เรื่องเด่น

การจับปลาที่ไม่ได้รับอนุญาต

การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม คุกคามความมั่นคงทางทะเล

น.ท. เบน โครเวลล์/กองกำลังเฉพาะกิจร่วมตะวันตก และนายเวด เทอร์โวลด์/ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง

การทำประมงเชิงพาณิชย์ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 9.1 ล้านล้านบาท) เป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่จำเป็นสำหรับประเทศติดทะเลอีกด้วย เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีการประมงและความต้องการอาหารทะเลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงควบคู่กับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเป็นผลรวมที่อันตราย ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากแรงกดดันของการทำประมงที่ถูกกฎหมายและการทำประมงที่ผิดกฎหมาย กองเรือประมงระหว่างประเทศกำลังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศติดทะเลทั่วโลก จากพฤติกรรมการล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม กับการค้ามนุษย์ การลักลอบค้ายาเสพติด ตลอดจนอาชญากรรมทางทะเลอื่น ๆ อีกมากมาย เนื่องจากลักษณะปัญหาทั่วโลกอย่างเป็นเครือข่ายและยุทธศาสตร์ การจัดการกับภัยคุกคามจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมจึงจำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างประเทศ

องค์ประกอบ 3 ประการของการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมมีองค์ประกอบ 3 ประการ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ องค์ประกอบประการแรกเกิดขึ้นเมื่อมีการทำประมงภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศหนึ่ง หรือภายในน่านน้ำที่ควบคุมโดยองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระดับชาติหรือกฎหมายขององค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค องค์ประกอบที่สองเกี่ยวข้องกับการรายงานที่ไม่ถูกต้องหรือการไม่รายงานการจับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับภายในประเทศหรือองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค องค์ประกอบที่สามเกี่ยวข้องกับเรือที่ไม่มีสัญชาติหรือเรือที่ดำเนินการประมงในพื้นที่ขององค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคโดยไม่ได้เป็นภาคีขององค์กรดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ หรือการทำประมงในพื้นที่ที่ไม่มีกฎระเบียบในประเทศหรือระหว่างประเทศโดยไม่คำนึงถึงการดูแลทรัพยากรประมง

แม้ว่าแนวคิดและศัพท์บัญญัติข้างต้นจะไม่ได้แสดงออกถึงการคุกคามเป็นพิเศษ แต่การปฏิบัติเหล่านี้ได้สร้างความท้าทายด้านนิเวศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงในมหาสมุทรของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ในรายงานของศูนย์วิจัยสติมสันเซ็นเตอร์ พ.ศ. 2561 ที่มีชื่อว่า “ทอดตาข่ายจับปลาให้กว้างขึ้น: ผลกระทบด้านความปลอดภัยของการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม” ผู้เขียนได้ระบุถึงภัยคุกคามด้านความปลอดภัย 6 ประการที่เกี่ยวข้องกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร ความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนอาชญากรรมข้ามชาติและการกระทำอันเป็นโจรสลัด

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียควบคุมตัวชาวประมงเวียดนามที่ถูกกล่าวหาว่าทำประมงผิดกฎหมายในบริเวณใกล้กับหมู่เกาะนาตูนาของอินโดนีเซีย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

องค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมดทำหน้าที่เป็นวงจรสะท้อนกลับเสริมแรงที่เป็นอิสระจากกัน ในขณะเดียวกัน วงจรสะท้อนกลับดังกล่าวเชื่อมโยงถึงกันและเร่งปัญหาและความท้าทายเกี่ยวกับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

สภาพของการทำประมงระดับโลก

เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือทั่วโลกลดน้อยลง กองเรือประมงในน่านน้ำห่างไกลและชาวประมงด้วยวิธีดั้งเดิมกำลังสร้างความตึงเครียดต่อทรัพยากรประมงมากยิ่งขึ้น ในรายงานฉบับหนึ่งประจำ พ.ศ. 2561 ที่มีชื่อว่า “สภาพการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลก” องค์การสหประชาชาติพบว่ามีการจับสัตว์น้ำเกินขนาดโดยอยู่ที่ร้อยละ 33 ของจำนวนปลาทั่วโลก และอีกกว่าร้อยละ 59.9 ในระดับการจับสัตว์น้ำที่ต่อเนื่องสูงสุด ความกดดันที่เพิ่มขึ้นนี้อาจสร้างความขาดแคลน กระตุ้นราคาให้สูงขึ้น ตลอดจนจูงใจให้มีการทำประมงที่ผิดกฎหมายและพฤติกรรมการล่าสัตว์มากขึ้น แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นจากการทำประมงเกินขนาดและวิธีการจับปลาบางประการได้นำไปสู่การล้มครืนของนิเวศของพื้นที่ประมงในทะเลจีนใต้ รวมทั้งตามแนวชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแอฟริกา การทำลายทรัพยากรธรรมชาติส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเผชิญกับผลกระทบสองเท่าจากการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งเคยหมุนเวียนได้และการสูญเสียอาหารที่เก็บเกี่ยวจากทะเล

