ติดอันดับ

กองทัพสาธารณรัฐเกาหลีใต้ประยุกต์ใช้การพิมพ์ 3 มิติ เพื่อความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทาน

ฟีลิกซ์ คิม

การพิมพ์ 3 มิติกำลังกลายเป็นจุดศูนย์กลางอุตสาหกรรมกลาโหมของเกาหลีใต้ ด้วยการพิมพ์ชิ้นส่วนอะไหล่หลายพันชิ้นให้แก่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ในแต่ละปี อาทิ ส่วนประกอบของเครื่องบินขับไล่ เคเอฟ-21 ที่ผลิตในประเทศ

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้รายงานว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถผลิตชิ้นส่วนของระบบป้องกันได้อย่างแม่นยำและเชื่อถือได้ ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องพิมพ์ดังกล่าวยังสามารถผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ที่เลิกทำการผลิตแล้วในโรงงานหรือไม่สามารถผลิตได้ ในเวลาอันรวดเร็ว ประหยัด และปริมาณน้อย ซึ่งถือว่ามีข้อได้เปรียบกว่าการผลิตแบบดั้งเดิม มีการพิมพ์ส่วนประกอบด้านกลาโหมมากกว่า 2,500 ชิ้นด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ได้จัดตั้งกองกิจการใหม่สำหรับการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อดึงดูดบุคลากรและทรัพยากรที่ดีที่สุดเข้ามายังสาขาอุตสาหกรรมใหม่นี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 หน่วยงาน โดยหน่วยงานแรกมีความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงสินค้าทางทหารที่มีอยู่แล้ว และอีกหน่วยงานมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ในอนาคต

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้กล่าวว่า กองกิจการดังกล่าวจะ “มีส่วนช่วยในการกระจายเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ และการจัดตั้งฐานการผลิตที่จำเป็นสำหรับ ‘นวัตกรรมโลจิสติกส์อัจฉริยะ’ ที่กำลังได้รับการส่งเสริมเพื่อนวัตกรรมด้านกลาโหม”

กองกิจการการพิมพ์ 3 มิติจะเข้าร่วมการแข่งขันการพิมพ์ 3 มิติ บิซคอน ประจำปีครั้งที่ 6 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมการพิมพ์ 3 มิติของเกาหลีใต้ และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของประเทศ กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า การแข่งขันดังกล่าวจะก่อให้เกิดความสนใจภายในกองทัพและหมู่พลเรือนที่จะมีส่วนร่วมกับความพยายามใหม่ของกองทัพเพื่อยกระดับการพิมพ์ 3 มิติสำหรับกลาโหม

โฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้กล่าวว่า “เรากำลังพยายามอย่างหนักเพื่อฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญในสาขากลาโหม เช่น การศึกษาเพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการพิมพ์ 3 มิติในสาขากลาโหม ร่วมกับกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน” “เราจะส่งเสริมความพยายามด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมาประยุกต์ใช้ได้”

หนังสือพิมพ์บิสซิเนสโคเรียรายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ว่า บริษัท ดูซาน เฮฟวี อินดัสทรีแอนด์คอนสตรัคชัน ซึ่งเป็นบริษัทด้านกลาโหมของเกาหลีใต้ ได้ใช้การพิมพ์ 3 มิติในการผลิตชิ้นส่วนระบบหมุนเวียนอากาศสำหรับเครื่องบินขับไล่ เคเอฟ-21 (ภาพ) ส่วนประกอบดังกล่าวได้รับการติดตั้งไว้ในอากาศยานต้นแบบแล้ว บริษัทดูซานได้ทำสัญญาร่วมกับกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ในการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเพื่อผลิตส่วนประกอบของอากาศยานในประเทศ

กองทัพอากาศของสาธารณรัฐเกาหลีใต้เริ่มใช้การพิมพ์แบบ 3 มิติในช่วง พ.ศ. 2558 เพื่อผลิตแผ่นเหล็กทาบสำหรับกังหันความดันสูงในเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15เค ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะโคเรียไทมส์ ด้วยเหตุนี้ กองทัพอากาศเกาหลีใต้จึงไม่ต้องรอการจัดส่งสินค้าจากผู้จัดหาต่างประเทศเป็นเวลาประมาณ 60 วัน และสามารถประหยัดเงินได้กว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 940,000 บาท) ต่อแผ่นเล็กทาบ 1 แผ่น หรือประมาณร้อยละ 90 ของต้นทุนการผลิต

ภาพจาก: บริษัทโคเรียน แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ จำกัด

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button