ติดอันดับ

จรวดจีนตกในสภาพที่ควบคุมไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของจีนในการปฏิบัติตาม “มาตรฐานด้านความรับผิดชอบ”

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ชิ้นส่วนจรวดขนาดมหึมาของจีนที่เสียการควบคุมจนตกลงสู่โลก นับเป็นเหตุการณ์จรวดตกอันสร้างความไม่สงบครั้งที่สองในเวลาเพียงหนึ่งปี เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังละเลยบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยระหว่างประเทศ ตามรายงานของนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานด้านอวกาศ

มีรายงานว่าเศษซากจรวดลอง มาร์ช 5บี ที่มีความสูงเกือบ 60 เมตร พุ่งลงสู่มหาสมุทรอินเดียทางตอนเหนือของมัลดีฟส์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นับเป็นเวลา 10 วันหลังจากยานอวกาศไร้คนขับนี้ได้รับการบันทึกภาพและทะยานขึ้นจากมณฑลไห่หนาน ซึ่งบรรทุกแคปซูลหลักของสถานีอวกาศที่จีนเตรียมการไว้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนไม่ได้แจ้งเวลาปล่อยหรือการคาดการณ์วิถีโคจร จนกระทั่งก่อนเศษซากนี้วกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งโดยทั่วไป ประเทศอื่น ๆ จะดำเนินการประกาศดังกล่าวล่วงหน้าหลายวัน

“นั่นทำให้นักสังเกตการณ์ชาวต่างชาติกระวีกระวาดร่างแผนที่หาจุดตกของโครงสร้างจรวดลอง มาร์ช 5บี ขนาดมหึมา ตลอดจนคาดการณ์จุดหมายสุดท้ายบนโลก” นายริชาร์ด เดอ กริจส์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแมคควอรีในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวกับรอยเตอร์ “เหตุการณ์นี้สร้างความวิตกกังวลให้หลายประเทศในพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ”

หัวหน้าองค์การอวกาศของสหรัฐฯ กล่าวว่าจีนไม่ปฏิบัติตาม “มาตรฐานด้านความรับผิดชอบ” ในการจัดการกับซากจรวด

นายบิล เนลสัน ผู้บริหารนาซา อดีตนักบินอวกาศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมว่า “กลุ่มประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศต้องลดความเสี่ยงต่อผู้คนและทรัพย์สินบนโลกไม่ให้เกิดเหตุการณ์วัตถุอวกาศย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดจนเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการเหล่านั้นให้มากที่สุด” “นับว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จีนและกลุ่มประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศทั้งหมด ตลอดจนหน่วยงานทางการค้าต้องดำเนินการอย่างรับผิดชอบและโปร่งใสในด้านอวกาศ เพื่อรับรองถึงความปลอดภัย เสถียรภาพ ความมั่นคง และความยั่งยืนในระยะยาวของกิจกรรมทางอวกาศ”

จีนเป็นผู้กระทำผิดซ้ำซ้อน ดังนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 หลังจากที่ได้ปล่อยจรวดลอง มาร์ช 5บี อีกครั้ง ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของโครงสร้างจรวดได้ตกลงสู่หมู่บ้านในประเทศโกตดิวัวร์ซึ่งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก แม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่บ้านเรือนและธุรกิจต่างได้รับความเสียหาย ตามรายงานของฟอร์บส์

“ช่วงปีที่ผ่านมา พบโครงสร้างจรวดลอง มาร์ช 5บี ของจีนจำนวนสองลำที่ยังเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ขณะย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ นั่นถือเป็นการเอนเอียงไปจากบรรทัดฐานอย่างเห็นได้ชัด” นายเดอ กริจส์ กล่าว

หลักเกณฑ์ว่าด้วยการใช้อวกาศอย่างสันติที่ออกโดยคณะกรรมการของสำนักงานกิจการอวกาศแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการลดเศษซากอวกาศ รวมถึงการป้องกัน “ความเสี่ยงต่อความเสียหายทางภาคพื้น หากยังมีเศษซากหลงเหลือขณะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก”