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัญหาสำคัญในหลาย ๆ ประเทศ องค์การสหประชาชาติรายงานว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้รับโปรตีนจากผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือทั่วโลกที่ลดน้อยลงส่งผลให้บุคคล ครอบครัว และชุมชนต้องตกอยู่ภายใต้ความกดดันมากขึ้นสำหรับการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน เมื่อต้องเผชิญกับการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของความอดอยากหรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเพื่อสนับสนุนครอบครัวหรือหมู่บ้าน ประชาชนส่วนใหญ่จะดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเลี้ยงดูชุมชนของตน ดังนั้น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรมนุษย์ ซึ่งอาจผลักดันให้เกิดอาชญากรรมทางทะเลและการกระทำอันเป็นโจรสลัดได้

การทำประมงเกินขนาดนำไปสู่การกระทำอันเป็นโจรสลัด

ตัวอย่างสำคัญของชาวประมงที่กลายเป็นอาชญากรคือการกระทำอันเป็นโจรสลัดที่เกิดขึ้นนอกชายฝั่งโซมาเลียตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2555 ประเทศโซมาเลียตกอยู่ในความวุ่นวายใน พ.ศ. 2534 ภายหลังจากการโค่นล้มนายโมฮัมเหม็ด เซียด แบร์ ผู้นำเผด็จการ อีกทั้งการสูญเสียอำนาจส่วนกลางซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ไร้การปกครองขนาดใหญ่รอบ ๆ จะงอยแอฟริกา กองเรือประมงสาธารณรัฐประชาชนจีนในน่านน้ำห่างไกลและอาจมีประเทศอื่น ๆ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของโซมาเลีย ด้วยความตระหนักถึงการขาดการบังคับใช้กฎหมายในระดับชาติและปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือที่ลดน้อยลง การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมนี้ทำให้ชาวประมงท้องถิ่นตกงานอย่างรวดเร็ว ด้วยโอกาสเพียงเล็กน้อยในการหาเลี้ยงชีพในรูปแบบอื่น ๆ และความพร้อมในการเข้าถึงอาวุธระดับทหาร ชาวประมงท้องถิ่นจึงประกอบอาชีพประมงได้เพียงไม่นานก่อนที่การกระทำอันเป็นโจรสลัดจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูในน่านน้ำบริเวณโดยรอบจะงอยแอฟริกา

ในปัจจุบัน ความท้าทายของการกระทำอันเป็นโจรสลัดในโซมาเลียส่วนใหญ่ถูกปราบปรามผ่านความพยายามสำคัญในการจัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจทางเรือระหว่างประเทศและการใช้นาวิกโยธินติดอาวุธอย่างแพร่หลาย มีการโจมตีทั้งสิ้น 11 ครั้งในช่วง พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งลดลงจากระดับสูงสุดที่ 237 ครั้งใน พ.ศ. 2550 ตามรายงานของสำนักงานข่าวกรองทางเรือของสหรัฐฯ

ลำดับเหตุการณ์ที่เริ่มต้นด้วยการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ได้นำไปสู่การกระทำอันเป็นโจรสลัด ตลอดจนทำให้ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมีความรุนแรงขึ้น การปฏิบัติดังกล่าวควรเป็นอุทาหรณ์ถึงอันตรายของการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ศูนย์เฝ้าระวังในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์หนึ่งแห่งจากเจ็ดแห่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ดำเนินการตรวจสอบเรือประมงตามเวลาจริง ศูนย์ดังกล่าวบังคับใช้ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

