เรื่องเด่น

กล้าพูดเพื่อ อำนาจอธิปไตย

กลุ่มประเทศอินโดแปซิฟิกออกมาเรียกร้องต่อกรณีการรุกรานทางทะเลของจีน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

พฤติกรรมที่ก้าวร้าวอย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้กำลังกระตุ้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้รวมตัวกันปกป้องอธิปไตยทางทะเล สิทธิอื่น ๆ และเสรีภาพในการเดินเรือ แม้การเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความสมดุล แต่ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบทะเลจีนใต้ได้เสริมแนวป้องกันทางทะเล ประท้วงต่อต้านการรุกราน และปกป้องน่านน้ำของตน

เวียดนามซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อ พ.ศ. 2563 ได้รวมบรรดารัฐมนตรีกลาโหมของประเทศสมาชิกในแถลงการณ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่เรียกร้องให้ภูมิภาค “ใช้ความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินกิจกรรมและหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น พร้อมดำเนินการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ โดยปราศจากการบีบบังคับ เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับคำแถลงการณ์ดังกล่าว โดยนั่นไม่ได้กล่าวถึงทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้ยกระดับสารดังกล่าวขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเผยแพร่ข่าวที่ระบุว่าคณะรัฐมนตรีตกลงที่จะ “ใช้สันติวิธีและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติปัญหาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นที่สัมพันธ์กับข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนและอธิปไตย รวมถึงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้”

ในยุคที่จีนกำลังจัดกำลังทางทหารบนสิ่งปลูกสร้างเทียมในทะเลจีนใต้ ทำประมงอย่างผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำของประเทศอื่น ๆ และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กดดันประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้ดึงทรัพยากรธรรมชาติ เป้าหมายที่ไม่ได้เอ่ยออกมาของสารนั้นมีความชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวว่าการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและเขตน่านน้ำของเวียดนามเป็นการกระทำเพื่อความอยู่รอด “ทะเลจีนใต้เกือบจะเทียบได้ว่าคือประเด็นสำคัญต่อความเป็นอยู่สำหรับเวียดนาม” นายเดเร็ค กรอสแมน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกลาโหมของแรนด์คอร์ปอเรชันกล่าวกับ ฟอรัม

นายเหวียน ซวนฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในขณะนั้น (กลาง) กล่าวกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

อย่างไรก็ตาม การทัดทานประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นเป็นเรื่องยากสำหรับเวียดนาม “ในด้านหนึ่ง จีนเป็นปฏิปักษ์ของเวียดนามในทะเลจีนใต้อย่างแน่นอน” นายกรอสแมนกล่าว “เวียดนามยังค้างคาใจอย่างมากเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง รวมถึงผลกระทบต่อเวียดนามในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง”

อย่างไรก็ตาม จีนคือประเทศที่เวียดนามอ้างว่าเป็นพันธมิตรด้านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่เวียดนามมอบแก่ต่างประเทศ นอกจากนี้ จีนยังเป็นพันธมิตรการค้าอันดับ 1 ของเวียดนามอีกด้วย “พวกเขาตระหนักดีว่าจีนจะไม่ไปไหนในภูมิภาคนี้” นายกรอสแมนกล่าว “การกระทำที่ชั่งวัดความสมดุลอย่างระมัดระวังคือสิ่งที่เวียดนามจำเป็นต้องใส่ใจ”

เวียดนามได้หนุนหลังยุทธศาสตร์สหรัฐฯ อย่างเงียบ ๆ ในเรื่องอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เนื่องจากเป็นการเน้นย้ำหนักแน่นต่อการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ “และแสดงให้เห็นความตั้งใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้ไปอีกหลายปี” นายกรอสแมนเขียนรายงานในบทความฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ของนิตยสารข่าวออนไลน์เดอะดิโพลแมต

การแทรกแซงราคาแพง

การที่จีนแทรกแซงการสำรวจน้ำมันของเวียดนามในทะเลจีนใต้ได้สร้างการบีบบังคับจนเกิดความเสียหายทางการเงินแล้ว เวียดนามจ่ายเงินรวม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ให้แก่บริษัทน้ำมันระหว่างประเทศสองแห่ง หลังจากที่ต้องให้ยกเลิกโครงการในทะเลจีนใต้เนื่องด้วยแรงกดดันจากจีน เดอะดิโพลแมตรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563

ปิโตรเวียดนาม บริษัทพลังงานรัฐวิสาหกิจของเวียดนามมีกำหนดต้องจ่ายเงินให้กับเรปโซลของสเปน และมูบาดาลาของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ความคาดหวังด้านการพัฒนาของเรปซอลสองโครงการอยู่ที่ริมเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม แต่อยู่ในเส้นประเก้าเส้นที่ไม่มีมูลความจริงตามกฎหมายที่อ้างโดยรัฐบาลจีน เวียดนามตัดสินใจยกเลิกสัญญาหลังจากจีนระดมเรือของกองทัพเรือ 40 ลำออกจากชายฝั่งเกาะไห่หนาน ซึ่งใช้เวลาเดินทางสองวันจากจุดขุดเจาะ

