เรื่องเด่น

การสร้าง เสถียรภาพ

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเสริมสร้าง ความมั่นคงด้านอาหาร ผ่านความร่วมมือและเทคโนโลยี

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในช่วง 55 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพ สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเกาะ ได้เติบโตขึ้นจากประเทศหน้าด่านอาณานิคมสู่ประเทศผู้มีอำนาจทางการค้าและการเงินระดับโลกที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งเห็นได้จากเส้นขอบฟ้าที่ตัดกับยอดของตึกระฟ้าต่าง ๆ ในประเทศ

สิงคโปร์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวติดหนึ่งใน 10 อันดับแรกของโลก อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งออกสินค้าตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ อีกด้วย ประชากรในประเทศที่ได้รับการศึกษาและมีประสิทธิภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจาก พ.ศ. 2508 เป็น 5.7 ล้านคน และทุกคนมีความสุขกับมาตรฐานการดำรงชีวิตในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาคือ ลักษณะของที่ดินภายในประเทศ โดยพื้นที่กว่า 720 ตารางกิโลเมตรของภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวซึ่งไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก

ใน พ.ศ. 2562 นางกี อ้าย นา ผู้อำนวยการบริหารเอนเทอร์ไพรซ์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาของรัฐบาลสิงคโปร์ กล่าวว่า “สิงคโปร์ไม่เชิงเป็นประเทศเกษตรกรรมเสียทีเดียว เพราะเรามีพื้นที่เพาะปลูกอย่างจำกัด” “ในปัจจุบัน พืชผักที่เราบริโภคที่มาจากฟาร์มในท้องถิ่นมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ซึ่งทำให้เราต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นอย่างมาก”

แม้แต่ประเทศที่มีไหวพริบและสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจแห่งนี้ การสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถหล่อเลี้ยงประชากรของตนยังคงเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง ซึ่งไม่เพียงมีนัยยะถึงความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึง นี่คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต้องเผชิญ ความจริงยิ่งเลวร้ายลงจากการแพร่ระบาดใหญ่ซึ่งทำให้พืชผลถูกทิ้งให้เหี่ยวเฉา ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักในระหว่างการปิดเมือง อีกทั้งทำให้ผู้คนต้องตกงาน ยากจนลง และเกิดความเป็นไปได้ที่จะอดอยาก

ฟาร์มแนวตั้งแห่งนี้อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และผลิตผักกาดหอม 30,000 หัวต่อวันโดยใช้แสงเทียมและการแทรกแซงของมนุษย์อย่างจำกัด เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

นี่คือความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต้องเผชิญ ความจริงยิ่งเลวร้ายลงจากการแพร่ระบาดใหญ่ซึ่งทำให้พืชผลถูกทิ้งให้เหี่ยวเฉา ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักในระหว่างการปิดเมือง อีกทั้งทำให้ผู้คนต้องตกงาน ยากจนลง และเกิดความเป็นไปได้ที่จะอดอยาก

เช่น ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เวียดนามหยุดการส่งออกข้าวชั่วคราวเนื่องจากความกลัวเกี่ยวกับโควิด-19 หนังสือพิมพ์เวียดนามวีเอ็นเอ็กซ์เพรสอินเตอร์เนชั่นแนลรายงานว่า เวียดนามซึ่งส่งออกข้าวทั่วโลกตามหลังอินเดียและไทยเท่านั้น ได้ส่งออกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักปริมาณ 6.37 ล้านตันไปยังตลาดต่าง ๆ อาทิ จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งนับเป็นมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท) ใน พ.ศ. 2562

เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร ประเทศต่าง ๆ เช่น สิงคโปร์ จึงหันไปค้นหาคำตอบจากความร่วมมือระดับภูมิภาคและคำมั่นสัญญาด้านเทคโนโลยีที่กำลังเบ่งบาน

“หนึ่งในความท้าทายด้านการพัฒนาระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศร่ำรวยและยากจนเผชิญร่วมกัน คือ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้น้ำน้อยลงและมีพื้นที่ลดลง รวมทั้งการจัดการผลกระทบที่ไม่สามารถคาดเดาได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นางคิมเบอร์ลี ฟลาวเวอร์ส ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงด้านอาหารระดับโลก ณ สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ระบุไว้ในบทความของสถาบันวิจัยแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในวอชิงตัน ดี.ซี.

