สตรี ที่สูญหาย ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ช่องว่างทางเพศในจีนเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิด
เจ้าหน้าที่ ฟอรัม | ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ
ช่องว่างทางเพศขนาดใหญ่ในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก เนื่องจากบรรดาผู้ชายที่สิ้นหวังใช้มาตรการรุนแรงเพื่อหาเจ้าสาวมาสืบสกุลของตน บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้ชายจำนวนมากในสาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่มีวันได้แต่งงาน และอีกส่วนหนึ่งอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหาภรรยา
ความเหลื่อมล้ำทางเพศนี้มีบทบาทที่ก่อให้เกิดความผิดปกติทางสังคมและทางอาญาจำนวนมาก ตั้งแต่การค้าสตรีและเด็กผู้หญิงไปจนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้และอาชญากรรมทางเพศ จีนมีประชากรชายมากกว่าประชากรหญิงถึง 34 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 1.4 พันล้านคน ผู้เชี่ยวชาญต่างระบุว่า ผล กระทบจากการควบคุมประชากรที่รัฐให้การสนับสนุน เช่น นโยบายลูกคนเดียวที่มีชื่อเสียงของจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2558 และความนิยมทางวัฒนธรรมที่ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายสืบสกุล มีส่วนทำให้เกิดการค้าสตรีและเด็กผู้หญิงทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ เน้นย้ำถึงปัญหาดังกล่าวในรายงานเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 โดยมุ่งเน้นที่การค้าหญิงสาวจากพม่าให้กับจีน ในรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานทางตอนเหนือของพม่าที่มีพรมแดนติดกับจีน ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานทำให้ประชากรกว่า 100,000 คนต้องพลัดถิ่น ผู้ค้ามนุษย์ใช้ประโยชน์จากบรรยากาศที่สับสนวุ่นวายนี้เพื่อล่อลวงสตรีและเด็กผู้หญิงที่ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเสนองานให้ทำและส่งไปยังประเทศจีน
“จากนั้น ผู้ค้ามนุษย์จะขายสตรีและเด็กผู้หญิงให้กับครอบครัวชาวจีนที่ต้องการหาเจ้าสาวให้แก่ลูกชายของตนในราคาประมาณ 3,000 ถึง 13,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 93,000 ถึง 403,000 บาท)” ฮิวแมนไรท์วอทช์รายงาน “เมื่อซื้อมาแล้ว สตรีและเด็กผู้หญิงมักจะถูกขังในห้องแล้วถูกข่มขืนซ้ำ ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ตั้งครรภ์โดยเร็ว เพื่อที่ครอบครัวจะได้ทารกไว้สืบสกุลต่อไป” รายงานดังกล่าวระบุว่าหลังจากคลอดบุตรแล้ว เหยื่อบางรายได้หลบหนีแต่ถูกบังคับให้ทิ้งลูกไว้
ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เปิดเผยรูปแบบการค้ามนุษย์ที่คล้ายคลึงกันจากกัมพูชา เกาหลีเหนือ และเวียดนามไปยังจีน องค์การสหประชาชาติรายงานว่าภายใน พ.ศ. 2569 จำนวนประชากรของจีนในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปีจะเป็นประชากรชาย 3 คนต่อประชากรหญิง 1 คนในช่วงอายุดังกล่าว
พื้นที่ที่เสียหายจากสงครามตกเป็นเป้า
ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ที่สิ้นหวังของพม่าในรายงานที่มีชื่อว่า “มอบลูกให้แก่เราและเราจะปล่อยคุณไป” การต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลพม่าและองค์การเอกราชคะฉิ่น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2491 เมื่อสัญญาการพักรบเป็นเวลา 17 ปีสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2554 ก็ส่งผลให้การสู้รบทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ชาวคะฉิ่นกว่า 100,000 คนและชน กลุ่มน้อยอื่น ๆ ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น

