เรื่องเด่น

สนามรบ ในเขตเมือง

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมหานคร ทำให้รูปแบบของสงครามเปลี่ยนแปลง

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ตามท้องถนนในเมืองมืดหม่นด้วยฝุ่นละอองและเขม่าควัน ผ่านไปตามซอยแคบ ๆ สลัว ๆ เหล่าทหารเคลื่อนที่เข้ามาเป็นทีมและยึดคืนประตูเมืองและดาดฟ้าที่ถูกล้อมโจมตีไปทีละแห่ง ที่ชานเมือง ใบพัดของเอ็มวี-22 ออสเพรย์ หมุนวนไปมาพร้อมกับสิ่งสกปรกและเศษซากที่ฟุ้งกระจาย ในขณะที่ผู้กอบกู้อิสรภาพอีกทีมหนึ่งเคลื่อนที่เป็นกลุ่มลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ลำนี้และมุ่งหน้าสู่การต่อสู้กับกองกำลังศัตรู

เมื่อเมืองจำลองที่ทำขึ้นจากตู้บรรทุกสินค้าดัดแปลงบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียได้รับอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง ภารกิจโจมตีในเมืองนี้ก็เป็นอันปิดฉากการฝึกคาราบารูลง

เป็นเวลากว่าสามสัปดาห์ที่ทหารและนาวิกโยธินเกือบ 400 นายจากออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมการฝึกปฏิบัติการในเมือง ณ พื้นที่ฝึกอ่าวโชลวอเตอร์ที่กว้างขวางของกองทัพออสเตรเลียในรัฐควีนส์แลนด์ กองกำลังได้ใช้ทักษะและกลยุทธ์ที่ได้รับการฝึกฝนให้เฉียบคมในช่วงการฝึกไตรภาคีกลาง พ.ศ. 2562 ในการยึดคืนชุมชนจำลองดังกล่าว

“การฝึกคาราบารูเป็นการเรียนรู้จากกันและกัน สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างของผู้อื่นและค่านิยมที่มีร่วมกัน แล้วนำมารวมเข้าด้วยกันในสถานการณ์การสู้รบระดับสูง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนที่สุดในสงครามกลางเมือง” พล.จ. แอนดริว
ฮ็อกกิ้ง ผู้บัญชาการของกองพลน้อยที่ 7 กองทัพบกออสเตรเลีย กล่าวในบทความบนเว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย

ทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและนอกเหนือภูมิภาคนี้ กองกำลังต่าง ๆ ได้ฝึกซ้อมสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่นักวางแผนทางการทหารเตรียมพร้อมสำหรับสภาพความเป็นจริงของสนามรบแบบใหม่ที่เกิดจากพลวัตของประชากร นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของมหานคร

ทหารกองทัพบกออสเตรเลียเข้าร่วมการฝึกคาราบารู พ.ศ. 2562 มีการจัดการฝึกซ้อมที่คล้ายคลึงกันนี้ทั่วอินโดแปซิฟิกเมื่อการแปรสภาพเป็นเมืองก่อให้เกิดสงครามรูปแบบใหม่ ส.ท. เดสทินี เดมพ์ซี/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

ภายใน พ.ศ. 2593 ผู้คนมากกว่าสองในสามทั่วโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ของสัดส่วนผู้อาศัยอยู่ในเมืองประจำ พ.ศ. 2564 ภายในทศวรรษหน้า จำนวนมหานครที่มีผู้อยู่อาศัยตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นหนึ่งในสามจาก 33 เป็น 43 แห่ง

การเติบโตของเมืองที่คาดการณ์ไว้ส่วนใหญ่ ซึ่งสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ เรียกว่าเป็น “พสุธาพลิก” จะเกิดขึ้นในอินโดแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยมหานครหลายแห่งของโลก รวมถึงโตเกียว นิวเดลี เซี่ยงไฮ้ มุมไบ ปักกิ่ง และธากา

การปฏิวัติทางประชากรครั้งนี้สร้างภาระให้กับประเทศต่าง ๆ อย่างมากเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในขณะที่ยังคงรักษาเสถียรภาพของสังคมเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสงครามในเมือง

“เมืองเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่มนุษยชาติมีสำหรับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” นายอันโตนิโอ ซัมไพโอ นักวิจัยด้านความขัดแย้ง ความมั่นคง และการพัฒนาที่สถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เขียนไว้ในบทความเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 สำหรับบลูมเบิร์ก ซิตี้แล็บ “อัตราที่สูงของการแปรสภาพเป็นเมืองสัมพันธ์กับผลลัพธ์เชิงบวกหลายประการ รวมถึงรายได้ที่สูงขึ้นและอัตราการเสียชีวิตของทารกที่ต่ำลง ความเชื่อมโยงเชิงบวกนี้กำลังถูกคุกคาม โดยอุปสรรคร่วมกันของการแปรสภาพเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว และความไม่มั่นคงในบางภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมากที่สุดในโลก” นายซัมไพโอเขียน “หากผู้มอบความช่วยเหลือ องค์กรระหว่างประเทศ และกองทัพทุกเหล่าทัพไม่ให้ความสำคัญกับเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และไม่ร่วมมือกันเพื่อรักษาเสถียรภาพของเมืองเหล่านั้น ความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นช้า ๆ อาจทวีความรุนแรง”

หากความไม่ลงรอยกันดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการต่อสู้ขึ้น ความหนาแน่น ความซับซ้อน และความเชื่อมโยงระหว่างกันของศูนย์รวมประชากรที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะกลายเป็นชนวนปนเปที่ติดเชื้อไฟให้ความขัดแย้งดังกล่าว “ความท้าทายของมหานครไม่เหมือนกับสิ่งใดที่เราเคยรับมือมาในประวัติศาสตร์” ดร. รัสเซลล์ เกล็นน์ ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและนโยบายของกองบัญชาการฝึกและกำหนดหลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐฯ ระบุ

การจัดรูปแบบใหม่ที่สะเทือนเลื่อนลั่น

ในหลาย ๆ ด้าน การปรับการมุ่งเน้นในเรื่องความขัดแย้งในเมืองมองได้ว่าเป็นการกลับไปสู่อดีต จากสงครามของนโปเลียนจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 การศึกษาทางทหารเน้นการต่อสู้บนพื้นที่โล่งที่ปราศจากพลเรือน ตามบทวิจารณ์สงครามในเมืองที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

ด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยประมาณ 37 ล้านคน พื้นที่มหานครโตเกียวอันยิ่งใหญ่เป็นที่อยู่ของประชากรเกือบร้อยละ 30 ของญี่ปุ่น และเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่แล้ว สงครามในเมืองมักจะอยู่ในรูปของปฏิบัติการปิดล้อม ซึ่งเป็นวิธีการหลักในการทำสงคราม สงครามในเมืองเริ่มย้ำให้เห็นถึงความเด่นชัดของตนเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2487 ขณะที่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมพร้อมสำหรับการยกพลขึ้นบกในวันดีเดย์และการปลดปล่อยยุโรปที่ถูกนาซียึดครอง กระทรวงการสงครามสหรัฐฯ ได้เผยแพร่หลักการสงครามในเมืองอย่างเป็นทางการฉบับแรก นั่นคือ คู่มือภาคสนามพื้นฐาน 31-50: การโจมตีตำแหน่งป้อมปราการและการต่อสู้ในเมือง

ปัจจัยหลายอย่างปลุกเร้าความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสงครามในเมืองให้อุบัติขึ้นอีกครั้ง ในจำนวนนี้ บทวิจารณ์ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดใน พ.ศ. 2560 กล่าวถึง “การค้นหาโดยกองทัพที่มีอานุภาพน้อยเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบแบบอสมมาตรท่ามกลางประชากรและภูมิทัศน์ของเมือง การมุ่งเน้นการทำสงครามแบบปฏิวัติ (กบฏ) ที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสถิติประชากรทั่วโลกอย่างรวดเร็วตั้งแต่ภูมิศาสตร์ชนบทไปสู่เขตเมือง”

การจัดรูปแบบใหม่ที่สะเทือนเลื่อนลั่นต่อประชากรโลกที่คาดการณ์ไว้ในอีกหลายปีข้างหน้าได้รับการนิยามโดยองค์การสหประชาชาติว่าเป็น “แนวโน้มที่มีผลกระทบในระดับโลก” เป็นเครื่องบอกถึงการปรับเปลี่ยนความคิดทางทหารในทุกระดับ ตั้งแต่ยุทโธปกรณ์และการฝึกอบรมไปจนถึงยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ การปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านกลาโหม พ.ศ. 2563 ของออสเตรเลีย ซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรและการแปรสภาพเป็นเมืองเป็นภัยคุกคามร่วมกันต่อเสถียรภาพทางการเมือง เช่น ภาวะขาดแคลนอาหารและน้ำ และการระบาดใหญ่