เมล็ดพันธุ์ของความไม่สงบ

ใน พ.ศ. 2562 ประชากรเกือบ 690 ล้านคนจากทั่วโลกหรือประมาณร้อยละ 9 ของประชากรโลกประสบกับความหิวโหย ซึ่งมากกว่าครึ่งเกิดขึ้นในเอเชีย ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 การระบาดของไวรัสโคโรนาอาจดันให้ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 820 ล้านคนภายใน พ.ศ. 2564 ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาต่อเป้าหมายของสหประชาชาติที่จะ “ยุติความหิวโหย ความไม่มั่นคงทางอาหาร และภาวะขาดสารอาหารทุกรูปแบบ” ภายใน พ.ศ. 2573

“รายงานดังกล่าวเตือนว่าหากแนวโน้มในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังดำเนินต่อไป เราจะยิ่งออกห่างจากโครงการขจัดความหิวโหยแทนที่จะมุ่งสู่โครงการดังกล่าว สิ่งนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง” นายโยฮัน สวินเนน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ ระบุในบทความบนเว็บไซต์ของหน่วยงานดังกล่าว “สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นคือสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่ประชากรที่ยากจนที่สุดในโลกประสบอยู่แย่ลง”

ความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งถูกมองเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับความไม่สงบและความขัดแย้งทางอารยธรรมมาอย่างยาวนาน อาจเป็นหนึ่งในปัญหาที่จัดการยากที่สุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นแล้วจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการอพยพของมนุษย์จำนวนมากแม้กระทั่งก่อนที่ไวรัสร้ายแรงจะระบาด

สำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ไว้ในการประเมินชุมชนข่าวกรองด้าน “ความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก” ประจำ พ.ศ. 2558 ว่า ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การผลิตและการขนส่งที่หยุดชะงัก รวมทั้งอำนาจการซื้อที่อ่อนแอ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 2020 (พ.ศ. 2563 – 2572)

ในปาปัวนิวกินี หน่วยงานรัฐบาลและสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติกำลังวิเคราะห์การผลิต การกำหนดราคา และการบริโภคสตรอเบอร์รี่และพืชอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนตอบสนองต่อการจัดหาเสบียงอาหารที่มีความผันผวน เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

“ในบางประเทศ ความมั่นคงทางอาหารที่ลดลงอาจจะส่งผลต่อการหยุดชะงักทางสังคมและความไม่มั่นคงทางการเมืองอย่างแน่นอน” สำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุ

สภาวะขาดแคลนอาหารอาจกระตุ้นให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก ไม่ว่าจะภายในหรือข้ามพรมแดนของประเทศ เนื่องจากผู้หิวโหยต้องการแสวงหาปัจจัยยังชีพ ความหิวโหยอาจเป็นต้นตอของลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่งและความรุนแรงท่ามกลางความไม่ลงรอยกันและความขัดแย้งในหมู่ประชากร ความไม่สงบในวงจรที่เลวร้ายดังกล่าวบ่อนทำลายความมั่นคงทางอาหารเพิ่มเติม โดยการขัดขวางการค้าและทำให้หน่วยงานพลเรือนมีภาระล้นมือ

ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในสแตบิลิที: วารสารนานาชาติด้านความมั่นคงและการพัฒนา บรรดานักวิจัยพบว่า ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังทหารทั่วโลกมีจำนวนและความรุนแรงเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2554 “ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังสภาวะราคาอาหารนานาชาติพุ่งสูงในช่วงปลาย พ.ศ. 2553 และช่วงต้น พ.ศ. 2554 แทบจะทันที”

นางฟลาวเวอร์สระบุไว้ในบทความของตนเมื่อ พ.ศ. 2559 ว่า “ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นและมีความผันผวนทั่วโลก ส่งผลให้เกิดเหตุจลาจลกลางเมือง การโค่นล้มรัฐบาล และความไม่สงบในระดับภูมิภาค”

สภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงทางประชากรแบบมีพลวัตและความไม่เสมอภาคทางเพศกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

“ทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลน เช่น น้ำและที่ดินเพาะปลูก ในประเทศเดียวกันหลายแห่งซึ่งจะมีสัดส่วนชายหนุ่มในระดับที่ไม่สมดุลกัน เพิ่มความเสี่ยงที่ความขัดแย้งภายในรัฐจะปะทุขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาทางตอนใต้ของสะฮาราและประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย” สภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ รายงานใน “แนวโน้มโลก พ.ศ. 2573: โลกทางเลือก”

