ติดอันดับ

ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรขยายความสัมพันธ์ด้านกลาโหมในทะเล

รอยเตอร์และดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะส่งเรือรบสองลำเข้าประจำการในน่านน้ำอินโดแปซิฟิกเป็นการถาวร หลังจากที่เรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน อลิซาเบธ (ภาพ) และเรือรบคุ้มกันจำนวนหลายลำแล่นไปยังญี่ปุ่นในเดือนกันยายนผ่านน่านน้ำที่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังแย่งชิงอิทธิพลกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

แผนการเข้าประจำการโดยกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเกิดขึ้นในขณะที่สหราชอาณาจักรกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่น โดยสหราชอาณาจักรได้แสดงความกังวลที่มากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับความกระหายอยากครอบครองดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งรวมถึงภัยคุกคามจากจีนในการรวมเกาะไต้หวันที่ปกครองตนเองเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่โดยการใช้กำลังหากจำเป็น

นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร กล่าวในพิธีประกาศซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ร่วมกับนายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ว่า “ภายหลังจากการเข้าประจำการครั้งแรกของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี สหราชอาณาจักรจะส่งเรือรบสองลำเข้าประจำการอย่างถาวรในภูมิภาคแปซิฟิกตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป”

เมื่อได้รับคำถามว่าเรือรบของกองทัพเรืออังกฤษจะปฏิบัติการจากท่าเรือใดในภูมิภาคดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรในกรุงโตเกียวไม่ได้ตอบในทันที

นายคิชิกล่าวว่า หลังจากที่กองเรือเดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน อลิซาเบธ และเรือคุ้มกันภัยจะแยกกันไปยังจุดจอดเรือของฐานทัพเรือสหรัฐฯ และญี่ปุ่นตามหมู่เกาะญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีกองกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากที่สุดนอกสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงเรือ อากาศยาน และนาวิกโยธินหลายพันนาย

เรือบรรทุกเครื่องบินของสหราชอาณาจักร ซึ่งบรรทุกเครื่องบินไอพ่นล่องหน เอฟ-35บี ในการเดินทางครั้งแรกจะเข้าเทียบท่าในเมืองโยโกซูกะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองเรือของญี่ปุ่นและยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำเดียวของสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่

เรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน อลิซาเบธ จะได้รับความคุ้มกันโดยเรือรบพิฆาต 2 ลำ เรือรบฟริเกต 2 ลำ เรือสนับสนุน 2 ลำ อีกทั้งเรือจากสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์

เรือดังกล่าวจะแล่นมายังญี่ปุ่นผ่านทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อ้างสิทธิ์ความเป็นความเจ้าของในพื้นที่บางส่วน โดยเรือดังกล่าวจะแวะพักในอินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ตามลำดับ

ในสัญญาณเพิ่มเติมของการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นของสหราชอาณาจักร นายวอลเลซ ซึ่งเดินทางไปญี่ปุ่นพร้อมกับคณะผู้บังคับบัญชาการทหาร กล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะส่งหน่วยตอบโต้ลิตโตรอล ซึ่งเป็นหน่วยนาวิกโยธินที่ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ รวมถึงการอพยพและปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย

นายวอลเลซกล่าวว่า การเข้าประจำการของเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรืออังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของ “ความโน้มเอียงในอินโดแปซิฟิก” ที่สหราชอาณาจักรมีเป้าหมายเดียวกันกับญี่ปุ่น

นายวอลเลซกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า “สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นพยายามปกป้องและยึดถือความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎระเบียบ”

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังพยายามขยายและกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับชาติอื่น ๆ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากจีนได้กดดันสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้และหมู่เกาะเซ็งกากุที่อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งจีนได้อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเช่นเดียวกัน

นายคิชิกล่าวว่า สหราชอาณาจักรเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการจัดการกับความท้าทายร่วมที่ทั้งสองประเทศเผชิญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “เราได้ยืนยันถึงจุดยืนร่วมกันของเราในการต่อต้านความพยายามฝ่ายเดียวโดยใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้” นายคิชิกล่าว

นายวอลเลซกล่าวว่า สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นซึ่งมีแนวคิดเหมือนกันมีหน้าที่ในการ “ปกป้องผู้ที่ไม่สามารถปกป้องตนเองจากศัตรูที่จะคุกคามพวกเขาได้”

นายวอลเลซและนายคิชิกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะผลักดันการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นในเครื่องบินขับไล่ เอฟเอ็กซ์ รุ่นถัดไปของญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบเครื่องยนต์และระบบย่อยต่าง ๆ

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button