ติดอันดับ

สหภาพยุโรปกำหนดแผนอินโดแปซิฟิก โดยระบุว่าไม่ใช่เพื่อ “ต่อต้านจีน”

รอยเตอร์

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 สหภาพยุโรปมีมติให้ยกระดับอิทธิพลในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยใช้ประโยชน์จากประเด็นด้านความมั่นคงไปจนถึงด้านสุขภาพ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนและต่อต้านอำนาจของสาธารณรัฐประชาชนจีน

กลุ่มสมาชิก 27 ประเทศที่นำโดยฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแรกที่กำหนดแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ต้องการใช้แผนริเริ่มนี้เพื่อแสดงให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่าตนต่อต้านการขยายลัทธิอำนาจนิยม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรประบุในแถลงการณ์ว่า กลุ่มสมาชิกดังกล่าว “เห็นควรให้สหภาพยุโรปส่งเสริมจุดมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ สถานะ และการดำเนินการในอินโดแปซิฟิก ตามพื้นฐานของหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ” นักการทูตกล่าวว่า แผนดังกล่าวไม่ใช่เพื่อ “ต่อต้านจีน”

คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตกลงกันผ่านการประชุมทางวิดีโอ โดยกล่าวว่าจะพยายามทำงานร่วมกับ “พันธมิตรที่มีจุดประสงค์เดียวกัน” เพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งจะมีการจัดทำเอกสารข้อมูลเชิงกลยุทธ์ความยาว 10 หน้าที่มีรายละเอียดมากขึ้นตามมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564

แม้จะยังไม่ได้มีการตกลงรายละเอียด แต่แผนดังกล่าวอาจหมายถึงโปรไฟล์ทางการทูตของสหภาพยุโรปที่สูงขึ้นเกี่ยวกับปัญหาอินโดแปซิฟิก บุคลากรและการลงทุนของสหภาพยุโรปในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสถานะด้านความมั่นคงที่ดีขึ้น เช่น การส่งเรือผ่านทะเลจีนใต้หรือการเพิ่มชาวยุโรปเข้าในหน่วยลาดตระเวนของออสเตรเลีย (ภาพ: เรือเอฟเอส ซูร์กุฟ ของกองทัพเรือฝรั่งเศสดำเนินการซ้อมแปรขบวนในช่วงลาเปอรูส พ.ศ. 2564 ในมหาสมุทรอินเดีย การฝึกซ้อมประจำปีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 มีเรือจากกองทัพเรืออินเดีย กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น กองทัพเรือออสเตรเลีย และกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย)

แม้ไม่ได้กล่าวถึงจีนอย่างชัดเจน แต่วิธีการสื่อสารในแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปเป็นรหัสที่สนับสนุนแนวทางของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีน ท่ามกลางความกังวลว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังแสวงหาเทคโนโลยีและความทันสมัยทางการทหารที่คุกคามประเทศตะวันตกและพันธมิตรทางการค้าในอินโดแปซิฟิก

นักการทูตยุโรปกล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต้องการให้สหภาพยุโรปมีความกระตือรือร้นต่อภูมิภาคนี้ เพื่อรักษาการเปิดกว้างทางการค้า ในบรรดาเหตุผลข้ออื่น ๆ

แถลงการณ์ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นไปตามแผนที่คล้ายคลึงกันของสหราชอาณาจักร อดีตสมาชิกสหภาพยุโรป เกิดจากทัศนคติของยุโรปที่เข้มงวดขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเรื่องการปราบปรามเพื่อความมั่นคงในฮ่องกง การปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในภูมิภาคซินเจียง และการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในประเทศจีน

แถลงการณ์ของสหภาพยุโรประบุว่า “สหภาพยุโรปจะพัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่มีจุดประสงค์เดียวกัน รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องในด้านความมั่นคงและด้านกลาโหม” “ซึ่งจะรวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ตลอดจนความมั่นคงทางทะเล”

กลุ่มสมาชิกมองว่าอินโดแปซิฟิกมีศักยภาพสำหรับการค้าใหม่ สหภาพยุโรประบุความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาข้อตกลงด้านการค้าเสรีกับออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์ นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีได้เตือนว่า สหภาพยุโรปพลาดโอกาสนี้หลังจากที่จีนและประเทศอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิกลงนามในสิ่งที่อาจเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้น พ.ศ. 2565

เอกสารของสหภาพยุโรประบุด้วยว่า กลุ่มสมาชิกต้องการลงนามในสนธิสัญญาการลงทุนกับจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบเมื่อปลาย พ.ศ. 2563

 

ภาพจาก: พันจ่าตรีเดวิด ซีเกลอร์/กองทัพเรือสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button