ติดอันดับ

การฝึกซ้อมของกองกำลังร่วมช่วยกองทัพสหรัฐฯ ให้คงความได้เปรียบในการสู้รบกับสงครามยุคใหม่และเพิ่มเสถียรภาพของอาร์กติก

เจ้าหน้าที่ของกองทัพสหรัฐฯ หลายพันนายวางกำลังบริเวณภูมิภาคอาร์กติกและแปซิฟิกเหนือในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เพื่อประกาศแสนยานุภาพในการควบคุมการป้องกันทางอากาศ ทางบก และทางทะเล ทั้งยังเน้นให้เห็นถึงศักยภาพของระบบการทำสงครามยุคใหม่ รวมถึงการบังคับบัญชาและการควบคุมร่วมทุกอาณาเขตในระหว่างการฝึกนอร์ทเทิร์นเอดจ์ 21

การฝึกระยะเวลา 12 วันนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก และนำโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วยทหารอากาศ นาวิกโยธิน ทหารเรือ และทหารบกประมาณ 15,000 นาย เครื่องบินมากกว่า 200 ลำ รวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือประเภทอื่น ๆ “การฝึกนอร์ทเทิร์นเอดจ์เป็นโอกาสให้กองกำลังร่วมช่วยกันประสานงานส่วนต่าง ๆ ในสถานที่ขนาดใหญ่แห่งเดียวได้” น.ท. ไมเคิล บอยเออร์ หัวหน้าฝ่ายวางแผนของการฝึก กล่าวกับอลาสกา พับลิก มีเดีย “ซึ่งเป็นการฝึกรบกับสงครามขั้นสูงและสมจริง”

การฝึกซ้อมทุกสองปีที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2564 เป็นการทดสอบภาคปฏิบัติของเครื่องบินขับไล่ เอฟ-15 อีเอ็กซ์ อีเกิล 2 ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่สี่ลำใหม่ของกองทัพอากาศ (ภาพ) ที่สามารถบินไปยังอลาสกาที่ห่างออกไปประมาณ 7,000 กิโลเมตรจากกองบัญชาการกองบินที่ 53 ที่ฐานทัพอากาศเอ็กลินในรัฐฟลอริดา ลูกเรือคาดว่าจะประเมินระบบแจ้งเตือนภัยเชิงรุก/เชิงรับแบบอีพีเอดับบลิวเอสเอสของเครื่องบิน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขีดความสามารถในการประเมินภัยคุกคามได้

เครื่องบินประเภทอื่น ๆ ที่เข้าร่วมจากกองบินที่ 53 ได้แก่ เครื่องบินขับไล่เอฟ-15ซี และอี รวมทั้งเอฟ-35 ,เครื่องบินทิ้งระเบิดบี-52, อากาศยานไร้คนขับเอ็มคิว-9 และเครื่องบินสอดแนมยู-2 การฝึกซ้อมส่วนใหญ่ดำเนินการในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จอยท์แปซิฟิกอลาสกาเรนจ์คอมเพล็กซ์ น.ท. ไมค์ เบนิเตซ ผู้อำนวยการกองบินที่ 53 กล่าวกับข่าวประชาสัมพันธ์ว่า “สถานที่ฝึกซ้อมที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งตั้งอยู่ที่นอร์ทเทิร์นเอดจ์ มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ไม่คุ้นเคย ซับซ้อน และสมจริงในเชิงปฏิบัติสำหรับเทคโนโลยีและยุทธวิธีที่เราทดสอบอยู่”

