ติดอันดับ

ความทะเยอทะยานด้านอาร์กติกของจีนไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ระยะยาวของรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดเผยนโยบายอาร์กติกและแอนตาร์กติกาในแผน 5 ปีฉบับล่าสุด ในนโยบายดังกล่าว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เน้นย้ำถึงความทะเยอทะยานเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็น “รัฐใกล้อาร์กติก” ตามที่ได้ยืนกรานเช่นนั้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2561 และยังได้ประกาศแผนการพัฒนาขั้วโลกครั้งแรกใน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ในการดำเนินการตามเป้าหมาย พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พยายามเริ่มสร้างสัมพันธภาพกับรัสเซีย ซึ่งยังคงเดินหน้าขยายบทบาททางทหารในแถบอาร์กติกเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องและอำนวยความสะดวกทางการเมืองของจีน

“ณ ตอนนี้ ความร่วมมือระหว่างจีนและรัสเซียในอาร์กติกเป็นข้อตกลงที่ปฏิบัติได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นวิธีการตัดสินใจง่าย ๆ โดยรัสเซียที่มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ และจีนที่มีวิธีการทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนความพยายามดังกล่าว” นางหลิง กั๋ว นักวิเคราะห์ และ ดร. สตีเวน ลอยด์ วิลสัน ระบุในบทความเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ของนิตยสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต

อย่างไรก็ตาม ท่าทีก้าวร้าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะปะทะกับแผนการแข่งขันของรัสเซียสำหรับทรัพยากรอาร์กติกในที่สุด นางหลิงและ ดร. วิลสัน และนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ต่างยืนยัน

“ความต้องการเงินทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลรัสเซียทำให้รัฐบาลจีนมีอำนาจในอาร์กติก แต่รัสเซียมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการลงทุนของจีน รัฐบาลรัสเซียปรับตัวให้เข้ากับศักยภาพและหลุมพรางของการทำธุรกิจกับรัฐบาลจีน ดร. เอลิซาเบธ บูคาแนน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยดีคินของออสเตรเลีย เขียนไว้ในนิตยสารฟอเรนโพลิซีเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ว่า “การพึ่งพาจีนมากเกินไปในการปฏิบัติตามวาระความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียในอาร์กติกอาจเพิ่มบทบาทในภูมิภาคของรัฐบาลจีน”

“สิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงกระแสความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในระยะยาวคือข้อบ่งชี้ว่าจีนกำลังป้องกันความเสี่ยงจากความร่วมมือของรัสเซียด้วยทางเลือกอื่น ๆ (เช่น การพัฒนาเรือฝ่าน้ำแข็งในประเทศ การสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศอื่น ๆ ในอาร์กติก) ในขณะที่ยังคงรักษาฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ในขณะเดียวกัน รัสเซียต้องเผชิญกับการเปิดเส้นทางอาร์กติก ซึ่งปัจจุบันรัสเซียขาดเงินทุนที่เพียงพอในการสร้างและควบคุม” นางหลิงและ ดร. วิลสัน เขียน

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ชี้แจงเกี่ยวกับแผน 5 ปีของตนอย่างชัดเจนอีกครั้งว่ามีความทะเยอทะยานที่จะผลักดันการพัฒนาขั้วโลก และอ้างสิทธิ์ทรัพยากรขั้วโลกในน่านน้ำสากล

“การที่รัฐบาลจีนมีบทบาทในเชิงรุกล้ำในตะวันออกไกลของรัสเซียมีแนวโน้มที่จะเร่งให้ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ค่อย ๆ ก่อเกิดอย่างคงที่นั้นเลวร้ายลง จากวิถีทางปัจจุบัน บทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในอาร์กติกอาจหมายความว่าเป็นการแข่งขันโดยตรงกับรัสเซีย ซึ่งเป็นความท้าทายที่รัสเซียไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะเผชิญ นางหลิงและ ดร. วิลสัน ระบุ

ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันยังคงเกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ดังที่เป็นมานานหลายทศวรรษ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 รัสเซียเรียกเก็บค่าปรับทางอาญาจากประธานอาร์กติกอะคาเดมี ในข้อหาให้ข้อมูลลับแก่หน่วยข่าวกรองของจีน ตามรายงานของสำนักข่าวรัสเซียทาสส์ จากนั้น นายนิโคไล คอร์ชูนอฟ อุปทูตพิเศษของรัสเซียประจำคณะมนตรีอาร์กติก ได้สนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการรักษาความแตกต่างระหว่างประเทศในอาร์กติกและประเทศนอกอาร์กติก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการกำหนดตนเองของจีนว่าเป็น “ประเทศใกล้อาร์กติก” นั้นไม่เป็นความจริง

นายคอร์ชูนอฟกล่าวว่า “รัสเซียไม่ได้สนใจที่จะมอบสิทธิ์ให้แก่ประเทศอื่น” ตามรายงานของทาสส์ (ภาพ: ทหารรัสเซียยืนข้างรถบรรทุกทหารที่ฐานทัพรัสเซียบนเกาะโคเทลนีภายในวงกลมอาร์กติก)

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจความคิดเห็นเผยให้เห็นว่าชาวรัสเซียมีความระแวดระวังพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น “โดยมีมุมมองในแง่ดีต่อรัฐบาลจีนลดลงจากร้อยละ 72 ใน พ.ศ. 2562 เป็นร้อยละ 65 ใน พ.ศ. 2563” ดร. บูคาแนน ระบุ

ปัญหาในระดับลึกอาจอยู่ในความเสี่ยงในระยะยาว

“ในขณะที่รัสเซียยังคงเพิ่มบทบาททางทหารในแถบอาร์กติกตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงสนามบิน จีนได้ดำเนินกิจกรรมในแถบอาร์กติกโดยไม่เป็นที่สังเกต โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งสามารถให้โอกาสด้านข่าวกรองที่สำคัญ) การกำกับดูแล พลังงาน และการขนส่ง มากกว่าปัญหาด้านความมั่นคงอย่างหนัก นี่ไม่ใช่เพียงเพราะจีนไม่ต้องการที่จะวางตัวเป็นผู้ท้าชิงการครอบงำทางทหารแบบดั้งเดิมของรัสเซียในอาร์กติก แต่ยังเป็นเพราะรัฐบาลจีนยังไม่มีกองกำลังทหารที่สามารถปฏิบัติการในอาร์กติกได้ในปัจจุบัน” นางเชอร์รี กู๊ดแมน กรรมการสภาแอตแลนติก และนายยุน เสิน นักวิจัยอาวุโสที่สติมสันเซ็นเตอร์ ระบุในบทความเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ในเดอะดิโพลแมต

ทั้งสองเขียนว่า แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะอนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ “แนวทางที่ไม่คุกคามต่ออาร์กติก แต่ภูมิทัศน์นี้ไม่ได้หมายความว่าผลประโยชน์ของรัสเซียและจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้จะสอดคล้องกันเสมอไป ความแตกต่างที่มีนัยสำคัญที่สุดอยู่ที่คำจำกัดความของรัสเซียและการบริหารเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือในฐานะน่านน้ำในเขตแดนของตน จีนยังคงนิ่งเฉยต่อการตีความอย่างกว้างขวางของรัสเซียต่อสิทธิและอำนาจของตน รวมถึงการที่รัสเซียละเมิดสิทธิของจีนในการผ่านเข้าสู่เส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ”

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนได้ชี้ให้เห็นว่า ข้อจำกัดของรัสเซียในเรือต่างประเทศ และโดยเฉพาะเรือของกองทัพเรือต่างประเทศในเส้นทางเดินเรือในทะเลเหนือ ถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของรัสเซียที่อยู่ติดกับน่านน้ำอาร์กติก “ประเทศนอกอาร์กติกอย่างจีนจะต้องอาศัยการปรึกษาเพื่อรักษาสิทธิของตน” ในอาร์กติก นางกู๊ดแมนและนายเสินระบุ

 

ภาพจาก: เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button