ติดอันดับ

กองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนียแสดงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกยังคงเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อยกระดับความมั่นคงทั่วทั้งอินโดแปซิฟิก

กองบัญชาการดังกล่าวใช้แนวทางแบบบูรณาการทุกหน่วยงานของภาครัฐมาออกแบบ ตรวจสอบ และดำเนินการโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในต่างประเทศ การบรรเทาภัยพิบัติ และการช่วยเหลือพลเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยร่วมกับประชากรพลเรือน รัฐบาลของประเทศเจ้าบ้าน และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิกได้ดำเนินการโครงการกว่า 200 โครงการ นับเป็นมูลค่า 17.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.4 ร้อยล้านบาท) เพื่อจัดหาทุกอย่างตั้งแต่อุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ทำความสะอาด ไปจนถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์สุขาภิบาล

กองทัพสหรัฐฯ ได้จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนียใน พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ในฐานะส่วนหนึ่งของแนวทางแบบบูรณาการทุกหน่วยงานของภาครัฐของกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กองกำลังเฉพาะกิจนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลของหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของพันธมิตรที่ทำงานในภูมิภาคดังกล่าว

“สหรัฐฯ และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในโอเชียเนียได้ร่วมเผยแพร่ค่านิยมพื้นฐานหลายประการเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย รวมถึงหลักความเชื่อเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์เพื่อปลูกฝังให้เคารพปัจเจกบุคคลภายในบริบททางสังคมที่เข้มแข็ง” พ.อ. เบลส แซนโดลิ ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนียกล่าว “ค่านิยมที่มีร่วมกันและความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการซึ่งได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำให้ประสานความร่วมมือกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

กองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนีย ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฟอร์ต ชาฟเตอร์ รัฐฮาวาย ประกอบด้วยทหารจากทุกหน่วยของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ กองกำลังประจำการ กองกำลังสำรองกองทัพ และกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและมีความหมายทั่วทุกประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้นำระดับสูง การฝึกซ้อม การประชุม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการวางแผนรับมือภัยพิบัติ ทั้งนี้ กองกำลังเฉพาะกิจได้ส่งทีมทหารสองนายที่ผ่านการฝึกด้านกิจการพลเรือนไปยังหมู่เกาะแปซิฟิกที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและคิดหาทางออกที่เหมาะสมแก่ประเทศเจ้าบ้านแต่ละประเทศ

ใน พ.ศ. 2563 กองกำลังเฉพาะกิจได้ส่งทหารไปยังฟิจิ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา ปาปัวนิวกินี และติมอร์-เลสเต โดยมีแผนสนับสนุนหมู่เกาะแปซิฟิกทั่วทั้งภูมิภาคใน พ.ศ. 2564 (ภาพ: พ.ต. รูบี้ กี แห่งกองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนีย (ซ้าย) พบนางมาเดร แองเจลิตา ผู้ประสานงานสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า เพื่อแจกจ่ายสิ่งของต่าง ๆ ในเมืองลากา ประเทศติมอร์-เลสเต เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563)

กองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนียได้เข้าร่วมภารกิจกับประเทศหมู่เกาะกว่า 85 ครั้งแล้ว โดยมีการส่งกองกำลังไปปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับสหพันธรัฐไมโครนีเซียและกวม ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีและพหุภาคี ความยึดมั่นในความเป็นพลเมือง การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง การประเมินสถานที่ และการสนับสนุนการฝึกซ้อมและปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาค ประเด็นสำคัญประกอบด้วยการเข้าถึงสถานการณ์โควิด-19 การปฏิบัติการคริสต์มาสดรอป การมีส่วนร่วมด้านสันติภาพและความมั่นคงของสตรี รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างกองทัพกับกองทัพ

ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการปีแรกของกองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนียกับเหล่าทหารในภาคพื้นดิน โดยมีการประชุมสัมมนาการประเมินหลังการดำเนินการเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ชื่อ อี ปิลิ อานา อิ กาโมอาน่า ปีที่ 1:

การประชุมสัมมนาความร่วมมือเพื่อสร้างศักยภาพ การประชุมดังกล่าวพยายามรวบรวมบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากผู้มีบทบาทสำคัญ และเอื้อประโยชน์ในการวางแผนและความร่วมมือในหมู่ผู้มีบทบาทที่แตกต่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับปฏิบัติการและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก

การประชุมสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-30 เมษายน และมีการจัดพื้นที่ให้อภิปรายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกองกำลังเฉพาะกิจโอเชียเนีย พันธมิตรร่วม พันธมิตรระหว่างรัฐบาล และพันธมิตรพหุชาติ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างศักยภาพในภูมิภาค เช่น ศูนย์เอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะอุเอะ เพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง มหาวิทยาลัยฮาวาย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เจ้าหน้าที่กิจการพลเรือนที่เพิ่งเดินทางกลับจากหมู่เกาะแปซิฟิกได้เผยข้อมูลเชิงลึก แจ้งให้ทราบถึงการเคลื่อนกองกำลังเฉพาะกิจในอนาคต และเน้นย้ำเรื่องความร่วมมือในอนาคต การอภิปรายมุ่งเน้นการสร้างศักยภาพในด้านต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความรู้ดั้งเดิม การปกครอง การศึกษา และสาธารณสุข

ภาพจาก: ส.ท. ลิเดีย แม็คคินนีย์/กองทัพบกสหรัฐฯ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button