เรื่องเด่น

การเพิ่ม พลังงาน

พลังงานหมุนเวียน เปิดโอกาส ให้ภูมิภาค เป็นผู้นำด้านความ มั่นคงทางพลังงาน

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วที่ยังคงดำเนินต่อไปในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ทำให้ความต้องการด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก ด้วยความต้องการพลังงานที่คาดว่าจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 60 ภายใน พ.ศ. 2583 ความมั่นคงด้านพลังงานจะเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ตามการคาดการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกกำลังเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของตนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในภูมิภาคนี้ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกรายงานว่า ประเทศเหล่านั้นพยายามที่จะบรรลุความมั่นคงด้านพลังงานและปกป้องเศรษฐกิจจากความผันผวนของราคาและความไม่แน่นอนของตลาด อีกทั้งลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกยังมุ่งมั่นที่จะจัดหาการเข้าถึงพลังงานให้แก่ประชากรกว่า 420 ล้านคนที่ขาดแคลนพลังงานและประชากรอีก 2.1 พันล้านคนที่พึ่งพาพลังงานชีวมวลแบบดั้งเดิมสำหรับการประกอบอาหารและการทำความร้อน ตามที่ระบุในรายงานประจำ พ.ศ. 2560

รายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกระบุว่า การเปลี่ยนไปใช้ทรัพยากรพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำและการมีความหลากหลายของพลังงานผสม จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ และสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงพลังงานที่ราคาประหยัด เชื่อถือได้ ยั่งยืน และทันสมัยสำหรับทุกคน “การรับมือกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหลายประการเหล่านี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านด้วยวิธีการผลิต ส่งต่อ และบริโภคพลังงาน” รายงานดังกล่าวระบุ “แม้ว่าภาคพลังงานในหลาย ๆ ประเทศกำลังปฏิรูปอย่างช้า ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเร่งความเร็วขึ้น”

แผงพลังงานแสงอาทิตย์หันหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าที่เมืองฟูนาฟูติในตูวาลู ตูวาลูมุ่งมั่นที่จะผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยสมบูรณ์ภายใน พ.ศ. 2568 เก็ตตี้อิมเมจ

เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาของการปรากฏขึ้นอย่างทรงพลังของภูมิภาคดังกล่าวในเวทีโลก ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นแบบอย่างระดับโลกในการเปลี่ยนไปใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ซึ่งเป็นทางออกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางเพื่อยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และทำให้มั่นใจว่ามีทรัพยากรพลังงานที่เพียงพอสำหรับผู้อยู่อาศัยทุกคน “การเติบโตอย่างต่อเนื่องด้านการขนส่งและความต้องการพลังงานในภาคพลังงานความร้อนและความเย็น เปิดโอกาสด้านพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลายในภูมิภาคนี้” ตาม “รายงานสถานะพลังงานหมุนเวียนสำหรับเอเชียและแปซิฟิก” ประจำ พ.ศ. 2562 ที่เผยแพร่โดยเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นเครือข่ายนโยบายระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นสร้างอนาคตแห่งพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย

บรรดาผู้สนับสนุนต่างยืนยันว่าการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน สามารถกระจายแหล่งพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน ลดมลพิษทางอากาศ บรรเทาความยากจน และข้อได้เปรียบอื่น ๆ “ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนสามารถมีบทบาทสำคัญในการบรรลุการเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในระดับสากล” รายงานดังกล่าวระบุ เช่น “เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำขนาดเล็ก รวมถึงโรงงานเผาไหม้ภายในโดยใช้พลังงานชีวมวลหรือก๊าซชีวภาพ สามารถเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือให้กับสถานที่ห่างไกลได้” บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ประชากรกว่า 750 ล้านคนในอินโดแปซิฟิกที่กว้างขวางขึ้นยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

“การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน และโครงข่ายอัจฉริยะที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดงานที่มีคุณภาพสูงและระยะยาวมากขึ้น อีกทั้งลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นายมาซาสึกุ อาซาคาวะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวในระหว่างการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่จัดขึ้นโดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 “เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จะมีความพร้อมมากขึ้นเพื่อรับมือต่อผลกระทบในอนาคต เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไม่ต้องพึ่งพาวัสดุเชื้อเพลิง และระบบโครงข่ายอัจฉริยะสามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนยังสามารถช่วยยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท เช่น กระบวนการควบคุมอุณหภูมิสินค้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการกระจายวัคซีน” นายอาซาคาวะระบุ