กองทัพของออสเตรเลีย “ต้องมีความสามารถในการมีบทบาทบนพื้นดินอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติการในภูมิประเทศที่ซับซ้อน และปราบศัตรูด้วยการต่อสู้ระยะประชิด” แผนโครงสร้างกองทัพร่วม พ.ศ. 2563 ระบุ

เมื่อคำนึงถึงลักษณะของสนามรบยุคใหม่ กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียได้ประกาศว่าจะจัดตั้ง “สำนักงานวิจัยสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกัน” เพื่อประสานงานการพัฒนาและการดำเนินการอย่างรวดเร็วของ “ยุทโธปกรณ์การต่อสู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นอกจากนี้ แผนโครงสร้างกองทัพยังได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของหน่วยข่าวกรองทางภูมิศาสตร์หรือจีโออินท์ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติของพื้นที่ในเมืองเพื่อช่วยเหลือในการใช้งานอาวุธนำทางที่แม่นยำ

ความเป็นไปได้ที่ใกล้จะมาถึง

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา บทเรียนที่ได้จากการมีส่วนร่วมทางทหารในยุทธบริเวณตั้งแต่โมกาดิชูของประเทศโซมาเลีย ไปจนถึงแบกแดดของประเทศอิรัก และกรอซนีย์ของสาธารณรัฐเชเชน ได้ให้ข้อมูลการวางแผนสงครามในเมือง

รายงานประจำ พ.ศ. 2560 โดยบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชันที่ชื่อ “การปรับโฉมคุณลักษณะใหม่ของปฏิบัติการในเมืองสำหรับกองทัพบกสหรัฐฯ: อดีตสามารถบอกถึงปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร” รวบรวมข้อค้นพบที่สำคัญหลายประการจากการวิเคราะห์ความขัดแย้งดังกล่าว รวมไปถึง:

บทบาทของกองกำลังภาคพื้นดินหุ้มเกราะสำหรับการให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหวและ “ลดปัญหาการดำเนินงานของพื้นที่เมืองขนาดใหญ่ไปจนถึงย่านใกล้เคียง”

ความต้องการ “รูปแบบเชิงนวัตกรรมของข่าวกรอง รวมถึงแหล่งข้อมูลและวิธีการรวบรวมข้อมูลใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของแหล่งที่เปิดเผยจากแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่แหล่งข้อมูลทางทหาร”

คุณค่าของผู้นำกองทัพที่สามารถคิดถึงแนวทางอื่น ๆ นอกเหนือจากวิธีการและบรรทัดฐานการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้เพื่อลด “ความท้าทายของการต่อสู้ในเมืองให้อยู่ในขอบเขตที่สามารถจัดการได้”

“สภาพแวดล้อมในเมืองมีความท้าทายอย่างมากสำหรับกองกำลังภาคพื้นดิน และตามแบบแผนแล้วจะหลีกเลี่ยงเมื่อเป็นไปได้ แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกดูเหมือนจะเป็นการรับรองว่าการต่อสู้ในเมืองมีอยู่ในอนาคตของกองทัพบก” รายงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการฝึกและกำหนดหลักนิยมของสหรัฐฯ ระบุ

แน่นอนว่าเสนาธิการกองทัพบกสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ลาง ๆ นั้นเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้น

พล.อ. มาร์ค มิลลีย์ กล่าวกับสมาคมกองทัพบกสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2559 ว่าสนามรบในอนาคตจะ “เป็นพื้นที่เมืองหนาแน่นเกือบจะแน่นอน และเป็นการต่อสู้กับศัตรูที่ว่องไวและคลุมเครือที่รวมการก่อการร้ายและการทำสงครามกองโจรเข้ากัน ควบคู่ไปกับขีดความสามารถแบบดั้งเดิมผสมกับประชากรพลเรือนจำนวนมาก”