ทว่าเวียดนามไม่ได้สิ้นหวังต่อความปรารถนาที่จะสกัดทรัพยากรภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตน โดยกำลังร่วมมือกับอินเป็กซ์ บริษัทพลังงานของญี่ปุ่น เกี่ยวกับการทำข้อตกลงเพื่อขุดเจาะในพื้นที่นอกชายฝั่ง จีนต้องคัดค้านการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นแน่ หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564

เจ้าหน้าที่ของบริษัทปิโตรเวียดนาม ผู้ปฏิเสธที่จะระบุชื่อกล่าวกับหนังสือพิมพ์ว่าเขาเชื่อว่าการขุดเจาะจะเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2564 “เราคะเนอากัปกริยาจากจีนแล้ว แต่เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราเพียงจะขุดเจาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเรา” เจ้าหน้าที่ของบริษัทปิโตรเวียดนามกล่าว

การประณามที่เกิดขึ้นน้อยครั้ง

มาเลเซียเช่นกันก็แสดงท่าทีปกป้องสิทธิทางทะเลของตน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ว่าได้ส่งเอกสารถึงสหประชาชาติเพื่อชี้แจงสิทธิของตนเหนือส่วนที่เหลือของไหล่ทวีปอันอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งของประเทศเกินกว่า 200 ไมล์ทะเล โดยนายฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวต่อรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

“มาเลเซียคัดค้านการอ้างสิทธิ์ของจีนที่ว่าตนมีสิทธิ์มาแต่โบราณกาลเหนือน่านน้ำเหล่านั้น” นายฮิชามมุดดินกล่าว “รัฐบาลมาเลเซียยังพิจารณาว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนต่อภูมิประเทศทางทะเลในทะเลจีนใต้นั้นไม่มีพื้นฐานใด ๆ ทั้งสิ้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” การประณามดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดจากธรรมดาของมาเลเซีย ซึ่งเคยหลีกเลี่ยงการวิจารณ์จีนโดยพยายามแสดงข้อคิดเห็นในวิถีที่จะทำให้แน่ใจว่าน่านน้ำยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้า ตามรายงานของบลูมเบิร์ก

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (กลาง) ตรวจเยี่ยมกำลังพลบนเรือเคอาร์ไอ อุสมันฮารัน ของกองทัพเรืออินโดนีเซียที่ท่าเรือซีลัตลัมพา หมู่เกาะนาตูนา การเยือนของนายวิโดโดในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเกี่ยวกับสิทธิการทำประมง ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

จีนได้สร้างฐานทัพและด่านหน้าบริเวณแนวปะการัง ชั้นหิน และหน้าผา รวมทั้งอ้างว่าตนมีสิทธิ์ถึงเกือบร้อยละ 80 ในทะเลจีนใต้ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามต่างก็อ้างสิทธิ์ในสัดส่วนของพื้นที่เดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2559 ศาลระหว่างประเทศปฏิเสธข้อเรียกร้องที่กว้างขวางของจีนว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

แม้ว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียยังคงเชื่อมโยงสนิทแน่นกับจีน แต่มาเลเซียก็ทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านกลาโหมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของตน โดยเป็นหนึ่งในสี่กองทัพอินโดแปซิฟิกที่จะได้รับอากาศยานไร้คนขับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อลาดตระเวนและสอดแนมเหนือทะเลจีนใต้ มาเลเซียได้รับสแกนอีเกิลหกลำในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 และท้ายที่สุดจะได้รับสแกนอีเกิลรวม 12 ลำ ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะได้รับสแกนอีเกิลประเทศละ 8 ลำ เวียดนามมีกำหนดว่าจะได้รับ 6 ลำ ประเทศผู้รับทั้งหมดกล่าวว่าจะใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางทะเลในทะเลจีนใต้

สหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 43 ล้านบาท) ต่อหนึ่งลำ ทั้งนี้คาดว่าการส่งมอบอากาศยานไร้คนขับที่เหลืออีก 6 ลำให้แก่มาเลเซีย และ 22 ลำแก่ประเทศอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้จะเสร็จสิ้นภายใน พ.ศ. 2565

อินโดนีเซียแสดงจุดยืน

เมื่อสำนักงานความมั่นคงทางทะเลของอินโดนีเซียสกัดเรือสำรวจของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 นั่นเป็นเพียงการเผชิญหน้าครั้งล่าสุดด้านความขัดแย้งกับเรือจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า เรือเซียงหยางหง 03 ได้ปิดระบบติดตามเรือ ดังนั้นเรือของรัฐบาลอินโดนีเซียจึงพาออกไปจากเขตเศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซีย

