ติดอันดับ

ออสเตรเลียเตรียมสร้างขีปนาวุธนำวิถี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหม

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ออสเตรเลียจะเริ่มสร้างขีปนาวุธนำวิถีของตนเองโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมของตน

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความอหังการและมีขีดความสามารถทางทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย (ในภาพ) อ้างถึง “สภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” โดยกล่าวว่า ออสเตรเลียจะร่วมมือกับผู้ผลิตอาวุธเพื่อสร้างขีปนาวุธและสร้างงานหลายพันตำแหน่ง ตลอดจนโอกาสในการส่งออก

นายมอร์ริสันกล่าวว่า ในขั้นต้น รัฐบาลจะใช้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท) ในแผนดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนระยะ 10 ปีในอุตสาหกรรมการป้องกันและกลาโหม

“การสร้างขีดความสามารถทางอธิปไตยของตนเองบนแผ่นดินออสเตรเลียเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความปลอดภัยแก่ชาวออสเตรเลีย” นายมอร์ริสันกล่าวเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ออสเตรเลียผลิตขีปนาวุธขั้นสูงโดยพึ่งพาการนำเข้าจากพันธมิตรรวมถึงสหรัฐอเมริกา แต่ในปัจจุบัน ออสเตรเลียจะสร้างจรวดลวงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางขีปนาวุธที่เข้ามาใกล้

นายไมเคิล โชบริดจ์ ผู้อำนวยการด้านกลาโหม ยุทธศาสตร์ และความมั่นคงแห่งชาติที่สถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย กล่าวว่า การประกาศดังกล่าวได้เติมเต็มช่องว่างทางยุทธศาสตร์

นายโชบริดจ์กล่าวว่า “เรื่องดังกล่าวได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยสองประการ นั่นคือ จีนและโควิด”

นายโชบริดจ์กล่าวว่า การคุกคามที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของจีนถือเป็นความกังวลอย่างมากสำหรับออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

นายโชบริดจ์กล่าวว่า ความต้องการที่เร่งด่วนที่สุดของออสเตรเลียคือขีปนาวุธต่อต้านเรือพิสัยไกล ซึ่งสามารถยิงได้จากบนเรือรบหรือเครื่องบิน อีกทั้งยังกล่าวว่า ยานรบใหม่ของกองทัพบกจำเป็นต้องสามารถยิงขีปนาวุธได้ด้วย

นายโชบริดจ์กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่ออสเตรเลียจะสร้างขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ด้วยความร่วมมือกับสหรัฐฯ ทั้งกล่าวอีกว่า หุ้นส่วนทางการค้าที่มีศักยภาพนั้นรวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาวุธขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างล็อกฮีด มาร์ตินและเรย์ธีออน แต่กระนั้น ก็อาจมีผู้ผลิตรายอื่นที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเฉพาะ เช่น ระบบขับเคลื่อน

ออสเตรเลียและสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรข่าวกรอง ซึ่งยังรวมถึงอังกฤษ แคนาดา และนิวซีแลนด์

นายปีเตอร์ ดัตตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวว่า “เราจะทำงานกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดในโครงการริเริ่มที่สำคัญนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจถึงวิธีที่องค์กรของเราจะสามารถสนับสนุนทั้งความต้องการของออสเตรเลีย และความต้องการที่เพิ่มขึ้นของพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดของเราได้”

นายดัตตันกล่าวอีกว่า การสร้างอาวุธในออสเตรเลียจะไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีอุปทานที่เพียงพอต่อปฏิบัติการรบในกรณีที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก

สถาบันเอเชียโซไซตีโพลิซีซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระ ประเมินไว้ว่า ออสเตรเลียจะต้องใช้เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท) ตลอดช่วง 20 ปีข้างหน้าสำหรับขีปนาวุธและอาวุธนำวิถี นายโชบริดจ์กล่าวว่า ขีปนาวุธที่สร้างขึ้นภายในประเทศจะมอบการยับยั้งในช่วงทศวรรษปัจจุบัน ขณะที่ออสเตรเลียรอสร้างเรือรบขนาดกลางและเรือดำน้ำชั้นแอตแท็ก

โดยกล่าวอีกว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องใช้ขีปนาวุธจำนวนมากโดยเร็วในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง และไม่สามารถพึ่งพาการนำเข้าขีปนาวุธได้ นายโชบริดจ์กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ เช่น หากรัฐบาลจีนพยายามที่จะเข้าควบคุมไต้หวันโดยใช้กำลัง

นายโชบริดจ์กล่าวว่า การประกาศดังกล่าวยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการกระจายกองกำลังและขีดความสามารถเพื่อหลีกเลี่ยงช่องโหว่ในสถานที่สำคัญ

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button