ติดอันดับ

นายบลิงเคนเยี่ยมชาวอุยกูร์เพื่อขอคำแนะนำในการจัดการกับจีน

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พบปะกับชาวมุสลิมอุยกูร์ซึ่งเคยถูกกักขังในค่ายที่เขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน เพื่อรับฟังประสบการณ์และขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีกดดันให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยุติการกดขี่ชาวอุยกูร์ในภูมิภาคดังกล่าว

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่านายบลิงเคนต้องการรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากอดีตผู้ต้องขังเจ็ดคน ญาติของผู้ต้องขังคนอื่น ๆและผู้สนับสนุนเกี่ยวกับสภาพการณ์ที่ชุมชนชาวอุยกูร์ต้องเผชิญ

นายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพบปะกับบุคคลเหล่านี้ เพื่อรับฟังเรื่องราวจากพวกเขาโดยตรง และรับฟังสิ่งที่ฝังใจจากพวกเขาโดยตรงเกี่ยวกับการกระทำอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในซินเจียง และการกักขังชาวอุยกูร์ร่วมล้านคน” “นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้ได้เสนอคำแนะนำที่อาจมี”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และถูกคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจากนานาชาติในข้อหากักขังชาวอุยกูร์กว่า 1 ล้านคน รวมถึงชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์อื่น ๆ สำหรับการปลูกฝังทางการเมืองในซินเจียง (ภาพ: มีการพบเห็นป้ายสนับสนุนชาวอุยกูร์ในระหว่างการประท้วงต่อต้านการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พ.ศ. 2565 ในจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.)

นายไพรซ์กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในนโยบายของสหรัฐฯ ระหว่างฝ่ายบริหารของนายโจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ฝ่ายบริหารทั้งสองฝ่ายเรียกการรณรงค์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในซินเจียงว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และคว่ำบาตรจีนในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน นายไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พบปะกับอดีตผู้ต้องขังชาวอุยกูร์หลายครั้งในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง

“อเมริกาได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนอยู่เสมอเกี่ยวกับการละเมิด การกระทำอันโหดร้าย และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในซินเจียง” นายไพรซ์กล่าว “ผมคาดว่าเราจะใช้วิธีการเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตามความเหมาะสม”

นับตั้งแต่การบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯ ได้เพิ่มแรงกดดันต่อจีนอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดขี่ชาวอุยกูร์ในซินเจียง และการปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง การกระทำดังกล่าวรวมถึงการห้ามการเดินทางการคว่ำบาตรทางการเงิน และข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำเข้าของจีนไปยังสหรัฐฯ

 

ภาพจาก: เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button