แนวโน้มและเป้าหมาย

ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้แซงหน้ายุโรปและสหรัฐอเมริกาในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 54 ของการเติบโตใหม่ ๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกใน พ.ศ. 2562 ตามรายงานประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ บรรดาผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ภูมิภาคนี้ได้พัฒนากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวภาพ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เช่น ใน พ.ศ. 2562 จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนามมีกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่สูงที่สุด ขณะที่จีนและสหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านพลังงานลมใหม่ ตามรายงานของทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ รายงานดังกล่าวระบุว่าในปีเดียวกันนั้น ภูมิภาคที่ครอบคลุมออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก มีอัตราการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนที่รวดเร็วที่สุด โดยอยู่ที่ร้อยละ 18.4 แม้ว่าส่วนแบ่งกำลังการผลิตทั่วโลกของภูมิภาคย่อยจะมีขนาดเล็กก็ตาม

รายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ระบุว่า ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมีสัดส่วนการลงทุนใหม่ในภาคพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 52 ใน พ.ศ. 2561 ใน พ.ศ. 2562 จีนเป็นผู้นำในการลงทุนดังกล่าวสำหรับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของทั้งหมดทั่วโลก อีกทั้งออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่นก็อยู่ใน 10 อันดับแรกของปีดังกล่าวด้วยเช่นกัน ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก นิว เอ็นเนอร์จี ไฟแนนซ์ นอกจากนี้ ผู้นำการลงทุนหลายรายยังมีโครงการที่ใหญ่และมีนวัตกรรมมากที่สุดบางส่วนในภูมิภาคแห่งนี้อีกด้วย

ในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 อินเดียได้เปิดเผยแผนการก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ในเมืองเลห์และคาร์กิล ในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ภูมิภาคหิมาลัยมีศักยภาพอย่างมากสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ กระทรวงพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนวางแผน “โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตสะสมประมาณ 14 เมกะวัตต์ พร้อมความจุในการจัดเก็บแบตเตอรี่ 42 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมงในเมืองเลห์และคาร์กิล” นายอาร์ เค ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียนของอินเดีย กล่าวในการประกาศโครงการดังกล่าว ในขณะเดียวกัน อดานิ กรุ๊ป ของอินเดียซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง
อาห์เมดาบัด มีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้ได้ภายใน พ.ศ. 2568 และเป็นบริษัทพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดภายใน พ.ศ. 2573 ตามรายงานอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 อินเดียกำลังไปได้สวยในการสร้างเมืองพลังงานหมุนเวียนโดยสมบูรณ์แห่งแรก ใน พ.ศ. 2559 ดีอู ซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของเกาะดีอู ในรัฐคุชราต ได้กลายเป็นเมืองแห่งแรกของอินเดียที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงกลางวันโดยสมบูรณ์ ในฐานะผู้เข้าร่วมโครงการเมืองอัจฉริยะของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย รายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ระบุว่า เมืองดีอูซึ่งมีพื้นที่ 42 ตารางกิโลเมตรและมีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 52,000 คนสร้างสวนพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 9 เมกะวัตต์ ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารของรัฐบาล และช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในการติดตั้งหน่วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับต้น ๆ ด้วยเช่นกัน ใน พ.ศ. 2560 ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 24 ของพลังงานผสมภายใน พ.ศ. 2573 ซึ่งมากกว่าการผลิตในปัจจุบันถึงสองเท่า ญี่ปุ่นดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเกือบสามในสี่จากจำนวน 100 แห่ง ตามรายงานของเว็บไซต์เพาเวอร์เทคโนโลยี โรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ที่เขื่อนยามาคุระครอบคลุมพื้นที่ 18 เฮกตาร์และผลิตพลังงานให้บ้านเรือนประมาณ 5,000 หลังต่อปี

ประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับพลังงานหมุนเวียน และบางประเทศทำให้เป้าหมายดังกล่าวคืบหน้าไปได้เป็นอย่างดี เช่น ใน พ.ศ. 2562 นิวซีแลนด์กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยสมบูรณ์ภายใน พ.ศ. 2578 นิวซีแลนด์ที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ดำเนินการมาได้ครึ่งทางแล้วด้วยทรัพยากรพลังงานน้ำและความร้อนใต้พิภพที่มีอยู่ในปัจจุบัน “เราสามารถมีเป้าหมายที่ท้าทายและเน้นการปฏิบัติไปพร้อม ๆ กันได้” ดร. เมแกน วูดส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรนิวซีแลนด์ กล่าวในการประกาศเป้าหมายดังกล่าว “เราจะดำเนินการประเมินประจำปี 5 ครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการซึ่งประกอบด้วยความสามารถในการซื้อ ความยั่งยืน และความมั่นคง ได้รับการจัดการเป็นอย่างดี”