ความร่วมมือที่ออกดอกผล

การต่อสู้กับความหิวโหยในอินโดแปซิฟิกกระตุ้นให้มีโครงการความร่วมมือและการใช้จ่ายอย่างมากในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานในชนบท การชลประทาน รวมทั้งการวิจัยและการพัฒนาด้านการเกษตร ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 รายงานซึ่งร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชียฉบับนี้ระบุว่า ในช่วงทศวรรษถัดไป หากภูมิภาคแห่งนี้จะบรรลุเกณฑ์ความหิวโหยต่อหัวขององค์การสหประชาชาติที่ร้อยละ 5 จะต้องมีการลงทุนในด้านการเกษตรสองเท่าต่อปี โดยคิดเป็นมูลค่าเกือบ 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท)

ซึ่งหากล้มเหลวก็จะทำให้สูญเสียอย่างมหาศาลเช่นกันในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีลักษณะเป็นหมู่เกาะและมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก มีประชากร 267 ล้านคนซึ่งหนึ่งในสามประกอบอาชีพในภาคการเกษตร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการเพิ่มการผลิตผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น พันธุ์ข้าวและปุ๋ยที่ให้ผลผลิตสูง แต่การเติบโตของจำนวนประชากรในระดับที่สูงมากก็ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ

เป้าหมาย “30×30” ของสิงคโปร์ จะช่วยให้ประเทศที่มีประชากร 5.7 ล้านคนแห่งนี้ตอบสนองความต้องการทางโภชนาการได้ร้อยละ 30 ด้วยอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นภายใน พ.ศ. 2573 รอยเตอร์

“ความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญของการพัฒนาประเทศ” นักวิจัยระบุในการวิเคราะห์เพิ่มเติมตามรายงานประจำ พ.ศ. 2562 ของสถาบัน ซึ่งแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและเกษตรกรผู้ประกอบการไปจนถึงการนำ “การเกษตรที่แม่นยำ” มาใช้มากขึ้นผ่านการใช้ดาวเทียม เซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีดิจิทัล

ความพยายามของภูมิภาคในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารก้าวหน้าไปได้ดีในช่วงต้นสหัสวรรษที่ผ่านมา เมื่อประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วมกับญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และเกาหลีใต้ เพื่อจัดตั้งระบบข้อมูลความมั่นคงทางอาหารของอาเซียน

โครงการริเริ่มนี้มุ่งปรับปรุงการรวบรวม การวิเคราะห์ และการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูลที่ให้คำเตือนล่วงหน้าและการคาดการณ์เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดการภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางอาหารและทุนสำรองฉุกเฉินได้ดียิ่งขึ้น

ฐานข้อมูลระบบข้อมูลความมั่นคงทางอาหารของอาเซียนจะตรวจสอบการผลิต ราคาขายส่ง การมีส่วนร่วมของแรงงาน ผลผลิต ปฏิทินการปลูก และการใช้ที่ดินรวมทั้งตัวแปรอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่พืชผลหลัก 5 ชนิดของภูมิภาค ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว ถั่วเหลือง และอ้อย

การต่อสู้เพื่อขจัดความหิวโหยในอินโดแปซิฟิกได้รับการส่งเสริมด้วยทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประชากรกว่า 4 พันล้านคนในกว่า 150 ประเทศผ่านองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของสงครามเย็นเป็นต้นมา

องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและอาหารในภาวะฉุกเฉินเป็นมูลค่ามากกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.37 แสนล้านบาท) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งรวมถึงการบริจาคอาหาร บัตรกำนัล เงินสด และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อได้ในท้องถิ่น ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์กรแห่งนี้ เครือข่ายระบบแจ้งเตือนความอดอยากล่วงหน้าขององค์กรแห่งนี้สามารถคาดการณ์ความต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารล่วงหน้าได้ถึง 8 เดือนก่อนเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งช่วยเร่งให้การตอบสนองการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีความรวดเร็ว

ความพยายามดังกล่าวของสหรัฐฯ อาเซียน และพันธมิตรที่มีความคิดแบบเดียวกันกำลังช่วยรักษาชีวิตและหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ

“หากความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นตัวเพิ่มภัยคุกคามให้เกิดความขัดแย้ง การปรับปรุงความมั่นคงทางอาหารก็สามารถลดความตึงเครียด และส่งผลให้สภาพแวดล้อมมีความมั่นคงมากขึ้นได้” นายคัลเลน เฮนดริกซ์ นักวิจัยจากสถาบันนานาชาติศึกษาคอร์เบลของมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ และนายเฮนค์-ยัน บริงค์แมน จากสำนักงานสนับสนุนการสร้างสันติภาพแห่งสหประชาชาติ เขียนในงานวิจัยประจำ พ.ศ. 2556 ที่ตีพิมพ์ในวารสารสแตบิลิที

การปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำฟาร์ม

ในเรือกสวนไร่นาทั่วอินโดแปซิฟิก ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เกษตรกรและชาวสวนสามารถมองภาพอาชีพของตนใหม่ ตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูกไปจนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว พร้อมกับสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในท้องถิ่นและภูมิภาค

สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติระบุไว้ในรายงาน พ.ศ. 2562 ว่าการลงทุนดังกล่าวในการวิจัยและการพัฒนาจะช่วยเพิ่มผลผลิตและการผลิตทางการเกษตร ซึ่งผลที่ได้จะช่วยให้ราคาอาหารลดลง เพิ่มรายได้ในครัวเรือน เพิ่มปริมาณอาหาร “และผลสุดท้ายคือจำนวนเด็กที่ขาดสารอาหารและผู้คนที่หิวโหยจะลดลง”

มองไปบนท้องฟ้า

สำหรับชาวสิงคโปร์จำนวนมาก คุณภาพการดำรงชีวิตในระดับสูงที่ตนได้รับบนเกาะที่มีประชากรหนาแน่นแห่งนี้ยังมีความหมายตรงตามตัวอักษรด้วย ประเทศแห่งนี้ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 191 จากการจัดอันดับที่ดินทั่วโลก ได้สร้างตึกสูงหลายพันตึกเพื่อเพิ่มพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่น้อยที่สุดให้ได้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน อาคารชุดที่มีเจ้าของเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรประมาณร้อยละ 80

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์เริ่มหันมาใช้แนวทางทำการเกษตรแบบเดียวกับการสร้างที่อยู่อาศัย นั่นคือ การปลูกพืชแนวตั้ง

สกายกรีนส์ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นฟาร์มแนวตั้งที่ใช้ระบบไฮดรอลิกคาร์บอนต่ำแห่งแรกของโลก เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2555 โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ทำให้มั่นใจว่ามีความพร้อมด้านเสบียงอาหารในพื้นที่ที่ขาดแคลนที่ดิน” เช่น สิงคโปร์ โครงการระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่ได้รับรางวัลนี้ ปลูกกระหล่ำปลี ผักกาด ผักโขม และผักชนิดอื่น ๆ บนโครงอลูมิเนียมรูปตัวเอที่สูงถึง 9 เมตร โครงแต่ละอันจะมีชั้นวางแบบหมุนได้ 12 อันซึ่งช่วยให้พืชได้รับแสง น้ำ และสารอาหารที่เพียงพอภายในร่มตลอดปี

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสกายกรีนส์ระบุว่า น้ำที่ไหลร่วมกับแรงโน้มถ่วงจะทำให้เกิดการหมุน ซึ่งช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าของรางแต่ละรางลงจนเหลือปริมาณเท่ากับหลอดไฟหนึ่งดวง น้ำที่เป็นพลังงานให้ระบบไฮดรอลิกจะนำไปใช้ซ้ำเพื่อการชลประทาน

ฟาร์มแนวตั้งในร่มมากกว่า 30 แห่งผุดขึ้นรอบเกาะสิงคโปร์ โดยเพิ่มขึ้นห้าเท่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี ตามรายงานของเอ็นเตอร์ไพรส์สิงคโปร์ ด้วยความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ เซ็นเซอร์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ รวมถึงการลงทุนของสตาร์ทอัปและกลุ่มบริษัทข้ามชาติด้านเทคโนโลยีการเกษตร คาดว่าอุตสาหกรรมการเกษตรในร่มของประเทศแห่งนี้จะพุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 20 ต่อปีจนถึง พ.ศ. 2566

สิงคโปร์มุ่งมั่นที่จะกลายเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่แห่งต่อไปของการทำฟาร์มในเมือง ดังที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในด้านการค้าและการเงิน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ได้ประกาศมอบเงินช่วยเหลือเกือบ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 พันล้านบาท) ให้แก่ฟาร์มในเมืองที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง 9 แห่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย “30×30” ของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการของประเทศร้อยละ 30 ด้วยอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นภายใน พ.ศ. 2573

“มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเร่งการผลิตในท้องถิ่น เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและช่วยให้มีอาหารให้เลือกหลากหลายในระหว่างที่การจัดหาเสบียงหยุดชะงักท่ามกลางการระบาดของโควิด-19” นายลิ้ม ก็อก ไท ประธานสำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ ระบุในแถลงการณ์ “เราจะทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอาหารเกษตรต่อไป รวมทั้งสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เติบโตมากขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อยกระดับความมั่นคงทางอาหารของเรา”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button