กระบอกเสียงแผนก

การเปลี่ยนแปลงทางสถิติประชากรของญี่ปุ่นและความท้าทายด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคในภายภาคหน้า

ดร. แอนดริว โอรอส

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศหลักกลุ่มแรกของโลกยุคใหม่ ที่ประสบกับจำนวนประชากรที่ลดลง ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นมีจำนวนลงลดจากทศวรรษที่ผ่านมาประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นการลดลงที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่าจะลดลงประมาณ 8 ล้านคนในทศวรรษ 2020 (พ.ศ. 2563-2572) และ 10 ล้านคนในทศวรรษ 2030 (พ.ศ. 2573-2582)

ผู้สังเกตการณ์บางราย เช่น นายแบรด กลอสเซอร์แมน ระบุในหนังสือของตนที่ชื่อญี่ปุ่น ณ จุดสูงสุด: จุดจบของความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ วินิจฉัยว่าสถิติประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปของญี่ปุ่นจะนำไปสู่การเป็นประเทศที่ยึดถือตนเองเป็นหลักมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถิติต่าง ๆ ในปัจจุบันยังไม่ได้ยืนยันถึงประเด็นดังกล่าว ญี่ปุ่นประสบกับการลดลงของประชากรเป็นทศวรรษแรกและสิ่งที่นักประชากรศาสตร์เรียกว่า “การสูงวัยระดับสุดยอด” (การมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี กว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด) ในทศวรรษ 2010 (พ.ศ. 2553-2562) อย่างไรก็ตาม ดังที่ผมได้โต้แย้งในยุคฟื้นฟูความมั่นคงของญี่ปุ่น: นโยบายและการเมืองใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมีความสามารถมากกว่าที่เคยในช่วงเวลานี้ การอภิปรายด้านกลาโหมในญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้คาดการณ์ถึงการเพิ่มขีดความสามารถเพิ่มเติม รวมถึงการพัฒนาขีปนาวุธโจมตีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องปราม

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ อาทิ นางเชียลา สมิธ ผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่าญี่ปุ่นติดอาวุธใหม่: การเมืองของอำนาจทางทหาร และ ดร. เจฟฟรีย์
ฮอร์นัง นักวิเคราะห์กิจการกลาโหมที่แรนด์ คอร์ปอเรชัน ยังได้สร้างสรรค์งานเขียนชิ้นสำคัญที่อธิบายถึงกิจการทางทหารอันน่าเกรงขามมากขึ้นของญี่ปุ่น การแปลงเรือพิฆาตชั้นอิซึโมะให้สามารถบรรทุกเครื่องบิน เอฟ-35 และการใช้งานเรือพิฆาตที่ติดตั้งระบบเอจิสเพิ่มเติม (รวมเป็นแปดลำ) เป็นเพียงสองตัวอย่างจากขีดความสามารถอีกมากมายในการขยายตัวของญี่ปุ่น แม้จะมีความท้าทายทางสถิติประชากรที่ญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ก็ตามที แนวโน้มนี้จะดำเนินต่อไปได้นานเพียงใด? นักวางแผนด้านกลาโหมของญี่ปุ่นจำเป็นต้องพิจารณาคำถามนี้อย่างรอบคอบในขณะที่ทบทวนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของชาติ ขณะที่ขีดความสามารถทางทหารของญี่ปุ่นอาจดีขึ้นแม้สถิติประชากรจะลดลง แต่ขนาดกองทัพญี่ปุ่นดูเหมือนจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากขึ้น และแนวโน้มการจัดหาเงินสนับสนุนกองทัพก็มีความคลุมเครือ

เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น เจเอส อิซึโมะ (ลำที่สองจากทางขวา) เรือพิฆาตเจเอส อาเคโบโนะ และเจเอส มุราซาเมะ รวมถึงเรือบีอาร์พี ดาเบา เดล ซูร์ ของกองทัพเรือฟิลิปปินส์เข้าร่วมการฝึกซ้อมในทะเลซูลูของฟิลิปปินส์ แอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเกณฑ์ทหารได้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ใน พ.ศ. 2561 กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายกองกำลังประจำการไว้ที่ 247,000 คน แต่สามารถบรรลุได้เพียง 227,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ขาดหายไปถึงร้อยละ 8 แต่เชื่อว่าคิดเป็นร้อยละ 25 ในหมู่เจ้าหน้าที่ยศระดับล่าง ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากจำนวนชาวญี่ปุ่นในช่วงอายุ 18 ถึง 26 ปี ซึ่งเป็นอายุเป้าหมายของการเกณฑ์ทหาร เคยเพิ่มถึงจุดสูงสุดแล้วใน พ.ศ. 2537 ญี่ปุ่นไม่พึงพอใจกับอัตราการเกิดของประชากรตั้งแต่ พ.ศ. 2517

