าจีนมีความทะเยอทะยานทางยุทธศาสตร์ที่จะขยายภูมิภาคด้วยฐานทัพการสู้รบทางเรือ ทางอากาศ และทางอิเล็กทรอนิกส์ จีนได้ใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อการทหารในทะเลจีนใต้ไปแล้ว โดยสร้างเกาะเทียมสำหรับปักหลักท่าเรือ ลานบิน และเรดาร์ อย่างไรก็ตาม ทะเลจีนใต้อยู่ใกล้กับมาตุภูมิ และค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินสำหรับตั้งฐานทัพเหล่านี้คือศูนย์ (ค่าใช้จ่ายในการสร้างที่ดินเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง) ฐานทัพในต่างประเทศของประเทศอธิปไตยอาจมีราคาแพงกว่ามาก

เมื่อพิจารณาฐานทัพทหารต่างประเทศที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของจีนในจิบูตี โดยคร่าว ๆ ฐานทัพในแอฟริกาตะวันออกแห่งนี้ทำให้จีนมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.5 ร้อยล้านบาท) ต่อปีในการเช่าที่ดิน รวมทั้งค่าก่อสร้าง ซึ่งดูเหมือนจะเปรียบเทียบได้ดีกับเงื่อนไขสัญญาเช่าของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) ต่อปีสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่กว่ามาก สำหรับสหรัฐอเมริกา เงื่อนไขของสัญญาแสดงถึงค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน กล่าวคือ ประเทศต่าง ๆ อย่างจิบูตี จะประเมินมูลค่าฐานทัพสหรัฐฯ โดยรวมถึงการรับประกันความปลอดภัยโดยนัยที่ประเทศนั้น ๆ จัดหาให้ ในทางกลับกัน จีนต้องจ่ายเงินให้ประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพื่อโน้มน้าวให้ประเทศเหล่านั้นยอมให้กองทัพจีนเข้าประจำการ ในกรณีของจิบูตี นั่นรวมถึง 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท) สำหรับท่าเรือ, 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท) สำหรับการรถไฟ และ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) สำหรับสนามบิน

บุคลากรของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้าร่วมพิธีเปิดฐานทัพทหารของสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ประเทศจิบูตี ในแอฟริกาตะวันออกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560

ในปากีสถานก็เช่นเดียวกัน ซึ่งโครงการท่าเรือกวาดาร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนนั้นขาดเหตุผลทางการค้าที่แท้จริง มีรายงานว่าราคาอยู่ที่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) ซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าจีนใช้งบประมาณกับกวาดาร์ไปเท่าใด หากสร้างแล้วเสร็จจริง ท่าเรือแห่งนี้อาจกลายเป็นจุดเติมเชื้อเพลิงสำหรับเรือของกองทัพเรือจีนหรือฐานทัพนาวิกโยธินจีน ไม่ว่าจีนจะหาเหตุผลใดมาอ้างสำหรับกวาดาร์ แน่นอนว่าไม่ใช่เหตุผลอันควรในเรื่องต้นทุน อาจกล่าวได้ในลักษณะเดียวกันสำหรับท่าเรือฮัมบันโตตาที่ไม่ค่อยได้ใช้ในศรีลังกา และท่าเรือเคียวกพยุตามแผนในพม่า ซึ่งแต่ละแห่งมีราคาสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) เมื่อรวมกันแล้ว ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดียทั้งสามนี้ทำให้จีนต้องจ่ายมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท) ก่อนที่เรือของกองทัพเรือจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนสักลำหนึ่งจะมีโอกาสได้ใช้ไข่มุกดังกล่าว ทว่าแทนที่จะผลักดันอย่างเด็ดขาดไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาในอนาคต จีนกลับเรียกร้องให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากประเทศเจ้าบ้านในทั้งสามกรณี

เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนชะงักงัน ผู้นำของประเทศจึงไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาในการใช้จ่ายที่ประหลาดและไม่สมเหตุสมผลได้อีกต่อไป โดยมั่นใจว่าการเติบโตในอนาคตจะสร้างทรัพยากรที่จำเป็นต่อการทำตามคำมั่นสัญญาในอดีต นับเป็นครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษที่จีนเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณอย่างหนัก ในช่วงเวลาที่จีนอนุญาตให้บริษัทเชิงกลยุทธ์ เช่น บริษัทซิงหัว ยูนิกรุ๊ป นักออกแบบอุปกรณ์กึ่งตัวนำ และบริษัทบริลเลียนซ์ ออโต ผู้ผลิตรถยนต์ ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นที่ชัดเจนว่าเงินอุดหนุนจากรัฐจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไป รัฐบาลจีนเริ่มที่จะสร้างทางเลือกที่ยากเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายที่รัฐบาลแห่งอื่น ๆ เคยประสบมานาน และงบประมาณทางทหารก็ไม่ได้รับการยกเว้น

ความจริงจังเกี่ยวกับความท้าทายของจีนนั้นแต่ไหนแต่ไรมามีข้อตั้งว่าขึ้นอยู่กับงบประมาณทางการทหารของจีนที่ดูเหมือนจะไร้ขอบเขต และความฝักใฝ่ของจีนด้านการยกระดับทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว กองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกองเรือขนาดเล็ก ซึ่งประกอบด้วยเรือพิฆาต เรือรบ และเรือลาดตระเวนจำนวนมากที่ค่อนข้างเรียบง่ายราคาไม่แพง เช่นเดียวกับกองทัพเรือ 1,000 ลำที่เคยเกรียงไกรของสหภาพโซเวียตก็เป็นกองเรือราคาถูก ทั้งนี้ เพื่อท้าทายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่เลียนแบบความสามารถของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในการแสดงแสนยานุภาพนอกชายฝั่งอเมริกา กองทัพเรือจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจะต้องได้รับความมุ่งมั่นทางการเงินระยะยาวเป็นพิเศษจากรัฐบาลจีน

หากตั้งประเด็นอยู่ที่เรื่องเดียว คำมั่นสัญญานั้นจีนอาจทำให้ได้ ทว่าในบริบทของพันธสัญญาทางการทหารและการทูตอื่น ๆ นานัปการ นั่นอาจไม่ใช่อันดับแรกในลำดับรายการของจีน จีนจะครองเส้นทางการค้าทางทะเลได้ก็ต่อเมื่อจีนล้มเลิกการจัดลำดับความสำคัญด้านงบประมาณอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงการอวกาศ ในขณะเดียวกัน สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ดีดตัวการพัฒนาอุปกรณ์กึ่งตัวนำภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ต่อลำดับความสำคัญอันดับ 1 ด้านการป้องกันประเทศ นั่นยังไม่รวมถึงภาวะฉุกเฉินทางการเงินนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในภาคการธนาคารของจีน เนื่องด้วยการแข่งขันในลักษณะนี้ การจัดกำลังทางทหารสู่เส้นทางสายไหมทางทะเล ที่แม้จะน่าโหยหายิ่งต่อนักวางแผนทางทหารของจีน ก็อาจต้องรอไปก่อน

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button