ติดอันดับ

ญี่ปุ่นและอาเซียนเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ฟีลิกซ์ คิม

รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงทำงานร่วมกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในด้านสาธารณสุข การจัดการภัยพิบัติ และความมั่นคงทางไซเบอร์

รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนทางการเงินในระดับสูงด้วยการมีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มใหม่ ๆ รวมถึงโครงการที่ดำเนินอยู่ ซึ่งได้มีการหารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วย​ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 และมีเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและเวียดนามประจำอาเซียนเป็นประธานร่วม

แม้ว่าจะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ แต่โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นได้ดำเนินการและปรับใช้โครงการต่าง ๆ กว่า 57 โครงการ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากญี่ปุ่นเป็นมูลค่าประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.25 พันล้านบาท) ผ่านกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนตามรายงานของตัวแทนอาเซียน

สำนักข่าวเวียดนามนิวส์เอเจนซีรายงานว่า ความสนใจของญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความพร้อมและศักยภาพของภูมิภาคในการรับมือกับวิกฤตด้านสุขภาพ เช่น โรคระบาดในอนาคต กำลังจะเป็นผลสำเร็จจากการลงทุนในศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในที่ประชุม ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นคาดว่าจะช่วยเหลืออาเซียนในการออกแบบศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนฝึกอบรมบุคลากรของตน

แถลงการณ์ของกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนระบุว่า “ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์เดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้” “ด้วยความตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ ญี่ปุ่นและอาเซียนเดินหน้าร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับความท้าทายที่มีร่วมกันดังกล่าวต่อไป”

ตัวแทนอาเซียนแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนของกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนสำหรับศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนโครงการการจัดการภัยพิบัติและความมั่นคงทางไซเบอร์ ตามรายงานของเวียดนามนิวส์เอเจนซี

กองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนรายงานว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ 520 ครั้งใน พ.ศ. 2563 ซึ่งในที่นี้รวมถึงพายุ อุทกภัย อัคคีภัย แผ่นดินไหว และภูเขาไฟปะทุ ญี่ปุ่นเปิดช่องทางการสนับสนุนสำหรับการจัดการภัยพิบัติในอาเซียนผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดมเสบียงบรรเทาทุกข์ (ภาพ) ให้กับชาวประมงหลายพันคนที่กักตัวอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย

กองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนยังให้เงินสนับสนุนด้านเสบียงบรรเทาทุกข์ที่คลังพัสดุ เพื่อตอบสนองช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติในสุบังจายา ประเทศมาเลเซีย

กองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนสนับสนุนการศึกษาเรื่องภัยพิบัติในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยการมอบสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียน อีกทั้งให้การฝึกอบรมครูผู้สอนด้วย นอกจากนี้ กองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนยังมอบเงินสนับสนุนด้านการเสริมสร้างข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และระบบทางเทคโนโลยีการสื่อสารในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นของอาเซียนประมาณ 1,300 คนได้รับการฝึกอบรมด้านการจัดการภัยพิบัติระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 ในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียน ตามรายงานของเลขาธิการกองทุนดังกล่าว

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของอาเซียนอีกด้วย สำนักงานเลขาธิการกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่นและอาเซียนระบุว่า การฝึกอบรมในหัวข้อการวิเคราะห์มัลแวร์และการเก็บหลักฐานดิจิทัลเป็นระยะเวลา 4 วัน จำนวน 2 รอบ สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์จากประเทศสมาชิกอาเซียน จัดขึ้นที่ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 หลักสูตรเกี่ยวกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์อาชญากรรมไซเบอร์เป็นระยะเวลา 3 วันก็จัดขึ้นในสถานที่ดังกล่าวด้วย

ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังใช้เพื่อจัดไซเบอร์ซีเกม ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ท้าทายนักศึกษาและวิศวกรรุ่นเยาว์ในการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์

ศูนย์ดังกล่าวก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2561 โดยตระหนักถึง “การขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีความสามารถในโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศสาธารณะและที่มีความสำคัญ” ในประเทศสมาชิกอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะให้ความรู้แก่แรงงานระดับสูงในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์กว่า 700 คนภายใน พ.ศ. 2565

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

 

ภาพจาก: ศูนย์ประสานงานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button