“การดำเนินการตามมาตรการลดเศษซากที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ถือเป็นขั้นตอนที่รอบคอบและจำเป็นต่อการปกป้องสภาพแวดล้อมของอวกาศรอบนอกสำหรับคนรุ่นหลัง” ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการใช้อวกาศอย่างสันติ พ.ศ. 2553

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโครงสร้างหลักเดี่ยวของจรวดลอง มาร์ช 5บี ซึ่งคาดว่าสูง 33 เมตรและหนัก 21,000 กิโลกรัม ถูกทิ้งหลังจากที่สัมภาระจรวดถึงวงโคจร นั่นแตกต่างจากจรวดส่วนใหญ่ที่มีโครงสร้างหลายส่วนและสละออกเป็นลำดับขณะทะยานขึ้น ซึ่งง่ายต่อการคาดการณ์ตำแหน่งที่เศษซากจะลงสู่พื้น

“ดูเหมือนว่าการออกแบบจรวดของจีนจะให้ความสำคัญกับพละกำลังเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือกำลังที่เพียงพอต่อการยกสัมภาระน้ำหนักมากขึ้นสู่วงโคจร” นายเดอ กริจส์ กล่าว

ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่น ๆ กำลังก้าวไปอีกขั้นในการลดเศษซากอวกาศ หลายวันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับจรวดจีนครั้งล่าสุด บริษัทสเปซเอ็กซ์ ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการควบคุมการลงจอดจรวดต้นแบบเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่ง บริษัทสเปซเอ็กซ์ประกาศว่า ยานสตาร์ชิป ซึ่งเป็นยานบรรทุกของหนักที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ไต่ไปถึงระดับความสูง 10 กิโลเมตรก่อนลงจอดอย่างปลอดภัยในเท็กซัส

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า บริษัทสเปซเอ็กซ์ โดยความร่วมมือกับนาซามีแผนที่จะใช้จรวดสตาร์ชิปรุ่นต่อไปซึ่งมีความสูงที่ 120 เมตร ในการขนส่งนักบินอวกาศจากวงโคจรรอบดวงจันทร์ไปยังดวงจันทร์

จากการรายงานของรอยเตอร์ เจ้าหน้าที่จีนยืนกรานว่าการคาดการณ์การกลับสู่ชั้นบรรยากาศของจรวดลอง มาร์ช 5บี ได้มีการเผยแพร่ผ่าน “กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ” องค์การอวกาศของจีนกล่าวในแถลงการณ์ด้วยข้อความสองประโยคว่า “อุปกรณ์ขนาดมหึมาส่วนใหญ่จะถูกเผาไหม้ระหว่างย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ” พร้อมทั้งได้ระบุพิกัดละติจูดและลองจิจูดสำหรับ “พื้นที่ทางทะเล” ที่อ้างว่าจะเป็นพื้นที่ที่เศษซากดังกล่าวตกลงมา

องค์การอวกาศยุโรประบุว่าเครื่องมือที่จะอยู่ในอวกาศควร “เผาไหม้โดยไม่เหลือซาก” ขณะที่ตกผ่านชั้นบรรยากาศโลก และการย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ควรมีโอกาสสร้างความบาดเจ็บในอัตราน้อยกว่า 1 ต่อ 10,000 ส่วน

“ในทางปฏิบัติ ชิ้นส่วนจำนวนหนึ่งสามารถตกสู่โลกซึ่งบางชิ้นมีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างความเสียหายร้ายแรง” องค์การดังกล่าวระบุเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 “กฎระเบียบเกี่ยวกับเศษซากอวกาศสมัยใหม่กำหนดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวต้องไม่เกิดขึ้น”

ประเทศส่วนใหญ่จะออกแบบยานอวกาศให้สามารถป้องกันการย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ตามรายงานของนายโจนาธาน แมคโดเวลล์ จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน นายโจนาธาน กล่าวกับซีบีเอสนิวส์ว่า การตัดสินใจของจีนที่จะดำเนินการในทิศทางตรงข้ามไม่ได้แสดงออกว่าขาดความรู้หรือเทคโนโลยี แต่เป็นการเพิกเฉยต่อผลลัพธ์ของเศษซากจรวด “ผมจะคิดว่านั่นเป็นการขาดความตระหนัก” นายแมคโดเวลล์กล่าว

 

ภาพจาก: รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button