ติดอันดับ

เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เสริมความเข้มแข็งให้พันธมิตรด้วยสนธิสัญญาการแบ่งสรรค่าใช้จ่าย

ฟีลิกซ์ คิม

ข้อตกลงการแบ่งสรรค่าใช้จ่ายฉบับใหม่ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาจะช่วยเสริมพันธมิตรด้านกลาโหม เพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นด้วยในเรื่องนี้

“รัฐบาลสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการแบ่งสรรค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมสำหรับหกปีข้างหน้า รวมถึงปีที่ผ่านมาด้วย” นายชิน ซอง-โฮ นักวิเคราะห์กิจการกลาโหมและศาสตราจารย์ด้านการศึกษาต่างประเทศของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าวกับ ฟอรัม “ข้อตกลงนี้ช่วยทำให้รากฐานความเป็นพันธมิตรมีเสถียรภาพ”

นายชิน ซอง-โฮ กล่าวว่า อัตราการแบ่งสรรภาระหนี้ระหว่างพันธมิตรจะมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากจำนวนงบประมาณด้านกลาโหมของสาธารณรัฐเกาหลีเปลี่ยนแปลง โดยมีการระบุว่าข้อตกลงดังกล่าว “ทั้งปฏิบัติได้จริงและสมเหตุสมผล” แม้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการให้เงินช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเกาหลีใต้ ในการช่วยจ่ายให้แก่กองกำลังสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลี

คำพูดของนายชินได้สะท้อนถึงคำแถลงการณ์ของนายซอ อุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี หลังจากการประชุมกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564 นายซอกล่าวว่า “ความเป็นพันธมิตรของสาธารณรัฐเกาหลีกับสหรัฐฯ จะพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นจากระบบการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างกันและกัน” ตามการรายงานของกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี (ภาพ: นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (ซ้าย) และนายซอ อุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี หารือเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีเหนือในระหว่างการประชุมที่กรุงโซลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564)

ทหารสหรัฐฯ ประมาณ 28,000 นายประจำการในเกาหลีใต้ ใน พ.ศ. 2562 พันธมิตรทั้งสองได้ทำข้อตกลงกันโดยกำหนดว่าเกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินประมาณ 924 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท) สำหรับการมีบทบาทของสหรัฐฯ โดยคาดว่าข้อตกลงใหม่จะทำให้วงเงินช่วยเหลือรายปีเพิ่มขึ้น

เมื่อข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุด กิจการพันธมิตรในอีกหลายเดือนข้างหน้าจะมุ่งเน้นในประเด็นการป้องกันที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการโอนอำนาจควบคุมปฏิบัติการยามสงครามจากกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีให้แก่สาธารณรัฐเกาหลี อันได้แก่ การป้องกันและยับยั้งภัยคุกคามที่เกิดจากเกาหลีเหนือ การป้องกันน่านน้ำในอินโดแปซิฟิก และความร่วมมือด้านกลาโหมไตรภาคีที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา นายชินกล่าว

นายชินกล่าวอีกว่า การโอนอำนาจควบคุมปฏิบัติการมีความคืบหน้าต่อเนื่องมานับตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2549 แต่แรงผลักดันมีเพิ่มมากขึ้นจากการย้ายฐานทัพของกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลี จากกองทหารรักษาการณ์ยองซานในกรุงโซลไปยังแคมป์ฮัมฟรีย์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปทางใต้ประมาณ 65 กิโลเมตร การโอนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากองทัพสาธารณรัฐเกาหลีมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อการป้องกันประเทศ

การยับยั้งและป้องกันภัยคุกคามแบบเดิมและด้วยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ จำเป็นต้องมีกำลังและความพร้อมทางทหารอย่างต่อเนื่อง นายชินกล่าว อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายตามที่นายซอระบุไว้เรื่อง “สันติภาพอย่างถาวร” ในคาบสมุทร จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลเกาหลีเหนือเช่นกัน “ในการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างพันธมิตรทั้งสอง”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่ยืนหยัดในการปกป้องเกาหลีใต้ “ความมุ่งมั่นด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ที่มีต่อสาธารณรัฐเกาหลีนั้นไม่อาจสั่นคลอนได้ ประกอบกับความสอดคล้องตามสนธิสัญญาการป้องกันร่วม และกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีที่มีท่าทีเฉพาะที่จะทำการต่อสู้ในคืนนี้เลยหากจำเป็น” พ.ท. มาร์ติน ไมเนอร์ โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์

นายชินกล่าวว่า ความร่วมมือด้านกลาโหมไตรภาคีกับญี่ปุ่นจะมีความสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการป้องกันขีปนาวุธ โดยระบุว่าการมีบทบาทของกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีถือเป็น “เสาหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับเสถียรภาพของอินโดแปซิฟิก” ในภูมิภาคซึ่งยังคงมีพื้นที่ที่อาจเกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะในทะเลจีนตะวันออกและในทะเลจีนใต้ ทำให้เสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพของภูมิภาคในวงกว้าง

ด้วยเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าเป็นอย่างมาก และเป็นประเทศที่มีการต่อเรือใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เกาหลีใต้จึงสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือเป็นอย่างยิ่ง นายชินกล่าวเสริมว่า “การรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและหลักนิติธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเกาหลีใต้ ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทหาร แต่ยังเกี่ยวเนื่องไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ”

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button