ความวุ่นวายดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าที่จะขัดขวางไม่ให้พื้นที่ที่ควบคุมโดยองค์การเอกราชคะฉิ่นได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประเทศ แม้ว่าการคำนวณจำนวนสตรีและเด็กผู้หญิงที่ถูกค้ามนุษย์ไปยังประเทศจีนจะเป็นไปได้ยาก แต่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนพม่ากล่าวว่าข้อมูลการย้ายถิ่นฐานแสดงให้เห็นว่าสตรีกว่า 226 คนถูกค้ามนุษย์ไปยังประเทศจีนใน พ.ศ. 2560 กรมประชาสงเคราะห์ของพม่ากล่าวว่าหน่วยงานของตนให้ความช่วยเหลือสตรีที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งเดินทางกลับจากจีนในแต่ละปีกว่า 100 ถึง 200 คน
ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของจำนวนสตรีทั้งหมด เนื่องจากมีหลายคดีที่ไม่เคยมีการรายงาน สตรีและเด็กผู้หญิงที่ถูกค้ามนุษย์อาจไม่เคยถูกพบ และอีกหลาย ๆ คนที่หลบหนีก็เก็บประสบการณ์ของตนไว้เป็นความลับ ฮิวแมนไรท์วอทช์รายงาน
พื้นที่เสี่ยงภัยระดับภูมิภาค
พม่าไม่ใช่ประเทศเดียวที่สตรีตกอยู่ในความเสี่ยง กัมพูชา เกาหลีเหนือ ปากีสถาน และเวียดนาม ก็รายงานว่ามีสตรีและเด็กผู้หญิงสูญหายไปในประเทศจีนเช่นกัน ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส เปิดเผยในรายงานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ว่า ปากีสถานระบุว่ามีเด็กผู้หญิงจำนวน 629 คนถูกขายไปเป็นภรรยาแก่กลุ่มชายชาวจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2561
กระทรวงกิจการภายในของกัมพูชารายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ว่า สตรีชาวกัมพูชา 111 คนได้เดินทางกลับมาจากจีนใน พ.ศ. 2562 หลังจากถูกขายไปเป็นเจ้าสาว ซึ่งสตรีเหล่านั้นมักจะถูกล่อลวงไปที่นั่นด้วยการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ มีการสัญญาว่าจะได้ทำงานที่มีเงินเดือนสูง แต่ส่วนใหญ่จะถูกบังคับให้แต่งงาน ตามรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์
พื้นที่เสี่ยงอีกแห่งหนึ่งคือพรมแดนที่เป็นแนวเทือกเขาทอดยาวระหว่างเวียดนามกับจีน รายงานของแชนแนลนิวส์เอเชีย หรือซีเอ็นเอ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ระบุว่า ภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้ผู้ค้ามนุษย์สามารถลักพาตัวเด็กผู้หญิงชาวเวียดนามจากหมู่บ้านและพาข้ามพรมแดนได้ง่าย “ขบวนการค้ามนุษย์มีเงินสะพัดมาก ผู้ขายสามารถทำเงินได้หลายหมื่นดอลลาร์จากการค้าเด็กผู้หญิง” นายไมเคิล โบรโซสกี้ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเด็กบลูดราก้อนแห่งกรุงฮานอย กล่าวกับซีเอ็นเอ
กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนามระบุว่า การลักลอบค้ามนุษย์ระหว่าง พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2560 มีเหยื่อชาวเวียดนามกว่า 3,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็กผู้หญิง เชื่อกันว่าคดีที่ไม่ได้รับรายงานมีจำนวนสูงกว่าตัวเลขนี้เป็นอย่างมาก ตามรายงานของซีเอ็นเอ
วัยรุ่นคนหนึ่งจากแคว้นบัคฮา ประเทศเวียดนาม กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอว่า เธอถูกล่อลวงและขายให้ขบวนการค้ามนุษย์ในจีน เธอกล่าวว่าตนเองไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น “จนกระทั่งฉันมาถึงอำเภอหนึ่งและเห็นตัวอักษรจีน ตอนนั้นเองที่ฉันตระหนักว่าตนเองถูกค้ามนุษย์ ฉันรู้สึกหวาดกลัวมาก”
อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่น่าหดหู่ใจเช่นนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความอัปยศที่มีต้นตอจากการไม่มีภรรยาในจีน ไม่จำเป็นต้องดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษ ทัศนคติของชาวจีนต่อขนาดครอบครัวเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะคาดการณ์ว่าทัศนคติต่อการแต่งงานอาจเปลี่ยนไปเช่นกัน ดร. เจนนิเฟอร์ สคูบบา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศของสแตนลี เจ. บัคแมน แห่งวิทยาลัยโรดส์ ในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี กล่าวกับ ฟอรัม
“ฉันคิดว่านักวิจัยบางคนคิดถูกแล้วที่ชี้ให้เห็นว่าเรามีมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่คงที่เกินไป ในการสันนิษฐานว่าความกดดันทางสังคมสำหรับผู้ชายในการหาภรรยาในช่วงเวลาที่ประเทศขาดแคลนสตรีจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงในครอบครัว แต่บรรทัดฐานทางสังคมมีการเปลี่ยนแปลง” ดร. สคูบบากล่าว “มีความเป็นไปได้ว่าความหมายของการแต่งงานในจีนจะเปลี่ยนแปลงไม่น้อยไปกว่าการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานด้านขนาดครอบครัว และเราเห็นว่าความนิยมชมชอบเหล่านั้นลดลงอย่างมากในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ”
เด็กผู้หญิงที่สูญหาย
การเลือกเพศสามารถวัดได้โดยใช้อัตราส่วนเพศเมื่อแรกเกิดในช่วงเวลาที่กำหนด รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า อัตราส่วนเพศปกติทางชีวภาพตั้งแต่แรกเกิดอาจมีช่วงอยู่ระหว่างเพศชาย 102 ถึง 106 คนต่อเพศหญิง 100 คน แต่ในบางภูมิภาคของโลกมีอัตราส่วนเพศชายสูงถึง 130 คนต่อเพศหญิง 100 คน
ความนิยมทางวัฒนธรรมที่ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายสืบสกุลทำให้สัดส่วนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในระยะยาว โดยเฉพาะในจีน ในหลาย ๆ ประเทศ ความไม่สมดุลเหล่านี้ทำให้เกิด “การบีบบังคับแต่งงาน” ซึ่งส่งผลต่อการค้ามนุษย์และการแต่งงานในวัยเด็ก รายงานดังกล่าวระบุ
การบีบบังคับแต่งงานดังกล่าวเป็นลักษณะของโครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่กว่าที่ลดคุณค่าของสตรี ดร. สคูบบากล่าว โดยเสริมว่า “ในกรณีนี้ สตรีได้รับการประเมินค่าต่ำกว่าเกณฑ์อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับผู้ชาย เช่น ครอบครัวยอมยุติการตั้งครรภ์ทารกเพศหญิง เพราะอยากได้บุตรชายมากกว่า”
โรคระบาดทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง
การค้ามนุษย์ไม่ใช่เพียงผลกระทบเดียวที่เกิดขึ้นจากช่องว่างทางเพศในจีนและภูมิภาคดังกล่าว สถานการณ์เลวร้ายและไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีในกลุ่มแรงงานตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่ลง จากความไม่สมดุลโดยทั่วไปร่วมกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
บลูมเบิร์กรายงานว่า จากความเสียเปรียบเหล่านี้ที่มีอยู่แล้ว การระบาดของโควิด-19 และคำสั่งให้ประชาชนพักอยู่กับบ้านในหลาย ๆ
ประเทศยิ่งทำให้สตรีได้รับความเสียหายอย่างไม่สมดุล แรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่ถูกบีบให้ต้องออกจากเขตเมืองและกลับไปอยู่ที่บ้านในชนบทล้วนแล้วแต่เป็นสตรี ซึ่งส่วนใหญ่มีบทบาทในงานบริการที่มีความเสี่ยง นายแซนเจย์ มาเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์ร่วมกับกลุ่มธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กล่าวว่า “การปิดเมืองและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสตรี” ตามรายงานของบลูมเบิร์ก “ความกังวลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผล กระทบทางเศรษฐกิจที่จะรับรู้ได้จากตัวชี้วัดการจ้างงานและความเป็นอยู่ที่ดีในช่วงหลายปีข้างหน้า”
การรับผิดชอบและการป้องกัน