สำนักงานข่าวกรองระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอ่าวกินียังคงมีพื้นที่เสี่ยงภัยจากการกระทำอันเป็นโจรสลัด ซึ่งเกิดการโจมตี 417 และ 544 ครั้ง ตามลำดับ ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา รูปแบบการ กระทำดั้งเดิมของเรือขนาดเล็กซึ่งโจมตีเรือขนาดใหญ่ที่แล่นช้าเพื่อทำการปล้นโดยใช้อาวุธหรือการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ยังคงได้ผลอยู่ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบรรดาชาวประมงที่ว่างงานดำเนินการโจมตีครั้งล่าสุดหรือไม่ คำบอกเล่าเกี่ยวกับความชำนาญในการใช้เรือขนาดเล็ก รวมถึงการกระทำในทะเลต่อเป้าหมายที่เลือกซึ่งมักจะอยู่ไกลจากชายฝั่ง ชี้ให้เห็นถึงระดับความสามารถที่บุคคลจะได้รับในฐานะนักเดินเรือมืออาชีพ

ปัจจัยทางอาญาอื่น ๆ ในทะเลลึก

การปล้นโดยใช้อาวุธและการกระทำอันเป็นโจรสลัดยังคงเป็นข้อกังวลหลักต่อความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ในบริบทของชุมชนการเดินเรือทั่วโลก การกระทำดังกล่าวถือว่ามีจำนวนน้อยมากในเชิงสถิติ สิ่งที่น่าเป็นกังวลกว่าอาจเป็นความผิดทางอาญาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับเรือที่ทำประมงอย่างผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เช่น การค้าแรงงานทาสและการค้ายาเสพติด ใน พ.ศ. 2559 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ได้ตีพิมพ์ชุดบทความเกี่ยวกับการค้าแรงงานทาสในกองเรือประมงพาณิชย์ทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ในกรณีหนึ่ง ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของชายคนหนึ่งซึ่งถูกส่งตัวกลับประเทศพม่าหลังจากถูกกักกันอยู่ในทะเลเป็นเวลา 22 ปีโดยไม่ได้รับค่าจ้างและอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เป็นอย่างมาก นอกเหนือจากการบีบบังคับใช้แรงงานแล้ว เรือประมงยังถูกนำมาใช้เพื่อลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นจากทั่วโลกอีกด้วย รายงานฉบับหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่มีชื่อว่า “ข้อมูลสำคัญเรื่องการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ พ.ศ 2563” พบว่าผู้ย้ายถิ่นฐานอย่าง “ผิดปกติ” ประมาณ 653,000 คนเดินทางเข้ายุโรปโดยใช้เส้นทางทางทะเลตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2559 – 2561 (ผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างผิดปกติ หมายถึง “การเคลื่อนย้ายของบุคคลที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ หรือข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการเข้าหรือออกจากประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน หรือประเทศปลายทาง” ตามรายงานดังกล่าว) แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ได้ระบุประเภทของเรือที่ใช้ แต่เรือประมงก็มีบทบาทในการเคลื่อนย้ายผู้คนจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปยุโรป

ความกังวลด้านความปลอดภัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรค้ายาเสพติดกับเรือประมงเชิงพาณิชย์ เรือจำนวนมากในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกที่ถูกสั่งห้ามโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเป็นเรือประมงที่ค้ายาเสพติดหรือสนับสนุนเรือลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น “อย่างรวดเร็ว” ซึ่งต้องใช้การเติมเชื้อเพลิง รายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2554 ที่มีชื่อว่า “อาชญากรรมข้ามชาติในอุตสาหกรรมการประมง” ระบุว่า “การใช้เรือประมงถือว่าเป็นส่วนสำคัญของวิธีการลักลอบขนโคเคนทางทะเลไปยังเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา”

การลักลอบขนโคเคนดังกล่าวมีหลักฐานแน่ชัดในรายงานล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่อ้างถึงการเคลื่อนย้ายยาเสพติดข้ามพรมแดนทางทะเลโดยเรือประมง การใช้เรือเหล่านี้เป็นการปกปิดกิจกรรมที่ผิดกฎหมายภายใต้ลักษณะการค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย

การแสดงอำนาจ

ความท้าทายด้านความมั่นคงที่สำคัญล่าสุดสำหรับประชา คมระหว่างประเทศคือการใช้เรือประมงเป็นเครื่องมือในการแสดงอำนาจของประเทศ จีนมีความโดดเด่นในฐานะผู้ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวมากที่สุด