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้พิจารณาวิธีต่าง ๆ ในการจัดการกับความขาดแคลนกำลังที่วางแผนไว้ ซึ่งแนวทางของโครงการกลาโหมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ระบุว่านี่เป็น “ความท้าทายที่ใกล้จะเกิดขึ้น” ใน พ.ศ. 2561 กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นได้กำหนดอายุสูงสุดสำหรับทหารเกณฑ์ใหม่จาก 26 ปีเป็น 32 ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ใน พ.ศ. 2563 อายุเกษียณของเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กระทรวงกลาโหมยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของสตรีในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นขึ้นเป็นร้อยละ 9 ภายใน พ.ศ. 2573 จำนวนสตรีในกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 7 ใน พ.ศ. 2561 เมื่อเทียบกับจำนวนเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 11 ในกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต แนวคิดอื่น ๆ อาทิ การจัดจ้างบุคคลภายนอกเพื่อทำงานบางส่วนของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น เช่น การบำรุงรักษา กิจกรรมบรรเทาภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดข้อโต้แย้ง และการจัดสรรเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินใหม่ (ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังมากกว่าครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่น) ให้แก่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลและทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีภาพรวมที่สำคัญกว่าซึ่งควรพิจารณา นั่นคือ ญี่ปุ่นไม่ได้ประสบปัญหาการสูงวัยและประชากรหดตัวเพียงประเทศเดียว แน่นอนว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดของญี่ปุ่น รวมถึงประเทศที่สนใจร่วมเป็นหุ้นส่วนและประเทศที่สร้างความกังวลด้านความมั่นคง ต่างเผชิญกับอนาคตลักษณะเดียวกันแม้ในช่วงเวลาที่ต่างกันก็ตาม ซึ่งรวมถึงพันธมิตรสหรัฐอเมริกาอื่น ๆ ในภูมิภาค (เกาหลีใต้และไทย ทั้งนี้ไม่รวมฟิลิปปินส์) หุ้นส่วนด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อื่น ๆ (สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม) และที่สำคัญคือประเทศที่สร้างความกังวลด้านความมั่นคงหลัก (จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย) ประชากรวัยทำงานในจีน เกาหลีใต้ และไต้หวันกำลังหดตัวลงแล้ว โดยคาดว่าประชากรทั้งหมดจะลดลงในทศวรรษนี้

ในขณะเดียวกัน หุ้นส่วนด้านความมั่นคงในอนาคตของญี่ปุ่นจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและยังคงไว้ซึ่งประชากรวัยหนุ่มสาวที่แข็งแกร่ง อินเดียและอินโดนีเซียเป็น 2 ใน 10 ประเทศแรกที่มีการเติบโตของจำนวนประชากรสูงสุดจนถึง พ.ศ. 2593 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเทศเหล่านี้และฟิลิปปินส์ที่กำลังเติบโตเป็นหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นพยายามจะกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงด้วย ประชากรศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผลักดันให้ญี่ปุ่นไปสู่ความสัมพันธ์เหล่านี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับจีน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการบรรจบกันของผลประโยชน์ทางทะเลก็มีความสำคัญเช่นกัน

เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงที่ศูนย์ฝึกฮิงาชิ-ฟูจิ ในเมืองโกะเทมบะ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว แอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสถิติประชากรต่อยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ หุ่นยนต์และระบบไร้คนขับอื่น ๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์อาจช่วยชดเชยจำนวนประชากรที่หดตัวลงได้ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีต่าง ๆ ดังกล่าวก็กำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะของสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคอีกด้วย ดังที่นายคริสเตียน โบรส ระบุไว้ในนิตยสารฟอเรียน อัฟแฟร์ส ว่า “ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ เซ็นเซอร์ที่แพร่หลาย การผลิตขั้นสูง และวิทยาศาสตร์ควอนตัมจะเปลี่ยนโฉมหน้าการทำสงครามไปโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี” ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การอุบัติของมิติความมั่นคงใหม่ในโลกไซเบอร์และอวกาศทำให้เกิดภาระใหม่ขึ้น เราไม่อาจคาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพียงอย่างเดียวจะสามารถชดเชยกับความท้าทายที่ประเทศต้องเผชิญเกี่ยวกับสถิติประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ทางเลือกที่ยากลำบากกำลังรอเราอยู่ข้างหน้า

โดยรวมแล้ว การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสถิติประชากรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนักยุทธศาสตร์กองทัพญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสถิติประชากรต่อความมั่นคงของชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยจำนวนมาก นั่นรวมถึงลักษณะของภัยคุกคามด้านความมั่นคงเฉพาะที่แต่ละประเทศเผชิญ ซึ่งภัยคุกคามบางอย่างสามารถแก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยทางเลือกที่ใช้แรงงานน้อยลง ความพร้อมใช้งานของทางออกทางเทคโนโลยีก็เป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน ไม่ว่าระบบการเมืองและสังคมจะเต็มใจและสามารถนำทางออกดังกล่าวหรือทางเลือกอื่น ๆ มาปรับใช้ได้หรือไม่ก็ตาม ประชากรศาสตร์ไม่ใช่ชะตากรรม แต่จำเป็นต้องมีการพิจารณามากกว่าที่ผ่านมา ในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

ดร. แอนดริว โอรอส เป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และการศึกษานานาชาติที่วิทยาลัยวอชิงตันในเชสเตอร์ทาวน์ รัฐแมริแลนด์ อีกทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือยุคฟื้นฟูความมั่นคงของญี่ปุ่น: นโยบายและการเมืองใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 บทความฉบับนี้เดิมตีพิมพ์ในเอเชียแปซิฟิกบูลเลททิน ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นเอกสารตีพิมพ์ของศูนย์อีสต์เวสต์ และได้รับการเรียบเรียงเนื้อหาใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ FORUM มุมมองที่แสดงออกโดย ดร. โอรอสไม่ได้สะท้อนถึงนโยบายหรือจุดยืนของศูนย์อีสต์เวสต์หรือองค์กรใด ๆ ที่ ดร. โอรอสสังกัดอยู่เสมอไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button