ซึ่งจะเป็นสนามประลองที่ห่างไกลจากสนามรบในชนบทซึ่งกองทัพบกได้รับการ “ออกแบบ มีกำลังคน ฝึกอบรม และติดตั้งอุปกรณ์” ในอดีต พล.อ. มิลลีย์กล่าว โดยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 พล.อ. มิลลีย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารยศสูงสุดของประเทศ

นางลินดา เรย์โนลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ประกาศเปิดตัวแผนปรับปรุงยุทธศาสตร์กลาโหมและโครงสร้างกองทัพแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 แผนดังกล่าวเรียกร้องให้จัดตั้งสำนักงานวิจัยสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกัน รอยเตอร์

รายงานต่อมาของบริษัทแรนด์คอร์ปอเรชันชื่อ “กองทัพบกสหรัฐฯ และการต่อสู้เพื่อแบกแดด: บทเรียนที่ได้เรียนรู้ และยังคงต้องเรียนรู้” ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการพิจารณาดังกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าความขัดแย้งหลายปีและหลายระยะในอิรัก “ให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับวิธีการปรับโฉมการต่อสู้ในเมืองในอนาคต”

รายงานประจำ พ.ศ. 2562 ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกสหรัฐฯ ได้สรุปรายการคำแนะนำ รวมถึงการเรียกร้องให้นักวางแผนทางการทหารและผู้นำทำการศึกษาต่อไปเกี่ยวกับ “คำถามที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับปฏิบัติการในเมืองและมหานคร แต่เข้าใจว่าเนื่องจากแต่ละเมืองเป็นหน่วยงานอิสระ การศึกษาจึงควรมุ่งเน้นไปที่กรณีเฉพาะที่กองทัพบกอาจมีส่วนร่วมในการต่อสู้ในเมืองและศัตรูประเภทใดที่น่าจะต้องเผชิญ”

กลุ่มก้อนของความท้าทาย

นอกเหนือจากกลุ่มมนุษยชาติ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสลัมที่แผ่ออกเป็นบริเวณกว้างหรือตึกระฟ้าที่โฉบเฉี่ยว สิ่งใดที่กองทัพอาจพบเจอในมหานครของโลก ระบบการคมนาคมที่ระดับถนน เหนือกว่าระดับถนน หรือต่ำกว่าระดับถนนอาจมีประสิทธิภาพหรือท่วมท้นจนเกินไป การปกครองแบบเทศบาลและหน่วยงานราชการอาจมอบเสถียรภาพและการสนับสนุน หรือไม่ก็การทุจริตและความโกลาหล แน่นอนว่าสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลหลายสิบล้านเครื่องจะทำให้เกิดเสียงรบกวนทางอิเล็กทรอนิกส์ปนเปกันที่อาจล้นเครือข่าย และรบกวนการสื่อสารและการนำทางในสนามรบ

สำหรับศัตรู “ภูมิประเทศในเมืองขนาดใหญ่จะเป็นสิ่งที่สร้างความเท่าเทียมกันได้เป็นอย่างดี” นายอเล็กซ์ วอร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ เบรนท์สโกวครอฟท์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ เขียนไว้ในนิตยสารเนชันแนลอินเทอเรสต์

ความเป็นจริงอันโหดร้ายของสถานที่นี้เรียกร้องให้กองทหารต้องเตรียมพร้อมสำหรับพื้นที่รบที่มีลักษณะเฉพาะ นายวอร์ดเขียนว่า นอกเหนือจากอาวุธน้ำหนักเบาเพื่อความคล่องตัวที่เพิ่มขึ้นแล้ว กองกำลังจะต้องมีระบบการบัญชาการ ระบบการควบคุมและการสื่อสารที่ยากต่อการสกัดกั้น เซ็นเซอร์และกล้องวงจรปิด รวมทั้งเครื่องมือการพิมพ์สามมิติและการสร้างภาพจำลอง ด้วยมหานครจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในเขตชายฝั่ง ขีดความสามารถแบบสะเทินน้ำสะเทินบกจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จทางทหารเช่นกัน

นายวอร์ดยังระบุในบทความประจำ พ.ศ. 2558 ว่า เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกันที่บริษัทและผู้นำกองพันจะได้รับการฝึกอบรมให้ “ตัดสินใจในชั่วพริบตาในสถานการณ์ที่คลุมเครือ” ในขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างพลวัตภูมิภาคและวัฒนธรรมของเมือง