หน่วยสำคัญอื่น ๆ ที่เข้าร่วมฝึกนอร์ทเทิร์นเอดจ์ 21 คือกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม ยูเอสเอส ธีโอดอร์รูสเวลท์ พร้อมฝูงบินขนส่งทางอากาศที่ 11, กองเรือพร้อมรบสะเทินน้ำสะเทินบกมากินไอแลนด์ พร้อมหน่วยสำรวจนาวิกโยธินที่ 15, กองพลผสมทหารราบที่ 4 (กองพลทหารอากาศ) กองพลทหารราบที่ 25 และกองพลทหารปืนใหญ่ที่ 7 ผู้วางแผนได้ออกแบบสถานการณ์เพื่อลับคมความคิด เช่น การฝึกด้านการสู้รบอย่างคล่องแคล่วของกองทัพอากาศ ซึ่งรวมโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันระหว่างสนามบินศูนย์กลางกับสนามบินประจำภูมิภาค เพื่อเพิ่มความเร็วในการเคลื่อนกำลังพลและเสริมความสามารถในการวางกลยุทธ์ รวมถึงโครงการริเริ่มเจเอดีซี 2 ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะรวมเซ็นเซอร์ทั้งหมดภายในกองทัพเข้าไว้ในเครือข่ายเดียว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์แอนด์สไตรป์

“โดยปกติแล้วจะมีการฝึกซ้อมภายในหน่วย ภายในกองกำลัง แต่เราไม่เคยได้ฝึกในระดับหรือความซับซ้อนที่คาดว่าจะได้เห็นจากความขัดแย้งในยุคใหม่” น.ท. บอยเออร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว “สถานการณ์ที่เราสร้างขึ้นนี้จะรองรับขีดความสามารถสมัยใหม่ ซึ่งอาจอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้ามที่เราเผชิญหน้า”

สหรัฐฯ สามารถส่งกองกำลังชุดใหม่ไปยังสถานที่ที่มีการสู้รบได้อย่างรวดเร็ว

จากการต่อสู้ที่มีมาช้านานกับรัสเซียและสหภาพโซเวียตก่อนที่จะล่มสลาย ภูมิภาคอาร์กติกและแปซิฟิกเหนือยังคงเป็นสมรภูมิสำคัญในการป้องกันประเทศสหรัฐฯ ตลอดจนสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่กว้างขวางยิ่งขึ้น “เราเล็งเห็นอย่างชัดเจนถึงผลประโยชน์มากมายของประเทศและคุณค่าของผลประโยชน์เหล่านั้นในอาร์กติก อีกทั้งเราต้องแน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นได้รับการคุ้มครองและปกป้องไว้อย่างเหมาะสม” น.ท. บอยเออร์กล่าว ตามรายงานของแอร์ฟอร์ซไทมส์

เมื่ออุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเปิดช่องทางเดินเรือที่เคยเป็นน้ำแข็งในอาร์กติก ภูมิภาคที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดสนใจมากขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกาศตนว่าเป็น “ประเทศมหาอำนาจใกล้อาร์กติก” ใน พ.ศ. 2561 แม้จะอยู่ห่างจากรัศมีของอาร์กติกไป 1,500 กิโลเมตรก็ตาม “การขยายขอบเขตที่มากขึ้นของรัสเซีย และความทะเยอทะยานของจีนในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของอาร์กติก” น.ต. เม็ก ฮาร์เปอร์ จากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศอเมริกาเหนือและกองบัญชาการภาคเหนือของสหรัฐฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ “การแข่งขันกันมีแต่จะเพิ่มขึ้น”

เหล่าผู้นำกองทัพกล่าวว่า การฝึกซ้อมทุกสองปีช่วยให้มั่นใจว่าสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วนยังคงได้เปรียบกว่าคู่ต่อสู้ที่ใกล้เคียงกัน หรือฝ่ายตรงข้ามอื่น ๆ ซึ่งมีเจตนาที่จะเข้าแทรกแซงสถานะในปัจจุบัน

“จีนยังคงอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ” พล.อ.ท. เดวิด ครัมม์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการอลาสกาและกองทัพอากาศที่ 11 กล่าวกับเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ “เราเห็นว่าจีนใช้ยุทธวิธีข่มขู่ ยุทธวิธีทางเศรษฐกิจ และการบีบบังคับที่น่ารังเกียจ เพื่อพยายามหาเหตุผลในการอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตของตน เราต้องแน่ใจว่ารูปแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกที่นี่ในอาร์กติก”

 

ภาพจาก: ร.ท. ซาวานาห์ เบรย์/กองทัพอากาศสหรัฐฯ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button