ในศตวรรษที่ 15 จีนเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลซึ่งมีเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่แล่นผ่านภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการค้าและการสำรวจระหว่างประเทศ ภารกิจทางทะเลเหล่านี้ถูกยกเลิกจนกระทั่งภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อแผนที่อย่างเป็นทางการฉบับแรกของการอ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตในทะเลจีนใต้ปรากฏขึ้นใน พ.ศ. 2490 ในช่วงปลายทศวรรษ พ.ศ. 2543 จีนเริ่มที่จะยืนยันการอ้างสิทธิ์ทางทะเลในภูมิภาคอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น โดยใช้การถมที่ดินและกิจกรรมสร้างแนวปะการังเทียมที่ดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียตรวจค้นเรือเอ็มวี นิกา ที่ติดธงปานามาเพื่อจับปลาอย่างผิดกฎหมาย หลังจากกักกันเรือดังกล่าวในบาตัมเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

หลังจากที่จีนเข้าควบคุมสันดอนสกาโบโรห์โดยพฤตินัยใน พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นแนวปะการังในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรพบว่าจีนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการประมงที่ผิดกฎหมายในวงกว้าง อีกทั้งโครงการก่อสร้างที่ทำให้ที่อยู่อาศัยทางทะเลเสื่อมโทรม ตลอดจน “ไม่ยอมแสดงความเคารพในสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการประมงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนี้” โดยทั่วไป จีนปฏิเสธคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาล อีกทั้งยังปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวอีกด้วย

คำวินิจฉัยข้อเท็จจริงข้างต้นสรุปวิธีการต่าง ๆ ที่จีนใช้ทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แม้จะมีการละเมิดกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ จีนก็ยังได้ดำเนินการเพิ่มเติมโดยใช้เรือของกองกำลังรักษาชายฝั่งเพื่อคุ้มกันกองเรือประมงเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ นอกจากนี้ จีนยังได้ใช้เรือประมงเสริมกำลังภายใต้การควบคุมของกองทัพทางทะเลเพื่อพุ่งชน โจมตี และคุกคามเรืออื่น ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค

ในหลายกรณี การกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทำให้ลูกเรือจำนวนมากลอยคอกลางทะเล ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการแห่งการเดินเรือที่ใช้ได้ทุกกาลสมัย นั่นคือ อย่าปล่อยให้ชาวเรือตกอยู่ในภัยอันตราย เมื่อไม่นานมานี้ จีนได้ดึงความสนใจจากนานาชาติจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เมื่อจีนส่งเรือประมงขนาดใหญ่ 340 ลำไปยังน่านน้ำใกล้กับเอกวาดอร์และหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการออกทะเลประจำปีเพื่อตกปลาทั่วโลก

การจัดการกับภัยคุกคาม

ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงทางทะเลส่วนใหญ่กล่าวว่าตนต้องการทรัพยากรที่มากขึ้น เช่น ลูกเรือ เรือ เครื่องบิน ปืน การฝึกอบรม ฯลฯ แน่นอนว่าทรัพยากรมีความสำคัญต่อความสำเร็จ เพราะแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็ยังต้องการเครื่องมือมากขึ้นเพื่อต่อต้านอาชญากรรมทางทะเล หากไม่มีทรัพยากรเพิ่มเติม สิ่งหนึ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศสามารถทำได้เพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมคือการขึ้นเรือประมง กองกำลังรักษาความมั่นคงทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ จำเป็นต้องขึ้นเรือประมงเพื่อทำการติดต่อกับท่าเรือและในทะเล หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายควรใช้อำนาจทางกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศไปจนถึงเขตอำนาจศาลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อตรวจตราเรือ เอกสารและอาหารของลูกเรือ สินค้า จำนวนปลาที่รายงาน และอุปกรณ์การประมง ตลอดจนการสัมภาษณ์เพื่อพิจารณาความปลอดภัยและสุขภาพของลูกเรือ

บรรดาเจ้าหน้าที่จะต้องพยายามกำหนดตำแหน่งและจุดประสงค์ของการทำประมง ตลอดจนกำหนดสถานที่และเวลาที่เรือประมงต้องกลับไปที่ท่าเรือ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องใช้ทุกโอกาสเพื่อมีส่วนร่วมกับชาวประมงและควบคุมกิจกรรมของเรือเหล่านี้ ขณะที่เรือประมงเดินทางไปทั่วโลกทั้งในทะเลลึกและน่านน้ำชายฝั่ง

นอกจากนี้ การประสานความพยายามของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายแห่งชาติจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเชื่อมต่อผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงทางทะเลจะช่วยให้พวกเขาสร้างฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสามารถประสานงานระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีที่หลบภัยใด ๆ สำหรับเครือข่ายอาชญากรรม ความสามารถในการดำเนินการดังกล่าวกลายเป็นความจริงมากยิ่งขึ้น