เรื่องราวความสำเร็จ

รายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ระบุว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจำนวนมากในการย้ายไปใช้พลังงานหมุนเวียนสามารถพบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ซึ่งมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงสุดที่ร้อยละ 45.7 และร้อยละ 42 ตามลำดับ รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ประเทศที่มีส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายโดยรวมมากที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ พม่า (ร้อยละ 68), ศรีลังกา (ร้อยละ 51.3), ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 47.5) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 47) โดยจำนวนร้อยละดังกล่าวมาจากพลังงานน้ำและพลังงานชีวภาพ

กังหันลมกำลังหมุนในทุ่งกังหันลมใกล้กับกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย รอยเตอร์

อินโดนีเซียกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาสร้างเมืองหลวง “อัจฉริยะและสะอาด” ซึ่งอาศัยพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานไฟฟ้า ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดเผยถึงแผนการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว เพื่อจัดการกับปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วและประชากรที่มากเกินไปในกรุงจาการ์ตา แต่ต้องเลื่อนแผนการดังกล่าวซึ่งมีมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ออกไปเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 การสร้างโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียนสำหรับเมืองใหม่จะเปิดโอกาสให้มีการลงทุนด้านพลังงานทดแทนต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์มีแผนที่จะปรับใช้เทคโนโลยีโครงข่ายอัจฉริยะในหมู่เกาะจำนวนมากของประเทศ เครือข่ายไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตรวจสอบและจัดการการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าจากการผลิตไปยังปริมาณความต้องการที่หลากหลายในพื้นที่ให้บริการ อีกทั้งปรับปรุงความน่าเชื่อถือของโครงข่าย นอกจากนี้ เมรัลโค ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคการจัดจำหน่ายไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ที่มีลูกค้ามากกว่า 5 ล้านราย ยังมีแผนที่จะบูรณาการแพลตฟอร์มโครงข่ายอัจฉริยะขั้นสูง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น โดยมีมาตรอัจฉริยะแบบเติมเงินเป็นหนึ่งในบริการแรก ตามรายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21

ประเทศต่าง ๆ เช่น บังกลาเทศและเวียดนาม ก็เป็นผู้นำใหม่ในการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเช่นกัน บังกลาเทศได้สร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม บริษัท อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งผลิตไฟฟ้าให้กับประชากรมากกว่าร้อยละ 12 ในประเทศ บังกลาเทศร่วมมือกับธนาคารโลกจัดตั้งบริษัท อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดใน พ.ศ. 2540 เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน โครงการดังกล่าวได้ติดตั้งระบบบ้านพลังงานแสงอาทิตย์ 4.2 ล้านระบบด้วยเงินลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชากร 18 ล้านคนจนถึงช่วงกลาง พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ บริษัท อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอป
เมนท์ จำกัด ได้ติดตั้งปั๊มชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 เครื่อง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก 13 แห่ง เตาหุงต้ม 1 ล้านเครื่อง และโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ 46,000 แห่ง เพื่อเป็นทางออกด้านการหุงต้มที่สะอาดให้แก่ประชาชนมากกว่า 200,000 คน ในอีกห้าปีข้างหน้า บริษัท อินฟราสตรัคเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ตั้งเป้าที่จะติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์และระบบหุงต้มเพิ่มเป็นสองเท่า โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเตาหุงต้มแบบดั้งเดิมทุกชนิดในประเทศภายใน พ.ศ. 2573

ความท้าทายเบื้องหน้า

ความท้าทายหลายประการในการปรับใช้พลังงานหมุนเวียนและแนวทางปฏิบัติที่ประหยัดพลังงานยังคงมีอยู่ “แม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนระดับโลก แต่การใช้พลังงานหมุนเวียนยังคงล้าหลังกว่าแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม ในด้านการจัดหาพลังงานตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้” รายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ระบุ ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก 6 แห่ง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างมากในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นในหลายเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคนี้มีเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด 93 แห่งจาก 100 อันดับแรกของโลก โดย 56 แห่งอยู่ในจีนและ 17 แห่งอยู่ในอินเดีย

รายงานดังกล่าวระบุว่า “ช่องว่างขนาดใหญ่ยังปรากฏอยู่ระหว่างความทะเยอทะยานในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอัตราความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษ”

