ติดอันดับ

อัตราประสิทธิภาพต่ำและข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนกระตุ้นให้เกิดความกังวล ระหว่างการหารือของจีนเกี่ยวกับการใช้วัคซีนโควิด-19 หลายชนิดด้วยกัน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเปิดเผยว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังพิจารณาใช้วัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาหลายชนิด เพื่อชดเชยวัคซีนประสิทธิภาพต่ำที่ผลิตในประเทศ แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าจีนขาดความโปร่งใส นับตั้งแต่มีการตรวจพบไวรัสร้ายแรงนี้ครั้งแรกในอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อปลาย พ.ศ. 2562

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส รายงานว่า เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ประธานฝ่ายควบคุมโรคของจีนยอมรับว่า วัคซีนที่พัฒนาโดยจีนสามารถป้องกันโควิค-19 ได้ในระดับต่ำ “เราจะแก้ไขปัญหาวัคซีนปัจจุบันที่มีอัตราการป้องกันโรคไม่สูงมากนัก” นายเกา ฝู กล่าวในการประชุมที่เมืองเฉิงตู ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน “ขณะนี้ จีนอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าควรใช้วัคซีนอื่นที่พัฒนาด้วยเทคนิคต่างกันเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันหรือไม่”

นายเกาพยายามกลับคำอย่างรวดเร็วโดยอ้างว่าตนไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจีน ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ของบริษัทไชน่า เนชันแนล ไบโอเทก กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของซีโนฟาร์มที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ได้ประกาศว่ามีแผนในการ “ใช้วัคซีนตามลำดับ” ตามรายงานของนิตยสารข่าวออนไลน์เดอะดิโพลแมต การสร้างภูมิคุ้มกันแบบต่อเนื่องทำให้จำเป็นต้องมีการผสมวัคซีนที่แตกต่างกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

เนื่องด้วยอุปสงค์ที่มีมากกว่าอุปทาน นักวิจัยทั่วโลกจึงศึกษาความเป็นไปได้ในการผสมวัคซีนเข้าด้วยกัน “การผสมและการจับคู่วัคซีนโควิด-19 จะก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลายประการ” บทความในวารสารไซแอนส์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ระบุ “ประการหนึ่งคือด้านกฎข้อบังคับ กล่าวคือ จะทำอย่างไรหากมีวัคซีนเพียงรายการเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน? อีกประการหนึ่งคือด้านภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ วัคซีนบางชนิดใช้รูปแบบเทคโนโลยีพื้นฐานเดียวกัน เช่น ความร่วมมือระหว่างไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคและโมเดอร์นา ซึ่งใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ ขณะที่วัคซีนอื่น ๆ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบเดียวกัน”

หน่วยงานสาธารณสุขกล่าวเตือนว่า วัคซีนโควิด-19 ไม่สามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนได้และจำเป็นต้องมีรายละเอียดข้อมูลการทดลองเพิ่มเติม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริการะบุว่า “ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของชุดผลิตภัณฑ์ผสมยังไม่ได้รับการประเมินผล”

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยซีโนฟาร์ม สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน วัคซีน (ในภาพ) ที่มีการคาดการณ์ว่ามีประสิทธิภาพร้อยละ 79 ในผู้ใหญ่ โดยเป็นวัคซีนจีนตัวแรกที่องค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาการอนุมัติที่คล้ายคลึงกันสำหรับวัคซีนโคโรนาแวคที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคของจีน การทดลองทางคลินิกของโคโรนาแวคมีอัตราประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไป อาทิ อัตราประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 51 ในการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่ง

เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนโมเดอร์นาและไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคที่ผลิตโดยผู้ผลิตยาในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ แถบตะวันตก การทดลองทางคลินิกพบว่ามีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 95 ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค วัคซีนซีโนฟาร์มและซิโนแวคใช้เทคนิคการผลิตโดยใช้ไวรัสโคโรนาที่ตายแล้ว ซึ่งแตกต่างจากเทคนิคของโมเดอร์นาและไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค

วัคซีนซีโนฟาร์มและซิโนแวคได้แจกจ่ายในจีนไปแล้วมากกว่า 500 ล้านโดส และจัดส่งไปยังประเทศอื่น ๆ ตั้งแต่ก่อนมีการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการกำหนดที่อนุญาตให้รวมวัคซีนไว้ในโคแว็กซ์ โครงการริเริ่มเพื่อการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลกที่นำโดยองค์การอนามัยโลก ตามรายงานของรอยเตอร์

สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในโครงการโคแว็กซ์ โดยบริจาคเงินเป็นมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และมีแผนบริจาคอีก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท) จนถึง พ.ศ. 2565 ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี เจ. บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในประกาศการสนับสนุนว่า “ประชาชนในทุกพื้นที่ควรสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการทดสอบอย่างแม่นยำ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ”

ในขณะเดียวกัน คำถามเกี่ยวกับข้อมูลการทดลองที่จำกัดหรือไม่สมบูรณ์ก็ยังคงเป็นเงาติดตามการพัฒนาวัคซีนของจีน แม้วัคซีนจากซีโนฟาร์มจะได้รับการอนุมัติแล้ว แต่องค์การอนามัยโลกยังคงอ้างถึงช่องโหว่ของข้อมูล โดยหน่วยงานดังกล่าวระบุว่า “ในการทดลองทางคลินิก มีผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เพียงไม่กี่คนที่เข้ารับการทดสอบ ดังนั้นจึงไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพในกลุ่มอายุนี้ได้” และได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้วัคซีนของจีน “ดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพ” ในกลุ่มผู้สูงอายุ

รอยเตอร์รายงานว่า หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตัดสินใจเกี่ยวกับโคโรนาแวคในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานระบุว่ายังคงรอข้อมูลที่ขอจากซิโนแวค

นอกจากนี้ ซีโนฟาร์มยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แก่นักวิทยาศาสตร์เพื่อทำการประเมินโดยอิสระ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัคซีนจะป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้ดีเพียงใด ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

บทความในวารสารนานาชาติเนเชอร์ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ระบุว่า “นักวิจัยชาวจีนเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงต้น พ.ศ. 2563 แต่ก็ยังไม่ได้เผยแพร่ผลการทดลองฉบับเต็ม”

เจ้าหน้าที่ทั่วโลกได้ประณามจีนเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูลสำคัญจากองค์กรด้านสาธารณสุขและนักวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่าวิธีการปกปิดข้อมูลนั้นก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ ทำให้ประชาชนประมาณ 160 ล้านคนทั่วโลกได้รับเชื้อไวรัส และเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน อีกทั้งยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ

หลังจากผ่านไปสี่วันนับตั้งแต่ออกอนุมัติให้ใช้วัคซีนซีโนฟาร์มในกรณีฉุกเฉิน องค์การอนามัยโลกประกาศว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกรณีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เพิ่มสูงขึ้นในเซเชลส์ ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียที่มีประชากรราว 95,000 คน ในช่วงปลายเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม กลุ่มบุคคลที่เข้ารับการตรวจโควิด-19 มีผลเป็นบวก โดยร้อยละ 37 ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว ตามรายงานของรอยเตอร์ ประชากรเกือบร้อยละ 60 ของประเทศเซเชลส์ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว โดยร้อยละ 57 ของจำนวนประชากรได้รับวัคซีนของซีโนฟาร์ม ขณะที่ร้อยละ 43 ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button