ประเทศชายฝั่งหลายแห่งกำลังจัดตั้งศูนย์ประสานงานทางทะเลแห่งชาติ ซึ่งมักได้รับความช่วยเหลือจากโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางทะเลของสหรัฐฯ โดยเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างขีดความสามารถในระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายทางทะเลที่หลากหลาย เมื่อมีการพัฒนาศูนย์รวมการประสานงานทางทะเลเหล่านี้ การเชื่อมโยงศูนย์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันจึงกลายเป็นขั้นตอนต่อไปในการเพิ่มประสิทธิภาพระดับโลก นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอในการปกป้องเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน

กิจกรรมที่ผิดกฎหมายบางอย่างจะอยู่ในรูปแบบของการบุกรุกเล็กน้อยโดยเรือลำเดี่ยวที่มองหาพื้นที่จับปลาได้ง่าย ในขณะที่การบุกรุกพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ จะได้รับทุนและกำกับดูแลโดยรัฐบาลแห่งชาติ ด้วยการสนับสนุนจากกองทหารติดอาวุธหรือเรือของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น ประเทศที่อยู่ติดทะเลทั้งหมดมีหน้าที่ในการเตรียมรับมือเชิงกลยุทธ์ ปฏิบัติการ และยุทธวิธี ต่อการอาจออกสำรวจในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนโดยประเทศที่ทำประมงในน่านน้ำห่างไกล

ในอนาคต ชุมชนทางทะเลทั่วโลกจะมองว่าการใช้การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเป็นเครื่องมือในการขยายองค์กรอาชญากรรมและประเทศชาติ การกระทำของผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้มีความคล้ายคลึงและเชื่อมโยงกันบ่อยครั้ง กล่าวง่าย ๆ คือผู้มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวแสวงหาโอกาสใด ๆ เพื่อผลกำไรและทรัพยากรที่ไม่ใช่ของตนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เอกสารระบุว่ากลยุทธ์การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมขั้นพื้นฐานนั้นฟังเหมือนเป็นเรื่องง่าย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องยาก ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและเป้าหมายทางการแข่งขันของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมักทำให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประมงเป็นพันธกิจรองหรือระดับตติยภูมิ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมถือว่าร้ายแรงมากกว่าอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความท้าทายเชิงกลยุทธ์ระดับโลกที่ต้องได้รับการจัดการด้วยวิธีตอบสนองเชิงกลยุทธ์โดยได้รับความร่วมมือจากระดับนานาชาติ ในบางครั้ง กลุ่มธุรกิจ กองเรือ เจ้าของเรือ และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ต่อสภาพทางนิเวศวิทยา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางทะเลโดยรวมของมหาสมุทรโลก

เราต้องทำให้กองเรือและประเทศที่มีส่วนร่วมในการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมหมดแรงจูงใจที่จะกระทำการดังกล่าว ไม่ว่าเรือเหล่านั้นจะจอดเทียบท่าเรือหรือกำลังแล่นในทะเลลึกก็ตาม พฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมเหล่านี้จะยังคงดำเนินอยู่ในทะเลต่อไปจนกว่าต้นทุนในการทำประมงจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ประเทศ เจ้าของ และผู้ประกอบการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมได้รับ

น.ท. เบน โครเวลล์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการ กองกำลังเฉพาะกิจร่วมระหว่างหน่วยงานตะวันตก ของกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก นายเวด เทอร์โวลด์ กัปตันกองทัพเรือสหรัฐฯ ผู้เกษียณอายุ ซึ่งรับราชการทหารเป็นเวลา 30 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล
เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง นายเทอร์โวลด์มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเล ยุทธศาสตร์ ความมั่นคงแห่งชาติ และปฏิบัติการทางทหาร มุมมองที่ปรากฏในบทความนี้เป็นของผู้เขียน และไม่ได้สะท้อนถึงนโยบายหรือจุดยืนอย่างเป็นทางการของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ หรือรัฐบาลสหรัฐฯ แต่อย่างใด

บางส่วนของบทความนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือชื่อ ข้อมูลหลังเหตุการณ์ ข้อมูลเชิงลึก และการคาดการณ์: ข้อขบคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก บรรณาธิการโดย ดร. อเล็กซานเดอร์ แอล. วูวิง และเผยแพร่โดยศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button