ติดอันดับ

การเดินเรือของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่นำโดยสหราชอาณาจักรเป็นการสนับสนุนพันธมิตรในอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเดินเรือที่น่าเกรงขามที่สุดของสหราชอาณาจักรในรอบหลายทศวรรษสื่อให้เห็นถึงวิธีการแสดงอำนาจระดับโลกของกองทัพเรือสหราชอาณาจักรที่ฟื้นคืนขึ้นมา โดยร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา พันธมิตรยุโรป และพันธมิตรระดับภูมิภาคในอินโดแปซิฟิก

เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ล่าสุดของสหราชอาณาจักร เอชเอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ เป็นผู้นำกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 21 ซึ่งออกจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในฐานะส่วนหนึ่งของปฏิบัติการฟอร์ติส กองกำลังเฉพาะกิจนี้คาดว่าจะเดินทาง26,000 ไมล์ทะเลในการเดินเรือที่จะดำเนินไปจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 และไปถึงญี่ปุ่นในที่สุดในระหว่างทาง กลุ่มเรือดังกล่าวจะแล่นเรือในน่านน้ำอินโดแปซิฟิก รวมถึงทะเลจีนใต้ซึ่งมีการขนส่งสินค้ามูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 162 ล้านล้านบาท) ผ่านเส้นทางนี้ในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรและพันธมิตร

ภารกิจนี้ช่วยให้หุ้นส่วนระดับภูมิภาคมั่นใจถึงคำมั่นสัญญาของสหราชอาณาจักรและพันธมิตรต่อเสรีภาพในการเดินเรือตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรเรียกภารกิจนี้ว่าเป็นการแสดงให้เห็นในทางปฏิบัติถึงเจตนาของสหราชอาณาจักรที่จะ “หันเห” ความพยายามทางการทหาร การค้า และการทูตมายังภูมิภาคอินโดแปซิฟิกตามที่ระบุไว้ใน “การทบทวนแบบบูรณาการ” ของรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดบทบาททั่วโลกของสหราชอาณาจักรในทศวรรษข้างหน้า

ความพยายามด้านกลาโหมของสหราชอาณาจักรในอินโดแปซิฟิกได้รวมข้อตกลงการป้องกันประเทศร่วมกันห้าฝ่ายกับออสเตรเลีย มาเลเซียนิวซีแลนด์ และสิงคโปร์เข้าไว้ด้วยกัน

กองกำลังเฉพาะกิจกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 21 ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตสองลำ เรือพิฆาตสองลำ และเรือดำน้ำหนึ่งลำจากกองทัพเรือสหราชอาณาจักร รวมถึงเรือพิฆาต ยูเอสเอส เดอะ ซัลลิแวนส์ ของสหรัฐฯ และเอชเอ็นแอลเอ็มเอส เอเวิร์ตเซน เรือฟริเกตของกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินขับไล่เอฟ-35บี ไลท์นิง ของนาวิกโยธินสหรัฐฯ 10 ลำที่ได้รับมอบให้แก่เรือบรรทุกเครื่องบิน พร้อมกับเอฟ-35บี 8 ลำจากกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร

“การวางกำลังครั้งนี้เน้นย้ำถึงการเข้าถึงทั่วโลกของกองทัพสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และการทำงานร่วมกันของทั้งสอง” พ.อ. ไซมอน โดแรน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพสหรัฐฯ บนเรือควีนเอลิซาเบธ กล่าวกับเว็บไซต์ของนาวิกโยธิน “สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่งและมีความสามารถมากที่สุดของเรา และการวางกำลังครั้งนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการยับยั้งและการป้องกันของพันธมิตรองค์การนาโต”

กองกำลังเฉพาะกิจได้เชื่อมโยงกับเรือรบฝรั่งเศสและอิตาลีในขณะที่กำลังดำเนินการ และดำเนินการจู่โจมฉับพลันในตะวันออกกลางต่อกลุ่มรัฐอิสลามที่มีเอฟ-35 จากสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ กองกำลังเฉพาะกิจจะดำเนินการซ้อมรบทางอากาศและทางเรือร่วมกับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นในอินโดแปซิฟิก อีกทั้งเดินทางเยือนพันธมิตรด้านกลาโหมที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ (ภาพ: เครื่องบินขับไล่ราฟาลของฝรั่งเศสจอดอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบินชาร์ล เดอ โกล โดยมีเรือเอชเอ็มเอส ควีน อลิซาเบธ เป็นฉากหลัง ระหว่างการฝึกซ้อมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2564 นอกประเทศฝรั่งเศส)

การวางกำลังนี้ประสบความสำเร็จไปหลายประการแล้ว ปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลามในเดือนมิถุนายนนับเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินสหรัฐฯเข้าสู่การรบจากเรือรบของชาติอื่นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร ภารกิจเหล่านั้นยังนับเป็นการจู่โจมในการรบแบบฉับพลันครั้งแรกของควีน อลิซาเบธ ซึ่งเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรือสหราชอาณาจักรเคยใช้แล่นในทะเล การวางกำลังของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีอย่างเป็นทางการนี้ยังถือเป็นครั้งแรกของสหราชอาณาจักร ตามรายงานของยูไนเต็ด เพรสอินเตอร์เนชั่นแนล

ในแถลงการณ์ นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร กล่าวว่า กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเป็น “สัญลักษณ์ของ ‘อังกฤษทั่วโลก’ ที่นำมาใช้จริง และแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามกฎระเบียบ”

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button