ติดอันดับ

การประชุมแบบพบหน้าเสริมสร้างความร่วมมือในอินโดแปซิฟิก

เจ้าหน้าที่ FORUM

เจ้าหน้าที่การทูตและกลาโหมระดับสูงจากสหรัฐอเมริกาเลือกภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเป็นสถานที่แห่งแรกในระดับนานาชาติ สำหรับความพยายามที่จะเสริมสร้างความร่วมมือหลักและรักษาการประสานงานในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ไปจนถึงการจำกัดวงของการระบาดใหญ่

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ย้ำในการเดินทางหลายครั้งว่า อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างจะเกิดขึ้นได้ผ่านความร่วมมือที่เข้มแข็งในหมู่ประเทศที่มีหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น ทั้งสองได้เข้าร่วมการประชุม “สองบวกสอง” ด้วยตัวเองกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมจากอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

จากการประชุมครั้งหนึ่งกับผู้นำอินเดีย นายออสตินออกมากล่าวว่าตนได้รับกำลังใจจากการตอบสนองของ “พันธมิตรที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ รายหนึ่งท่ามกลางกระแสอำนาจระดับนานาชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน” ข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคมจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุ

ในการประชุมของนายออสตินร่วมกับนายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย ผู้นำทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือหลักทางกลาโหมผ่านการประสานงานด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ และการค้าทางกลาโหม นอกจากนี้ ทั้งสองยังตกลงที่จะประสานงานกันในด้านการแบ่งปันข้อมูล การส่งกำลังบำรุง ปัญญาประดิษฐ์ และในมิติทางอวกาศและไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย

นายซิงห์กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า การเจรจาดังกล่าวเป็นการทบทวน “ขอบเขตของการฝึกซ้อมทวิภาคีและพหุภาคีอย่างกว้างขวาง” ที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรทั้งสอง โดยระบุว่าอินเดีย “ตกลงที่จะดำเนินการตามการประสานงานที่ดียิ่งขึ้นกับกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก กองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นตอนกลาง และกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแอฟริกา” (ภาพ: นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตรวจเยี่ยมกองทหารเกียรติยศในการเยือนกรุงนิวเดลีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564)

ขณะที่นายบลิงเคนและนายออสตินได้พบเจ้าหน้าที่กลาโหมและการทูตทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ทั้งสองได้เน้นย้ำว่านอกจากภูมิภาคแห่งนี้จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อให้การเผชิญหน้ากับพฤติกรรมบีบบังคับของสาธารณรัฐประชาชนจีนและภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างสันติแล้ว ผู้นำในอินโดแปซิฟิกซึ่งให้คุณค่ากับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต้องทำงานร่วมกันด้วย

เช่น นายบลิงเคนได้ขอให้เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้มีส่วนร่วมกับญี่ปุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ เอกสารข้อเท็จจริงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่หลังการประชุมที่กรุงโซลเน้นย้ำว่า “ความสัมพันธ์ไตรภาคีที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ” โดยเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ “มีความสำคัญต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ร่วมกันของเรา ในการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย การรักษาสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของสตรี การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมสันติภาพระดับภูมิภาคและระดับโลก ความมั่นคง และหลักนิติธรรมในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและทั่วโลก”

ผู้นำเกาหลีใต้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี โดยตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมสองบวกสองระหว่างทั้งสองประเทศจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 นายชัง อึยยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า การที่คณะรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนรัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งแต่เนิ่น ๆ “แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ คณะใหม่ให้ความสำคัญกับพันธมิตรของตน” ตามรายงานฉบับหนึ่งของนิกเคอิเอเชีย

การประชุมด้วยตัวเองในอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เกิดขึ้นภายหลังการรวมตัวกันทางออนไลน์เพื่อเจรจาด้านความมั่นคงสี่ฝ่าย หรือควอด ซึ่งผู้นำของออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือไปจนถึงการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 1 พันล้านโดสให้กับประเทศในอินโดแปซิฟิกภายในปลาย พ.ศ. 2565

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button