ควันและไอน้ำลอยตัวขึ้นจากโรงงานแปรรูปถ่านหินแห่งหนึ่งในเมืองเหอจิน ประเทศจีน ในแต่ละปี จีนเผาถ่านหินประมาณครึ่งหนึ่งของถ่านหินที่ใช้ทั่วโลก เอเชียมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีการวางแผนไว้ ทั้งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือกำลังดำเนินการมากที่สุดในโลก ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบสิ้นเปลืองยังคงเติบโตเร็วกว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า โดยรวมแล้ว พลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยจะมีสัดส่วนน้อยกว่าการใช้พลังงานทั้งหมดของภูมิภาคร้อยละ 10

ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกส่วนใหญ่ไม่มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง รายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ระบุว่า อินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลกและมองโกเลียซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่เป็นอันดับ 9 เป็นข้อยกเว้นที่น่าสังเกต ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นำเข้าพลังงานมากกว่าร้อยละ 50

นอกจากนี้ ประเทศที่มีขนาดและศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดบางประเทศ ยังมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายโดยรวมค่อนข้างน้อย รายงานดังกล่าวระบุ อินเดียและจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของการใช้พลังงานหลักทั่วโลก แต่ใน พ.ศ. 2559 อินเดียมีสัดส่วนพลังงานทดแทนในการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายโดยรวมน้อยกว่าร้อยละ 40 ขณะที่สัดส่วนของจีนต่ำกว่าร้อยละ 20

รายงานดังกล่าวระบุว่า อุปสรรคอื่น ๆ ในการปรับใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ การจัดหาเงินทุน การหันไปหาการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ซับซ้อนมากขึ้นสำหรับพลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนแปลงของพลวัตอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มขึ้นของเมือง

คนงานคนหนึ่งตรวจสอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย รอยเตอร์

การตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจะต้องใช้เงินลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์ภายใน พ.ศ. 2583 ตามการคาดการณ์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ นายฟรานซิส อาร์. แฟนนอน ผู้ช่วยเลขานุการสำนักงานทรัพยากรพลังงานสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับเอเชียเอจ หรือการยกระดับการพัฒนาและการเติบโตผ่านพลังงาน เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ว่า “วิธีที่ประเทศต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค” “ซึ่งมีผลกระทบระดับโลก”

เอเชียเอจซึ่งเปิดตัวใน พ.ศ. 2561 ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.4 พันล้านบาท) สนับสนุนความมั่นคง การกระจายสัดส่วน การเข้าถึง และการค้าด้านพลังงานทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก นายแฟนนอนกล่าวว่า อินเดียได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้โครงการนี้ เพื่อจัดตั้งโครงการริเริ่มด้านทรัพยากรที่ยืดหยุ่นเพื่อเสริมสร้างความสามารถของอินเดียในการระดมทุนเอกชน จัดหาเงินทุนตามความต้องการด้านความมั่นคง และเพิ่มโอกาสให้บริษัทสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในระบบพลังงานดังกล่าว

ความพยายามในการร่วมมือที่สำคัญ

ความร่วมมือระดับภูมิภาคมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงด้านพลังงาน ตามรายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21 เช่น การค้าพลังงานข้ามพรมแดนได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้สร้างความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ กับลุ่มแม่น้ำโขงผ่านการลงทุนในเอเชียเอจ เพื่อกำหนดเป้าหมายโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคและสนับสนุนบริษัทสหรัฐฯ ในการสร้างเส้นทางการส่งกระแสไฟฟ้าข้ามพรมแดน

“การเพิ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคสามารถช่วยปรับปรุงการเข้าถึงพลังงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดดุลพลังงานในเอเชีย และยังเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคดังกล่าวในแง่ของการรักษาทรัพย์สินทางธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตร และความมั่นคงด้านอาหาร” ตามรายงานเกี่ยวกับเอเชียใต้ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 โดยนักวิจัยของธนาคารพัฒนาเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้น “การเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและการบูรณาการในขั้นตอนต่าง ๆ ของการแบ่งปันทรัพยากร การผลิต และการค้า สามารถรวมประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นเครือข่ายการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด”


ผู้นำ ความร่วมมือด้านพลังงาน ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

องค์กรชั้นนำและโครงการริเริ่มที่ส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกประกอบด้วย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ คณะทำงานด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจพลังงานในเอเชียแปซิฟิก ศูนย์พลังงานแห่งสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียกลาง ศูนย์พลังงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์แปซิฟิกสำหรับพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน ตามที่ระบุในรายงานของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21

