ติดอันดับ

เหตุไฟดับในมุมไบเป็นสัญญาณเตือนภัยความปลอดภัยทางไซเบอร์ของภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ FORUM

4 เดือนหลังจากที่กองทัพจีนและอินเดียต่อสู้กันด้วยมือเปล่าและก้อนหินที่พรมแดนหิมาลัยอันห่างไกล ประชาชนกว่า 20 ล้านคนก็ต้องประสบกับเหตุไฟฟ้าขัดข้องในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563 รถไฟหยุดวิ่ง ตลาดหลักทรัพย์หยุดทำการ และโรงพยาบาลได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อให้เครื่องช่วยหายใจทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่โควิด-19 ยังคงระบาดหนัก ตอนนี้ การศึกษาวิจัยของบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในสหรัฐฯ สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนจีนกับอินเดียและเหตุไฟฟ้าขัดข้องในมุมไบมีความเชื่อมโยงกัน

เหตุการณ์ไฟดับในมุมไบเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงดังกล่าวเกิดจากโครงการทางไซเบอร์ในวงกว้างของจีนที่กำหนดเวลาไว้เพื่อส่งสารว่าอินเดียควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันบริเวณชายแดน ตามข้อมูลการศึกษาวิจัยของเร็กคอร์ดิด ฟิวเจอร์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 เร็กคอร์ดิด ฟิวเจอร์ รายงานว่า เมื่อการเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนยืดเยื้อออกไป มัลแวร์จีนก็ได้ไหลเข้าสู่ระบบควบคุมซึ่งจัดการระบบไฟฟ้าของอินเดีย (ภาพ: แม่และลูกสาวจุดเทียนภายในบ้านของตนขณะเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย)

แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ระบุว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวการของเหตุไฟฟ้าขัดข้องครั้งนี้ แต่เจ้าหน้าที่จากรัฐมหาราษฏระของอินเดียได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยเห็นด้วยว่าการบุกรุกทางไซเบอร์นำไปสู่เหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องดังกล่าว

นายอานิล เดชมุขห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า “บริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งระบุว่าอาจเป็นชาวจีนที่นำมัลแวร์มาใช้ … ผลการศึกษาของเราพบว่าบริษัทต่างชาติบางแห่งกำลังหลงระเริงกับมัลแวร์ดังกล่าว” ตามรายงานของเครือข่ายโทรทัศน์อินเดียทูเดย์

ประสบการณ์ของอินเดียเกี่ยวกับแฮกเกอร์แสดงให้เห็นว่าจีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่ทำการรุกราน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 กลุ่มแฮกเกอร์จากเกาหลีเหนือทำการโจรกรรมข้อมูลทางเทคโนโลยี ในขณะโจมตีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์คูดันคูลามในอินเดีย รายงานประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ในหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ออฟอินเดียระบุว่า การเจาะระบบดังกล่าวเชื่อว่าเป็นผลงานของกลุ่มลาซารัส บริษัทอาชญากรรมที่ยังมีเป้าหมายไปที่หน่วยงานที่เชื่อมโยงกับองค์กรวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย

นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติอินเดียยังตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮกเกอร์ชาวจีนที่มีชื่อว่าซัคฟลาย ตามรายงานของบริษัทไซแมนเทค ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ บริษัทไซแมนเทครายงานว่า หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ของซัคฟลายมีที่มาจากเมืองเฉิงตู ประเทศจีน ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ก็เป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮกเกอร์นี้ด้วยเช่นกัน

การรุกรานดังกล่าวซ้ำ ๆ เป็นสัญญาณเตือนต่อประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ควรจะเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับนักวางแผนด้านกลาโหมของประเทศ นางเอลลี่-คาทารีนา โพห์ลแคมป์ นักวิชาการอาคันตุกะของคณะมนตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งยุโรป กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องในมุมไบเป็นหลักฐานว่าความมั่นคงทางไซเบอร์ควรเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของยุโรป

พรรคคอมมิวนิสต์จีน “ได้วางแผนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมก่อนทุกภาคส่วนอื่น ๆ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตน” นางโพห์ลแคมป์ระบุในเว็บไซต์ของคณะมนตรีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 “นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการจารกรรมทางไซเบอร์จะยังคงเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์จีนในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้และเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในเชิงรุกของตน เหตุไฟฟ้าขัดข้องในมุมไบแสดงให้เห็นว่าจีนไม่เพียงแต่มีความสามารถเท่านั้น แต่ยังเต็มใจที่จะใช้อำนาจดังกล่าวต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย”

 

ภาพจาก: รอยเตอร์

แสดงความคิดเห็นที่นี่

ความเป็นส่วนตัวของคุณเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา หากคุณเลือกที่จะระบุที่อยู่อีเมลของคุณ เจ้าหน้าที่ของ ฟอรัม จะใช้เพื่อติดต่อกับคุณเท่านั้น เราจะไม่เปิดเผยหรือเผยแพร่ที่อยู่อีเมลของคุณ เฉพาะชื่อและเว็บไซต์ของคุณเท่านั้นที่จะปรากฏในความคิดเห็นของคุณ ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button