วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

ปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นสืบสานประเพณี ทำหุ่นบุนรากุให้กับเด็ก ๆ

เรื่องและภาพโดย รอยเตอร์

เมื่อต้องอยู่ที่บ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินเนื่องจากไวรัสโคโรนา นายคันจูโร่ คิริทาเกะ นักเชิดหุ่นบุน รากุชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียง ต้องประสบกับความวิตกกังวลอย่างหนัก

โรงละครหุ่นเชิดญี่ปุ่นดั้งเดิมสำหรับผู้ชาย ซึ่งเป็นผลงานศิลปะของนายคันจูโร่ ถือกำเนิดขึ้นในโอซาก้าในช่วงปลายทศวรรษ 1600 (พ.ศ. 2143-2152) แต่ใน พ.ศ. 2563 กลับรู้สึกเหมือนถูกคุมคามความอยู่รอด นายคันจุโร่กล่าว การแสดงทั้งหมดของนายคันจูโร่ถูกยกเลิกเป็นเวลานานหลายเดือน

“มีหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในความคิดของผม การระบาดใหญ่นี้จะจบลงเมื่อใด? จะกลับมาทำการแสดงต่อได้เมื่อไหร่?” นายคันจูโร่ วัย 67 ปี กล่าวในขณะอยู่ที่บ้านของตน ซึ่งมีห้องสำหรับหุ่นเชิดโดยเฉพาะ นายคันจูโร่ยังสงสัยด้วยว่าอาจารย์วัย 87 ปีของตนจะมีโอกาสได้ทำการแสดงอีกครั้งหรือไม่

ทางออกของนายคันจูโร่คือการใช้เวลาอยู่ที่บ้านและทำหุ่นเชิดให้กับ เด็กๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเชิดหุ่นบุนรากุไม่ได้มีโอกาสทำบ่อยนัก สำหรับนายคันจูโร่แล้ว นี่เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับงานที่เขาทำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ นายคันจูโร่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นปูชนียบุคคลสำหรับการแสดงละครหุ่นเชิดแบบดั้งเดิมโดยรัฐบาลญี่ปุ่น

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เกือบ 30 คนเข้าร่วมในชั้นเรียนล่าสุด โดยเด็ก ๆ ได้ฝึกเชิดหุ่นของตนเองในโรงพละท่ามกลางอากาศร้อนระอุ ขณะที่นายคันจุโร่สวมใส่เสื้อยืดและทำการสอนเด็ก ๆ

ในบุนรากุ หุ่นเชิดแต่ละตัวต้องใช้นักเชิดถึงสามคน โดยมีผู้เชิดหลักหนึ่งคนและผู้เชิดอื่น ๆ อีกสองคน ซึ่งทั้งหมดจะแต่งกายในชุดสีดำและปิดบังใบหน้าของตน ผู้เชิดหลักจะเชิดส่วนศีรษะและแขนขวา ในขณะที่ผู้เชิดคนหนึ่งเชิดแขนซ้ายและอีกคนหนึ่งเชิดเท้าทั้งสองข้าง การแสดงจะประกอบด้วยผู้บรรยาย หรือทายุ และเครื่องดนตรีพื้นเมือง

หุ่นเชิดทั้งห้าตัวที่นายคันจุโร่ทำขึ้นมีหน้าแบบการ์ตูนและเส้นผมที่ทำจากเส้นด้าย นอกจากนี้ หุ่นเหล่านั้นยังสวมถุงเท้าสีฉูดฉาดที่นายคันจุโร่ซื้อทางออนไลน์

ตั้งแต่เท้าขึ้นไป

นายคันจูโร่เริ่มต้นเส้นทางอาชีพในฐานะนักเชิดหุ่นตามรอยบิดาของตนขณะที่มีอายุ 14 ปี โดยเป็นลูกศิษย์ของนายมิโนสุเกะ โยชิดะ ปัจจุบันอายุ 87 ปี และเป็นนักเชิดหุ่นที่มีอายุมากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับทุกคน นายคันจูโร่เริ่มต้นจากการเชิดเท้าทั้งสองข้าง จากนั้นจึงได้ย้ายไปเชิดแขนซ้ายของหุ่นเชิด นักเชิดหุ่นอาจต้องใช้เวลามากกว่า 30 ปีกว่าที่จะได้รับอนุญาตให้เชิดหัวของหุ่นเชิด “นี่เป็นบทบาทที่ยากลำบากและไม่มีใครเห็นความสำคัญ” นายคันจูโร่กล่าวถึงการเชิดแขนและขาของหุ่น “ผู้ชมต่างไม่รู้จักว่าคุณเป็นใคร และเสียงปรบมือก็มอบให้เพียงนักเชิดหลักเท่านั้น”

การทำความเข้าใจวิธีการเชิดเท้านั้นเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ทำการเชิดเท้าจะต้องจับเอวของนักเชิดหลักไปด้วยเพื่อสัมผัสถึงวิธีการเคลื่อนไหว นี่เป็นสิ่งที่นายคันจูโร่เรียนรู้มาจากบิดาผู้ล่วงลับของตนที่แม้จะเจ็บป่วยจนร่างกายซูบผอม แต่บิดาของเขาก็ยังทุ่มเททั้งร่างกายในการเชิดหุ่นในฐานะนักเชิดหลัก

“ผมเรียนรู้จากพ่อว่านักเชิดหุ่นต้องใช้ทั้งร่างกายของตนตั้งแต่นิ้วเท้าจนถึงปลายนิ้วมือเพื่อทำให้หุ่นเชิดมีชีวิต” นายคันจูโร่นึกย้อนถึงอดีต “และวิธีการที่นักเชิดหุ่นที่มีขนาดตัวที่เล็กและผอมบางสามารถเชิดหุ่นที่ตัวใหญ่ได้โดยการทำเช่นนั้น”

นายคันจูโร่เป็นหนึ่งในนักแสดงหุ่นเชิดบุนรากุซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของญี่ปุ่น แต่เขายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการเฟ้นหาผู้มีความสามารถรุ่นเยาว์

โรงละครบุนรากุแห่งชาติในโอซาก้าเปิดสอนหลักสูตรฝึกอบรมฟรี 2 ปี โดยนักเชิดหุ่นมากกว่าครึ่งหนึ่งจากจำนวน 83 คนในปัจจุบันจบการศึกษาจากโรงละครแห่งนี้ ความนิยมของศิลปะนี้เริ่มลดลงแม้ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และมีนักเรียนเพียงสองคนที่เข้ารับการฝึกอบรมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563

นายคันจูโร่พิจารณาว่า ไม่แน่ว่าบุคคลที่ว่าจ้างให้ทำการแสดงหรือยื่นทรัพย์สินให้บนเวทีอาจตกหลุมรักและอยากที่จะศึกษาเกี่ยวกับหุ่นบุนรากุก็เป็นได้ การแสดงต่าง ๆ ในกรุงโตเกียวเริ่มกลับมาทำการแสดงอีกครั้งในเดือนกันยายน

“เช่นเดียวกับซูโม่และรากูโกะที่มีนักแสดงชาวต่างชาติ ในวันหนึ่ง เราก็อาจจะมีนักแสดงชาวต่างชาติเช่นกัน” นายคันจูโร่กล่าวโดยอ้างถึงมวยปล้ำและการเล่าเรื่องในแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น “และไม่ช้าก็เร็วผู้หญิงก็จะเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button