ทหารกองทัพฟิลิปปินส์นายหนึ่งเข้าร่วมการบุกโจมตีเมืองจำลองระหว่างการฝึกคาราบารู พ.ศ. 2562 ส.ท. เดสทินี เดมพ์ซี/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

ในยุคสารสนเทศ ชัยชนะในสนามรบยังต้องใช้กำลังรบที่สามารถเอาชนะศัตรูในขอบเขตกระบวนการรับรู้ได้ ตามรายงานของ พ.อ. ท็อดด์ ชมิดท์ กองทัพบกสหรัฐฯ “เราต้องสามารถรวบรวม ถอดรหัส ประมวลผล รวมถึงเข้าใจข้อมูลและสารสนเทศจำนวนมหาศาลได้เร็วกว่าศัตรู” พ.อ. ชมิดท์เขียนในบทความเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ของสถาบันสงครามสมัยใหม่ที่เวสต์พอยท์ “ขีดความสามารถนี้ต้องรวมเข้ากับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การคำนวณที่ใช้คลาวด์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และความเป็นจริงเสมือนหรือความเป็นจริงเสริม และความสามารถในการสื่อสารความรู้ที่เราได้รับจากข้อมูลทั้งภายในและภายนอกได้เร็วกว่าศัตรูของเรา”

ตัวร้าย เช่น กลุ่มผู้ก่อการร้าย กลุ่มอาชญากร และขบวนการก่อความไม่สงบเป็น “มิติสำคัญอีกมิติหนึ่งในการทำสงครามในเมือง” ที่เพิ่มเข้ามา พล.ท. พรากาช คาทอช ผู้เกษียณอายุจากกองกำลังพิเศษกองทัพบกอินเดีย เขียนไว้ในบทความเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ชื่อ “การต่อสู้ในเมือง” ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของวารสารอินเดียนดีเฟนซ์รีวิว กองกำลังรูปแบบเดิมจะต้องต่อสู้กับศัตรูรูปแบบใหม่ที่มีอาวุธเป็นระเบิดแสวงเครื่อง และสามารถหลบหลีกการจับกุมโดยการปะปนเข้าไปในประชากรพลเรือน

จากการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างการแปรสภาพเป็นเมืองและความมั่นคงปลอดภัย พล.ท. คาทอช ตั้งข้อสังเกตว่ากองทัพตั้งแต่ยุโรปไปจนถึงตะวันออกกลางและอื่น ๆ ได้สร้างสภาพแวดล้อมการฝึกสังเคราะห์ที่เลียนแบบอพาร์ตเมนต์สูงเสียดฟ้า ร้านค้าและตลาด โรงเรียน และอาคารสาธารณะอื่น ๆ ปฏิบัติการทางทหารเหล่านี้บางส่วนในภูมิประเทศที่เป็นเมืองหรือปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกจะสร้างด้วยระบบส่วนจำเพาะที่มีลักษณะคล้ายกับเลโก้ขนาดใหญ่ และสามารถกำหนดค่าใหม่และปรับแต่งอย่างรวดเร็ว

การวางแผนทางทหารที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นสำหรับความขัดแย้งในเมืองคือบทบาทของเมืองในฐานะ “ศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วง” ซึ่งเป็นจุดรวมทางการเงิน การปกครอง อุตสาหกรรม การสื่อสาร และการขนส่งตามรายงานเรื่อง “แนวคิดสำหรับปฏิบัติการทางทหารในอนาคตเกี่ยวกับภูมิประเทศที่เป็นเมือง” ประจำ พ.ศ. 2540 โดยกองบัญชาการพัฒนาการรบนาวิกโยธินสหรัฐฯ กองทัพอาจพบว่าตนเองดำเนินปฏิบัติการรบ ทำหน้าที่รักษาสันติภาพ และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในละแวกใกล้เคียงที่แตกต่างกันไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นแนวคิดทางทหารที่เรียกว่า “สงครามสามบล็อก”

เป็นเวลาเกือบ 25 ปีหลังจากรายงานดังกล่าว การรับรองความพร้อมสำหรับสงครามในเมืองยังคงเป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก ห้องปฏิบัติการการทำสงครามนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2562 เริ่มขอข้อมูลจากบริษัทกลาโหมและสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธและระบบอื่น ๆ สำหรับชุดการทดลองหลายปีเพื่อขัดเกลาขีดความสามารถในการต่อสู้ในเมือง ตามรายงานของเว็บไซต์ Military.com

สภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกันในการนำมาปฏิบัติจริง

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2560 บุคลากรของกองทัพออสเตรเลียได้ร่วมมือกับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนักเทคโนโลยีหลายสิบคนจากออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าร่วมในความท้าทายยุทธศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกัน การประลองความสามารถ 10 วันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือทางเทคนิคห้าประเทศ โดยแสดงสถานการณ์สงครามในเมืองที่เกิดขึ้นในอาคารโรงพยาบาลที่ว่างเปล่าในแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย

ผู้เข้าร่วมได้ทดสอบเทคโนโลยียุคใหม่ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจจับอากาศและเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินที่ผสานกับระบบเฝ้าระวังตามเส้นขอบและเหนือศีรษะ เพื่อระบุหายานพาหนะและอาคารที่ครอบครองโดยศัตรู และเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในและรอบอาคาร

“จุดมุ่งหมายของเราคือการมอบเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ซึ่งให้ข้อมูลที่มีความสามารถสูงและทันเวลาแก่บุคลากรทั้งชายหญิงของเราในแนวหน้า” ดร. จัสติน ไฟด็อค หัวหน้ากลุ่มการวิเคราะห์ขอบเขตของมนุษย์กับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวในพ็อดคาสต์ประจำ พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการฝึกดังกล่าว “พวกเขาจะต้องมั่นใจว่าตนเองรู้ว่าต้องเผชิญหน้ากับอะไรเมื่อเท้าแตะถนนหรือก้าวเท้าเข้าห้องในสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกัน”

สองปีหลังจากการจัดงานครั้งแรก ความท้าทายยุทธศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกันประจำปีได้ย้ายไปยังนิวยอร์ก ซึ่งเป็นมหานครที่มีผู้อยู่อาศัย 8.5 ล้านคนในฐานะมหานครขนาดใหญ่ วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์กว่า 150 คนจากประเทศสมาชิกทั้งห้าเข้ามาอยู่ในเมืองนี้เป็นเวลาสองสัปดาห์เพื่อดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ

แมนฮัตตันตอนล่างทำหน้าที่เป็นสถานที่ทดลองที่อึกทึก วุ่นวาย และเต็มไปด้วยผู้คนสำหรับการต่อสู้ในเมือง โดยนำเสนอ “หุบเขาในเมืองที่เกิดจากตึกระฟ้า ทางเดินในสถานีรถไฟใต้ดินที่ยาว แคบ และบางครั้งก็มืดมิด ดาดฟ้า และพื้นที่ภายในที่เสมือนถ้ำ” อ้างอิงจากบทความเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับความท้าทายยุทธศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกันที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกองทัพบกสหรัฐฯ

โครงการทั้ง 40 โครงการที่ผ่านการทดสอบมุ่งเน้นที่การวิเคราะห์ การป้องกันกำลังพล การลาดตระเวนและการเฝ้าระวัง การบัญชาการและการควบคุม รวมทั้งระบบอากาศยานไร้คนขับ ในการทดลองหนึ่ง วิศวกรจากออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มหุ่นยนต์ที่สามารถนำทางและทำแผนที่พื้นที่ได้ด้วยตนเอง หรือนำทางโดยการเคลื่อนไหวของมือและร่างกายของทหาร ความเป็นจริงเสริมช่วยให้มนุษย์ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นสิ่งที่หุ่นยนต์เห็น

“วัตถุประสงค์สูงสุดของความท้าทายยุทธศาสตร์ด้านสภาพแวดล้อมในเมืองที่มีการต่อกรกันคือ การได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลักษณะความท้าทายในเมืองที่ดียิ่งขึ้น และเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่สนับสนุนแนวคิดเชิงปฏิบัติการ” นางแมรี่ เจ. มิลเลอร์ รองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวิจัยและวิศวกรรมกลาโหมสำหรับการวิจัยและเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในบทความประจำ พ.ศ. 2562 “ที่สุดแล้ว เราจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อสร้างขีดความสามารถที่เพิ่มโอกาสสำเร็จให้ภารกิจ พร้อมกับลดความเสี่ยงที่มีต่อกำลังทหารของเราในปฏิบัติการในเมือง” นางมิลเลอร์กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button