เอเชียใต้

ศูนย์พลังงานแห่งสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค

สมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาคสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยมีโครงการความร่วมมือด้านพลังงานที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแปลงความท้าทายด้านพลังงานให้เป็นโอกาสในการพัฒนา แพลตฟอร์มนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และองค์กรเอกชน ที่ทำหน้าที่กำหนดศักยภาพในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาพลังงานน้ำ พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ และพลังงานทางเลือก ศูนย์พลังงานแห่งนี้ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การค้าพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และการปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ถือผลประโยชน์ร่วมสามารถรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานที่ประเทศสมาชิกของสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาคต้องเผชิญ

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ

ใน พ.ศ. 2543 องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มระดับภูมิภาคเพื่อการบูรณาการพลังงานสำหรับเอเชียใต้ ซึ่งครอบคลุมไปยังอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา สามระยะแรกของโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นที่การค้าพลังงานข้ามพรมแดน การสร้างตลาดพลังงาน และการพัฒนาพลังงานสะอาด ขณะที่ระยะล่าสุดมุ่งเน้นที่ความก้าวหน้าในการบูรณาการตลาดระดับภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

ศูนย์พลังงานอาเซียนก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2542 ในฐานะองค์กรระหว่างรัฐบาลเพื่อเร่งการบูรณาการกลยุทธ์ด้านพลังงานภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ศูนย์ดังกล่าวให้ข้อมูลและความเชี่ยวชาญเพื่อให้แน่ใจว่านโยบายและโครงการด้านพลังงานสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค แผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อความร่วมมือด้านพลังงาน พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2568 มีโครงการริเริ่มเพื่อความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาดและราคาประหยัด เช่น เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนมีจุดมุ่งหมายเพื่อประสานความพยายามในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยั่งยืน เครือข่ายเมืองนำร่อง 26 เมืองแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด อำนวยความสะดวกในโครงการต่าง ๆ กับภาคเอกชน และได้รับเงินทุนจากพันธมิตรภายนอก เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ประเทศที่ประกอบกันเป็นอนุภูมิภาคแห่งนี้ ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว จีน ไทย และเวียดนาม ส่วนใหญ่ร่วมมือกันโดยอาศัยการค้าพลังงานจากศักยภาพของพลังงานน้ำที่มีตามแนวแม่น้ำโขง เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชียและผู้สนับสนุนอื่น ๆ กำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงเส้นทางคมนาคมให้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจข้ามชาติ ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันผ่านการอำนวยความสะดวกที่มีประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนของประชากรและสินค้า การบูรณาการตลาด กระบวนการผลิต และแนวคิดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้มากยิ่งขึ้นผ่านโครงการและแผนงานที่จัดการกับความกังวลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

สำนักงานเลขาธิการประชาคมแปซิฟิก

สำนักงานเลขาธิการดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับความร่วมมือด้านการพัฒนาระดับภูมิภาคข้ามภาคส่วนในแปซิฟิก อีกทั้งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของสภาองค์กรระดับภูมิภาคแห่งแปซิฟิก โครงการทรัพยากรธรณีและพลังงานพยายามใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานของแปซิฟิกเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบของก๊าซคาร์บอนจากเครือข่ายพลังงานและการใช้งานในปัจจุบัน และยังมุ่งเน้นที่การกำกับดูแล การประเมินทางเทคนิค และการพัฒนากำลังการผลิต สำนักงานเลขาธิการประชาคมแปซิฟิกร่วมกับรัฐบาลตองงา เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์แปซิฟิกสำหรับพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน

สมาคมพลังงานแปซิฟิก

หน่วยงานระหว่างรัฐบาลแห่งนี้ส่งเสริมความร่วมมือของบริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงานของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในการฝึกอบรมทางเทคนิค การแลกเปลี่ยนข้อมูล การแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านการบริหารระดับสูงและวิศวกรรม รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ

มหาวิทยาลัยแปซิฟิกใต้

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศเป็นเจ้าของ มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการด้านอุดมศึกษาและการวิจัยด้านความยั่งยืนสำหรับภูมิภาคแปซิฟิก อีกทั้งมีกิจกรรมที่รองรับการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนด้วย

ที่มา: “รายงานสถานะพลังงานหมุนเวียนสำหรับเอเชียและแปซิฟิก” ประจำ พ.ศ. 2562 ของเครือข่ายนโยบายพลังงานหมุนเวียนสำหรับศตวรรษที่ 21

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button