“หากเรือดังกล่าวยังคงแล่นต่อเนื่องโดยไม่ทำกิจกรรมที่น่าสงสัย ก็คงจะไม่ได้เป็นการละเมิด แต่ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ ระบบระบุตัวตนอัตโนมัติของเรือปิดอยู่ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา” พล.ร.อ. ซูวิโต ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของสำนักงานความมั่นคงทางทะเลแห่งอินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าว “เราถามหาเหตุผลของการปิดระบบระบุตัวตนอัตโนมัติของเรือ และได้คำตอบว่าระบบเสีย”

อินโดนีเซียมีกรณีเผชิญหน้ากับจีนอยู่หลายครั้งเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าเรือประมงของจีนที่คุ้มกันโดยเรือยามชายฝั่งของจีน ดำเนินการในเขตเศรษฐกิจพิเศษนอกหมู่เกาะนาตูนา หน่วยยามชายฝั่งของอินโดนีเซียได้เสริมการป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นในขณะที่ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ ในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 อินโดนีเซียซื้อปืนกลมือ 20 กระบอกสำหรับเรือลาดตระเวน 10 ลำ เรดิโอฟรีเอเชียรายงาน นอกจากปืน 12.7 มม. หน่วยยามชายฝั่งยังได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหมในการซื้อระบบปืนกลมือ 30 มม. สำหรับการป้องกันเรือ

พันธมิตรที่คิดพ้องต้องกัน

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพึ่งพาพันธมิตรด้านกลาโหมระหว่างประเทศเพื่อบังคับใช้อำนาจอธิปไตยขอบเขตทางทะเลของตนด้วย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เรือรบ เอชเอ็มเอเอส พาร์รามัตตา ของกองทัพเรือออสเตรเลียดำเนินการฝึกร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือรบสามลำไปยังทะเลจีนใต้ “เพื่อสนับสนุนด้านความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

การเคลื่อนกำลังพลเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน จีนได้จัดตั้งหน่วยงานการบริหารบนเกาะต่าง ๆ
ในทะเลจีนใต้ อีกทั้งเปิดสถานีวิจัยใหม่สองแห่งเกี่ยวกับปะการังเทียมในดินแดนที่ฟิลิปปินส์และประเทศอื่น ๆ กล่าวอ้างสิทธิ์

นายกรอสแมนกล่าวว่า ในบริบทของการกระทำที่เป็นข้อถกเถียงเหล่านี้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแสดงความเห็นชอบกับการประณามอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของจีนโดยนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น

“ทั่วโลกจะไม่ยอมให้รัฐบาลจีนกระทำดั่งทะเลจีนใต้เป็นจักรวรรดิทางทะเลของตนเอง” นายปอมเปโอกล่าวในแถลงการณ์ นายแอนโตนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ได้ออกความเห็นในเชิงสอดคล้องกัน ขณะพูดคุยกับนายทิโอโดโร ล็อกซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 “นายบลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะยืนหยัดข้างประเทศผู้อ้างสิทธิ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการเผชิญความกดดันจากจีน” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าว

เหล่าชาติในทะเลจีนใต้ที่มีส่วนร่วมในข้อพิพาททางทะเลกับจีนชื่นชมการสนับสนุนดังกล่าว นายกรอสแมน นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม กล่าว ในกรณีของเวียดนาม ประเทศดังกล่าว “อาจรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าสหรัฐฯ วางแผนที่จะหนุนหลังรัฐบาลเวียดนามในการปกป้องการอ้างสิทธิ์ของเกาะสแปรตลีภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำกรณีบริเวณสันดอนแวนการ์ดเป็นพิเศษ โดยเป็นเหตุการณ์การยืนหยัดล่าสุดครั้งสำคัญระหว่างจีนกับเวียดนามเมื่อ พ.ศ. 2562 ซึ่งสันดอนแวนการ์ดเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง นายกรอสแมนเขียนรายงานในเดอะดิโพลแมต

นายกรอสแมนกล่าวกับ ฟอรัม ว่าเวียดนามอยากเห็นการมีส่วนร่วมระยะยาวจากสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ และเหล่าผู้นำของเวียดนามพึงพอใจกับคำแถลงของผู้นำสหรัฐฯ “แม้ว่าเวียดนามจะตอบได้ไม่เต็มปากถึงความปลาบปลื้มอย่างเหลือล้นต่อแถลงการณ์ของนายปอมเปโอ ก็เป็นที่แน่ชัดว่าในเบื้องหลังแล้วเวียดนามดีใจมากเกี่ยวกับเรื่องนี้” นาย กรอสแมนกล่าว

ยุทธศาสตร์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างกำหนดให้พันธมิตรและแนวร่วมต้องจับมือกันเพื่อรักษาเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศให้เปิดกว้างและปกป้องน่านน้ำในอาณาเขต นายกรอสแมนกล่าว “ผมคิดว่าความหวังของสหรัฐฯ และยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างอธิบายถึงสถานการณ์ได้ชัดเจน สหรัฐฯ ต้องการพันธมิตรที่มีความคิดแบบเดียวกัน ซึ่งกำลังเผชิญการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้ นั่นคือช่วงเวลาออกหัวหรือออกก้อย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button