เมื่อกล่าวถึงหนึ่งในอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดต่อสตรี นั่นคือการค้ามนุษย์ เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ เพื่อให้เกิดการประเมินระดับโลกและเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ รับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวถึงรายงานการค้ามนุษย์ประจำ พ.ศ. 2563 นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้นตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ค้ามนุษย์ทำให้ผู้คนเกือบ 25 ล้านคนไม่ได้รับ “สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพ โดยบังคับให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตเยี่ยงทาส และทำงานหนักเพื่อผลกำไรของผู้ที่เอารัดเอาเปรียบ”
นายปอมเปโอเสริมว่า รายงานการค้ามนุษย์ดังกล่าวให้ข้อมูลแก่รัฐบาลในการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ ช่วยเหลือเหยื่อที่บอบช้ำทางจิตใจ และป้องกันอาชญากรรม สำหรับจีนนั้น รายงานดังกล่าวระบุว่ายังคงต้องมีการดำเนินการอีกหลายอย่าง

พระราชบัญญัติคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดสำนักงานการค้ามนุษย์และได้รับคำสั่งให้จัดทำรายงานประจำปี แบ่งกลุ่มประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 3 ระดับตามความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ในรายงานประจำ พ.ศ. 2563 จัดให้พม่า เกาหลีเหนือ ปาปัวนิวกินี และจีนอยู่ในระดับ 3 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุด การจัดอันดับดังกล่าวทำให้ประเทศทั้งสี่อยู่ในกลุ่มประเทศแดนสงคราม เช่น อัฟกานิสถานและซีเรีย
ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนั้นไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือต่างชาติจากสหรัฐอเมริกาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เนื่องจากประเทศดังกล่าวไม่สามารถบรรลุมาตรฐานขั้นต่ำในการกวาดล้างการค้ามนุษย์
แม้ว่าทางการจีนจะดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ แต่จีนก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในรายงานดังกล่าวว่าไม่ได้พยายามยุติรูปแบบการบังคับใช้แรงงานที่แพร่กระจายไปทั่วและการกักขังหมู่ชาวอุยกูร์ ชาวคาซัค และชาวมุสลิมอื่น ๆ กว่า 1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตซินเจียง
อินเดียยังคงเป็นประเทศในระดับ 2 ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลอินเดียยังไม่สามารถบรรลุมาตรฐานขั้นต่ำในการกวาดล้างการค้ามนุษย์ แต่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับปรุง รายงานดังกล่าวยกย่องการดำเนินคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในอินเดียต่อผู้ค้ามนุษย์ที่ศูนย์พักพิงของรัฐบาลแห่งหนึ่งในรัฐพิหาร คดีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ต้องโทษทั้งสิ้น 19 คน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติผู้ทรงอิทธิพลเป็นหนึ่งใน 12 คนที่ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวความสำเร็จในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐฯ ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับ 1 ซึ่งหมายความว่าประเทศเหล่านี้ทำได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของพระราชบัญญัติดังกล่าวในการ กวาดล้างการค้ามนุษย์
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลกในการยุติความรุนแรงดังกล่าว “เมื่อผู้ที่มีความเสี่ยงกลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เราจึงยังคงมุ่งมั่นที่จะแสวงหาเสรีภาพให้แก่เหยื่อจากการค้ามนุษย์และความรับผิดชอบจากผู้ค้ามนุษย์ทุกคน” นายจอห์น คอตตอน ริชมอนด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ระบุในรายงานการค้ามนุษย์ประจำ พ.ศ. 2563