ติดอันดับ

มาตรการคว่ำบาตรของประชาคมโลกต่อผู้นำคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง กองทัพพม่า และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหารของพม่า

เจ้าหน้าที่ FORUM

ประชาคมโลกพร้อมด้วยหลายประเทศยังคงเดินหน้าประณามการทำรัฐประหารในพม่า ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อความวุ่นวายร้ายแรงครั้งนี้

รอยเตอร์รายงานเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ว่า รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อสมาชิกคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของพม่า 2 ราย รวมถึงผู้กำกับการตำรวจและหน่วยทหารสองหน่วยที่มีส่วนร่วมในการทำร้ายร่างกายผู้ประท้วง สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นบัญชีดำสมาชิกระดับสูงของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองและบริษัทหลายแห่งที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของ จากการมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารดังกล่าว มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม “เป็นการแสดงสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการกับผู้นำรัฐประหารและผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อไป” นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์

ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส รายงานว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เกิดขึ้นทันทีหลังจากสหภาพยุโรปประกาศมาตราการคว่ำบาตร ซึ่งระงับทรัพย์สินและออกคำสั่งห้ามการเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ 11 ราย โดยมี 10 รายเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่สมาชิกระดับสูงของกองทัพพม่า ซึ่งรวมถึง พล.อ. มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายโซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของพม่าขัดขวางการจัดการประชุมของรัฐสภาพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดยอ้างว่าการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งพรรคของนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง เป็นการทุจริต ทั้งนี้ คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้เข้ามาแทรกแซงคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งที่รับรองผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส (ภาพ: ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการในระหว่างการประท้วง ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564)

ผลพวงอันโหดร้ายดังกล่าวก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกเกี่ยวกับความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตยที่ถดถอยลงเป็นเวลานานหลายปี ในการออกมาตรการคว่ำบาตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกล่าวในแถลงการณ์ว่า กลุ่มประเทศ 27 แห่งเรียกเก็บค่าปรับเพื่อเป็น “การตอบสนองอย่างหนักแน่นต่อการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลทหารต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ”

นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีกล่าวว่า “เราไม่ต้องการลงโทษประชากรในพม่าด้วยมาตรการคว่ำบาตร นอกเสียจากผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโจ้งแจ้งที่นั่น” อีกทั้งเสริมว่าความรุนแรงที่มากเกินควรเป็น “สิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้อย่างแน่นอน” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้ปล่อยตัวประชาชนกว่า 600 คนที่ถูกคุมขังในข้อหาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรสรายงานว่า คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้จับกุมประชาชนหลายพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงอย่างสันติ โดยมีผู้ประท้วงมากกว่า 2,000 คนที่ยังคงถูกควบคุมตัวในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองตอบโต้การประท้วงด้วยการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประท้วงก็ได้ใช้กลยุทธ์ใหม่โดยเรียกร้องให้ประชาชนอาศัยอยู่ที่บ้านและให้ธุรกิจต่าง ๆ หยุดให้บริการในวันที่ 24 มีนาคม หรือที่หลายคนเรียกว่า การประท้วงเงียบหรือการนัดหยุดงาน

 

ภาพจาก: ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button